เลขาธิการ สปสช. ประชุมผู้บริหารกรณี รพ.มงกุฎวัฒนะ สั่งตั้ง “คณะทำงาน” ร่วมหาทางออกด่วน “เร่งแก้ปัญหาการเบิกจ่ายค่าบริการ” พร้อมถกแนวทางข้อเสนอ “ขอขยายโควตาประชากรดูแลเป็น 2.5 แสนคน” และข้อเสนอ “ขอรับงบเหมาจ่ายรายหัว ดึงคลินิกร่วมเป็นเครือข่ายบริการ โดย รพ. ทำหน้าที่ตามจ่าย” 4 พ.ย. นี้ เตรียมนำเรื่องแจ้งต่อที่ประชุมบอร์ด สปสช.     

ตามที่นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข ให้สปสช.เร่งเคลียร์ปมปัญหา รพ.มงกุฎวัฒนะ หลัง นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผอ.รพ.มงกุฎวัฒนะ ประกาศหากไม่เคลียร์หนี้ จะไม่รับผู้ป่วยบัตรทองที่ส่งต่อจากคลินิกปฐมภูมิอีก ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 เป็นต้นไป แต่ผู้ป่วยตามนัดหลัง 31 ต.ค.ยังให้บริการ แต่หลังจากนั้นจะไม่รับอีก จนกว่าสปสช.จะแก้ปัญหาแล้วเสร็จนั้น

(ข่าวเกี่ยวข้อง : สมศักดิ์ สั่งสปสช.เคลียร์ปม “รพ.มงกุฎวัฒนะ” ด่วน! หลังจ่อยกเลิกรับบัตรทอง ชี้รบ.มีเงินจ่าย )

วันที่ 28 ตุลาคม นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ในการประชุมผู้บริหารสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติวันนี้ ( 28 ต.ค. 67) ได้มีวาระการหารือกรณีของโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ ซึ่งเป็นหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง 30 บาท โดย นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผอ.รพ.มงกุฎวัฒนะได้ทำหนังสือด่วนที่สุดถึงเลขาธิการ สปสช. ลงวันที่ 26 ตุลาคม ที่ผ่านมา เรื่อง รพ.มงกุฎวัฒนะขาดสภาพคล่องไม่สามารถรับส่งต่อจากหน่วยบริการปฐมภูมิตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 โดยขอให้ สปสช. แก้ไขปัญหาผลกระทบที่เกิดกับ รพ.มงกุฎวัฒนะภายหลังการปรับแนวทางการบริหารจัดการระบบบัตรทองในพื้นที่ กทม. รวมทั้งมีข้อเสนอเข้ามาเพิ่มเติม

 

ทั้งนี้ เบื้องต้นเท่าที่ดูข้อมูลตามที่ รพ.มงกุฎวัฒนะได้หารือมานี้ มองว่าเป็นปัญหาที่สามารถพูดคุยและบริหารจัดการได้ ทั้งในส่วนของค่าบริการผู้ป่วยนอกรับส่งต่อ (OP Refer) และบริการปฐมภูมิไปที่ไหนก็ได้ (OP Anywhere) รวมถึงการจ่ายค่าบริการตามรายการบริการ (Fee schedule :FS) ซึ่ง สปสช. มีขั้นตอนในการดำเนินการ โดยเฉพาะการตรวจสอบข้อมูลการเบิกจ่าย ที่อาจทำให้ในบางส่วนเกิดความล่าช้าต่อหน่วยบริการได้ รวมถึงประกาศหลักเกณฑ์และข้อบังคับต่างๆ ที่ทำให้เกิดผลกระทบในภายหลังขี้น    

 

อย่างไรก็ดี เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหานี้โดยเร็ว และไม่ให้ผู้ป่วยสิทธิบัตรทองได้รับผลกระทบ ในวันนี้ตนได้ตั้งคณะทำงานเพื่อหารือร่วมกับ รพ.มงกุฎวัฒนะ ในการหาข้อยุติของปัญหาต่างๆ ร่วมกันแล้ว ประกอบด้วยผู้บริหาร สปสช. อาทิ พญ.ลลิตยา กองคำ รองเลขาธิการ สปสช. ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานชุดนี้ นพ.วีระพันธ์ ลีธนะกุล รองเลขาธิการสปสช. นายประเทือง เผ่าดิษฐ ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช. และผู้บริหารในส่วนงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งในส่วนของเบิกจ่ายชดเชย การขึ้นทะเบียนหน่วยบริการ เป็นต้น

 

 นพ.จเด็จ กล่าวว่า ส่วนข้อเสนอที่ รพ.มงกุฎวัฒนะขอขยายเพดานโควตาที่รับดูแลประชากรเครือข่ายมงกุฎวัฒนะ จากเดิมจำนวน 48,767 คน เป็น 250,000 คนนั้น ประเด็นนี้ในการดำเนินการ สปสช. จะต้องทำการแก้ไขข้อบังคับคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์  วิธีการ  และเงื่อนไข  การขอลงทะเบียนเลือกหน่วยบริการประจำและการขอเปลี่ยนแปลงหน่วยบริการประจำ พ.ศ. 2564 โดยเป็นการพิจารณาของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) และแก้ไขประกาศสำนักงานฯ เรื่องเกณฑ์การตรวจประเมินเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการ รวมถึงการให้โรงพยาบาลเอกชนใน กทม. สามารถให้บริการลักษณะหน่วยบริการประจำได้  

 

นอกจากนี้ยังมีในเรื่องของการพิจารณาศักยภาพโรงพยาบาลในการรองรับการดูแลประชากรที่เพิ่มขึ้น และการประเมินผลกระทบที่มีต่อระบบในภาพรวมทั้งหมด รวมถึงการจัดระบบบริการในพื้นที่ด้วย 

      

เลขาธิการ สปสช. กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนข้อเสนอที่ให้ รพ.มงกุฎวัฒนะเลือกคลินิกเป็นเครือข่าย โดย รพ.มงกุฎวัฒนะจะรับค่าบริการเหมาจ่ายรายหัวแทนคลินิก และเมื่อประชาชนไปรับบริการทาง รพ.จะจ่ายตามรายการบริการนั้น   รูปแบบนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเป็นลักษณะเดียวกับโมเดลที่ 1 ซึ่ง สปสช. เขต 13 กทม. ได้ดำเนินการมาแล้วที่ให้หน่วยบริการประจำตามจ่าย แต่ต่อมาได้มีการปรับปรุงรูปแบบเพื่อไม่ให้เกิดภาระการตามจ่ายค่าบริการ อย่างไรก็ตามหากมีการปรับแก้ไขในส่วนนี้ คงใช้เป็นแนวทางของ รพ.เอกชนใน กทม. ทั้งหมดไม่แต่เฉพาะ รพ.มงกุฎวัฒนะ และอาจนำไปสู่การปฏิรูปบริการในพื้นที่ กทม. ได้

 

“ในการประชุมบอร์ด สปสช. วันที่ 4 พฤศจิกายน นี้ สำนักงานฯ จะนำเรื่องนี้เสนอต่อที่ประชุม เพื่อแจ้งปัญหากรณี รพ.มงกุฎวัฒนะ เพื่อให้บอร์ดฯ รับทราบ รวมถึงหารือแนวทางการแก้ไขปัญหา และการเปิดให้ รพ.สามารถหาหน่วยบริการเครือข่ายได้ โดยย้ำว่า สปสช. ยังคงเน้นบนหลักการบริการใกล้บ้าน สนับสนุน รพ.และหน่วยบริการจัดบริการในรูปแบบเครือข่าย เปิดให้ประชาชนเลือกหน่วยบริการเองได้ โดย สปสช. จะจ่ายเหมาจ่ายรายหัวให้หน่วยบริการประจำ โดยที่หน่วยบริการประจำจะตามจ่ายให้กับหน่วยบริการเครือข่าย ซึ่งหลังการปรับระบบใหม่นี้ สปสช.จะมีการติดตามผลโดยดูจากการร้องเรียนของประชาชน” เลขาธิการ สปสช. กล่าว