ปธ.บอร์ดสปสช. เรียกหารือ 13 พ.ย. ถกทางออกหลังศาลปกครองสูงสุดรับฟ้องคำร้อง กรณี จ่ายยาเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 อาการ ขณะที่ปัจจุบันสปสช.ร่วมสภาเภสัชกรรมขยายบริการเป็น 32 อาการรับยาร้านยาใกล้บ้าน
ตามที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้รับฟ้องคำร้องของแพทยสภา กรณีการจ่ายยาตาม 16 กลุ่มอาการ โดยแพทยสภากังวลประเด็นจ่ายยาโดยไม่ตรวจวินิจฉัย ขณะที่สภาเภสัชกรรม แจงผ่านหน้าเพจเฟซบุ๊กว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตาม พ.ร.บ.ยา และ พ.ร.บ.วิชาชีพ ส่วนสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ยืนยันประชาชนรับยาร้านยาใกล้บ้านได้ตามเดิม จนกว่าจะมีคำสั่งเด็ดขาดจากศาลปกครอง
ล่าสุดเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยถึงกรณีดังกล่าว ว่า เรื่องนี้ สปสช.ได้ดำเนินโครงการต่างๆ ไปแล้ว จากเดิมให้ผู้มีสิทธิบัตรทองใน 16 กลุ่มอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย แต่เมื่อตนมารับตำแหน่งก็มีการขยายเพิ่มเป็น 32 กลุ่มอาการ ซึ่งเมื่อมีเสียงคัดค้านก็คงต้องมีการหารือเพื่อหาทางแก้ไข โดยวันที่ 13 พฤศจิกายนนี้ ตนจะเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือ ว่าจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร หลังจากที่ศาลปกครองมีคำสั่งรับคำฟ้อง และต้องเตรียมพร้อมอย่างไรในอนาคต
ผู้สื่อข่าว hfocus รายงานว่า สำหรับการให้บริการ“ร้านยาบริการดูแลเจ็บป่วยเล็กน้อย” (Common Illnesses) เจ็บป่วยเล็กน้อย 16 อาการรับยาใกล้บ้านได้นั้น สืบเนื่องจากความร่วมมือของ สปสช. และสภาเภสัชกรรมในการพัฒนาระบบและดึง “ร้านยาคุณภาพ” ซึ่งเป็นร้านยาแผนปัจจุบัน (ข.ย.1) ที่ผ่านการรับรองคุณภาพเข้าร่วมให้บริการประชาชน ตั้งต้น 500 กว่าแห่งเป็นกว่า 1 พันแห่ง โดยพื้นที่กทม.เข้าร่วมมากที่สุด ซึ่งได้เริ่มระบบบริการเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 และมีการนำเข้าเป็นหนึ่งในการบริการรองรับนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว อีกทั้ง ล่าสุดเมื่อช่วงเดือนกันยายน 2567 ที่ผ่านมา ยังได้ขยายการบริการเป็นเจ็บป่วยเล็กน้อยจาก 16 อาการ เป็น 32 อาการ
32 กลุ่มอาการขยายเพิ่มจาก 16 อาการ
สำหรับ 32 กลุ่มอาการที่ร้านยา สามารถให้บริการแก่ผู้มีสิทธิบัตรทอง ที่เป็นไปตามแนวทาง และมาตรฐานการให้บริการทางเภสัชกรรมปฐมภูมิ โดยสภาเภสัชกรรม ประกอบด้วย
1.เวียนศีรษะ 2.ปวดหัว 3.ปวดข้อ/ปวดกล้ามเนื้อ 4.ปวดฟัน 5.ปวดประจำเดือน 6.ปวดท้อง 7.ท้องเสีย 8.ท้องผูก/ริดสีดวงทวาร 9.ปัสสาวะแสบขัด 10.ตกขาว
11.แผล 12.ผื่นผิวหนัง 13.อาการทางตา 14.อาการทางหู 15.ไข้ ไอ เจ็บคอ 16.ติดเชื้อโควิด 17.น้ำมูก คัดจมูก 18.มีแผลในปาก 19.ตุ่มน้ำใสที่ปาก 20.แผลน้ำร้อนลวกไม่รุนแรง
21.อาการคันผิวหนัง/ศีรษะ 22.อาการจากพยาธิ 23.อาการจากหิด เหา 24.ฝี หนองที่ผิวหนัง 25.อาการชา/เหน็บชา 26.อาการนอนไม่หลับ 27.เมารถ เมาเรือ 28.เบื่ออาหารโดยไม่มีโรคร่วม 29.คลื่นไส้ อาเจียน 30.อาการแพ้ยา/แพ้อาหารเล็กน้อย/แมลงกัดต่อย 31.อาการเจ็บป่วยจากการสูบบุหรี่ และ 32.เหงือกอักเสบ/มีกลิ่นปาก
ทั้งนี้ ปัจจุบันสปสช.จ่ายเงินให้ร้านยาที่เข้าร่วมโครงการ Common Illnesses หรือ เภสัชกรรมปฐมภูมิ คิดเป็น 180 บาทต่อครั้งที่มารับบริการ (pay per visit) ภายใต้เงื่อนไข คือ เภสัชกรต้องมีการซักประวัติ ให้คำแนะนำพร้อมจ่ายยา และต้องติดตามอาการภายหลังจ่ายยา 3 วัน ไม่เกิน 5 วัน หากอาการไม่ดีขึ้นต้องส่งต่อระบบเครือข่ายศักยภาพสูงกว่าทันที
ประชาชนที่จะเข้าร่วมเพียงยื่นบัตรประชาชน และแจ้งอาการที่เข้าข่าย 32 อาการ โดยสามารถเข้ารับบริการร้านยาที่มีโลโก้ หรือติดสติกเกอร์ 30 บาทรักษาทุกที่ หรือ ร้านยาคุณภาพของฉัน ให้บริการดูแลอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย ทั้งนี้ สอบถามข้อมูลสายด่วน สปสช. โทร 1330 หรือหาร้านยาที่เข้าร่วมตามพื้นที่ผ่านเว็บไซต์ https://www.nhso.go.th/page/List_of_retail_pharmacies
ข่าวเกี่ยวข้อง :
-หมอเมธี โพสต์เฟซบุ๊ก ดุลยพินิจองค์คณะตุลาการศาลปกครอง ประเด็น 16 อาการรับยาร้านยาชุมชนอบอุ่น
- “หมอสมศักดิ์” เผยอีกมุมกับ 16 อาการรับยา “ร้านยาชุมชนอบอุ่น” ช่วยอำนวยความสะดวกปชช.ได้
- สภาเภสัชกรรม แจงเจ็บป่วยเล็กน้อย ยังรับยา “ร้านยาใกล้บ้าน” ได้ จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัยเป็นอื่น
- 3165 views