“หมอเหรียญทอง” ลั่นบัตรทองค้างหนี้รพ.มงกุฎวัฒนะ 20 ล้าน ไม่สามารถจ่ายค่าแพทย์ค่ายา ขอยกเลิกรับผู้ป่วยจากคลินิกปฐมภูมิตั้งแต่ 1 พ.ย.67 พร้อมเสนอทางออกให้ สปสช.

เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก เหรียญทอง แน่นหนา หัวข้อว่า  สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เบี้ยวหนี้  รพ.มงกุฎวัฒนะ ว่า 

เรียนผู้ป่วยสิทธิบัตรทองจากคลินิกปฐมภูมิส่งต่อ รพ.มงกุฎวัฒนะ

เนื่องจาก สปสช. ไม่จ่ายหนี้ค้างชำระค่าแพทย์จำนวนมากกว่า 20 ล้านบาท ตามที่ สปสช. ได้ตกลงกับ รพ.มงกุฎวัฒนะซึ่งเป็น รพ.ทุติยภูมิรับส่งต่อให้แก่คลินิกปฐมภูมิของ สปสช จำนวนมาก 

โดยสัญญาว่าจะหักจ่ายจากคลินิกปฐมภูมิที่ส่งตัวผู้ป่วยบัตรทองมารับการรักษากับ รพ.มงกุฎวัฒนะ ตามโมเดล OP-Refer และ OP-Anywhere ที่ สปสช. ประกาศใช้เมื่อ 1 มี.ค.67

ทั้งนี้ สปสช. นำทีมโดย พญ.ลลิตยา รองเลขาธิการ สปสช. เป็นหัวหน้าคณะ , ทพญ.น้ำเพชร ผอ.สปสช.เขต 13 และคณะ สปสช.เขต 13 ได้เดินทางมาขอความร่วมมือจาก รพ.มงกุฎวัฒนะ โดยตกปากรับคำว่าจะไม่เบี้ยวหนี้ เหมือนที่เคยเกิดขึ้นเมื่อ ก.ย.63 อีก

แต่ สปสช. ได้เบี้ยวหนี้ด้วยการออกประกาศหลักเกณฑ์ไม่จ่ายค่าแพทย์ในกรณี OP-Refer และ OP-Anywhere  ในเดือน ก.ค.67 โดยให้มีผลย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.67 ทำให้หนี้ค่าแพทย์จำนวนมากกว่า 20 ล้านบาทที่ รพ.ต้องจ้างแพทย์เฉพาะทางกลายเป็นหนี้สูญตราบจนปัจจุบัน

ยังไม่นับรวมกับการลดอัตราจ่ายตามรายการ Fee schedule ที่เป็นราคากลางที่ สปสช.จะต้องหักจ่ายจากคลินิกทำให้ รพ.มงกุฎวัฒนะประสบปัญหาขาดทุนจำนวนมาก

นอกจากนี้ คลินิกปฐมภูมิของ สปสช. จำนวนมากก็ 'เหนียวหนี้' ปฏิเสธการจ่ายค่ารักษาพยาบาลอีกมากกว่า 30 ล้านบาท โดยเหนียวหนี้นานกว่า 7 เดือน ทำให้ รพ.มงกุฎวัฒนะ ขาดสภาพคล่องทางการเงิน จนไม่สามารถจ่ายยาให้แก่ผู้ป่วยบัตรทองที่ส่งตัวมาจากคลินิกปฐมภูมิของ สปสช.

ทั้งนี้ รพ.มงกุฎวัฒนะได้พยายามแก้ปัญหาผู้ป่วยบัตรทองที่ส่งตัวมาจากคลินิกปฐมภูมิของ สปสช. ด้วยการจ่ายยาไม่เกิน 7 วันจนในสิ้นเดือน ต.ค.67 นี้ รพ.มงกุฎวัฒนะไม่มีเงินที่จะจัดซื้อยาเพื่อจ่ายยาให้แก่ ผู้ป่วยบัตรทองที่ส่งตัวมาจากคลินิกปฐมภูมิของ สปสช. ได้อีกต่อไปแล้ว

อีกทั้ง สปสช ก็ไม่จ่ายค่าแพทย์ให้แก่ รพ.มงกุฎวัฒนะ ตั้งแต่ 1 มี.ค.67 จนถึงปัจจุบันจนมียอดหนี้สูญค่าแพทย์มากกว่า 20 ล้านบาท
ดังนั้นตั้งแต่ 1 พ.ย.67 รพ.มงกุฎวัฒนะจึงไม่มีสภาพคล่องทางการเงินที่จะจัดซื้อยาและจ้างแพทย์เพื่อให้บริการตรวจรักษาผู้ป่วยสิทธิบัตรทองที่ส่งตัวมาจากคลินิกปฐมภูมิส่งต่อ รพ.มงกุฎวัฒนะ
 
รพ.มงกุฎวัฒนะจึงจำเป็นต้องหยุดให้บริการผู้ป่วยบัตรทองที่มาจากคลินิกปฐมภูมิส่งต่อ รพ.มงกุฎวัฒนะ ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.67 เป็นต้นไปจนกว่า สปสช.จะเคลียร์หนี้ค่าแพทย์ตามที่ สปสช. ได้ตกลงกับ รพ.มงกุฎวัฒนะ เมื่อ 1 มี.ค.67 และเคลียร์หนี้ค้างจ่ายที่คลินิกปฐมภูมิส่งตัวผู้ป่วยบัตรทองมารับการรักษากับ รพ.มงกุฎวัฒนะ ตามโมเดล OP-Refer และ OP-Anywhere ที่ สปสช. ประกาศใช้เมื่อ 1 มี.ค.67 ไม่ใช่อัตราที่ สปสช.ประกาศใน ก.ค.67 แล้วมีผลบังคับย้อนหลังอย่างผิดคำมั่นสัญญา

อย่างไรก็ตาม รพ.มงกุฎวัฒนะได้เสนอหนทางแก้ปัญหาดังกล่าวต่อ สปสช.เขต 13 ด้วยการขอให้ สปสช.ขยายเพดานขึ้นทะเบียนรับผู้ป่วยบัตรทองโดยตรงกับ รพ.มงกุฎวัฒนะ จำนวน 250,000 คน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ป่วยบัตรทองจากคลินิกปฐมภูมิต่างๆ โดยให้มาขึ้นทะเบียนโดยตรงกับ รพ.มงกุฎวัฒนะ ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้เดือดร้อนจากปัญหา 'เบี้ยวหนี้' และ 'เหนียวหนี้' อีก

ปัญหา 'เบี้ยวหนี้' โดย สปสช. ได้เกิดขึ้นกับ รพ.มงกุฎวัฒนะจำนวน 13.2 ล้านบาท เมื่อ ก.ย.63 จน รพ.มงกุฎวัฒนะฟ้องต่อศาลปกครอง แต่ศาลปกครองไม่ได้มีความคืบหน้าในการพิจารณามานานถึง 4 ปีแล้ว จนกระทั่ง รพ.มงกุฎวัฒนะต้องประสบปัญหา 'เบี้ยวหนี้และเหนียวหนี้' ในปีงบประมาณ 67 อีก ทั้งยังมากมายมหาศาลจนทำให้ รพ.มงกุฎวัฒนะขาดสภาพคล่องทางการเงิน

ดังนั้น หาก สปสช.มีความจริงใจในการแก้ปัญหาผู้ป่วยบัตรทองจากคลินิกปฐมภูมิส่งต่อ รพ.มงกุฎวัฒนะ สปสช.จะต้องดำเนินการดังต่อไปนี้อย่างเร่งด่วนที่สุด

1. เคลียร์หนี้ค่าแพทย์ตามโมเดล OP-Refer และ OP-Anywhere ที่ สปสช. ได้ตกลงกับ รพ.มงกุฎวัฒนะ เมื่อ 1 มี.ค.67 ไม่ใช่ออกประกาศอัตราที่ สปสช.ประกาศใน ก.ค.67 แล้วให้มีผลบังคับย้อนหลังอย่างผิดคำมั่นสัญญา

2. เคลียร์หนี้ค้างจ่ายที่คลินิกปฐมภูมิส่งตัวผู้ป่วยบัตรทองมารับการรักษากับ รพ.มงกุฎวัฒนะ ตามโมเดล OP-Refer และ OP-Anywhere ที่ สปสช. ประกาศใช้เมื่อ 1 มี.ค.67 ออกประกาศอัตราที่ สปสช.ประกาศใน ก.ค.67 แล้วให้มีผลบังคับย้อนหลังอย่างผิดคำมั่นสัญญา

3. ขยายเพดานขึ้นทะเบียนรับผู้ป่วยบัตรทองโดยตรงกับ รพ.มงกุฎวัฒนะ จากปัจจุบัน 50,000 คนเป็น 250,000 - 300,000 คน ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยบัตรทองจากคลินิกปฐมภูมิของ สปสช ต้องเดือดร้อนจากการที่ รพ.มงกุฎวัฒนะขาดทุนและขาดสภาพคล่องทางการเงินจากปัญหา 'เบี้ยวหนี้' และ 'เหนียวหนี้' จากระบบส่งต่อหรือ OP-Refer อีก

4. หาก สปสช.ไม่รีบดำเนินการในข้อ 3 ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.67 ผู้ป่วยบัตรทองจากคลินิกปฐมภูมิของ สปสช มากกว่า 200,000 คน จะไม่สามารถมารับการตรวจรักษากับ รพ.มงกุฎวัฒนะได้

5. สำหรับผู้ป่วยบัตรทองที่ขึ้นทะเบียนปฐมภูมิโดยตรงกับ รพ.มงกุฎวัฒนะ ไม่ต้องกังวลใจ ยังคงใช้บริการตามปกติ

(ข่าวเกี่ยวข้อง : สมศักดิ์ สั่งสปสช.เคลียร์ปม “รพ.มงกุฎวัฒนะ” ด่วน! หลังจ่อยกเลิกรับบัตรทอง ชี้รบ.มีเงินจ่าย)