อย. รับนโยบาย รมว.สธ. ผนึกภาครัฐ-เอกชน ผลักดันอาหารสุขภาพ สังเกตได้จากสัญลักษณ์ "ทางเลือกสุขภาพ" ล่าสุดผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรับรองครอบคลุม 14 กลุ่ม พร้อมอำนวยความสะดวกผู้ประกอบการโฆษณาคุณประโยชน์อาหารได้ตามกฎหมาย เพื่อคนไทยสุขภาพดี ลดผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง
เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน ภก.เลิศชาย เลิศวุฒิ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า จากที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายในการลดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ของประชาชน เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคอ้วน โรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น เพื่อลดผู้ป่วยรายใหม่และส่งเสริมให้คนไทยมีสุขภาพดีอย่างยั่งยืน สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พร้อมขานรับนโยบายดังกล่าว ผนึกกำลังกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน ประกอบด้วย กระทรวงสาธารณสุข สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล สำนักงานสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และผู้ประกอบการอาหารภาคเอกชน ในการส่งเสริมและผลักดันให้มีผลิตภัณฑ์อาหารที่ปรับสูตรลด หวาน มัน เค็ม ให้เป็นทางเลือกแก่ผู้บริโภค โดยใช้สัญลักษณ์ “ทางเลือกสุขภาพ” (Healthier Choice) เป็นเครื่องมือช่วยให้ผู้บริโภคสังเกตและตัดสินใจเลือกบริโภคได้สะดวกยิ่งขึ้น
ผลิตภัณฑ์ผ่านการรับรอง อาหารสุขภาพ 14 กลุ่ม
โดยขณะนี้ผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรับรองการแสดงสัญลักษณ์ทางเลือกสุขภาพมีครอบคลุม 14 กลุ่ม ได้แก่ อาหารมื้อหลัก เครื่องดื่ม เครื่องปรุงรส ผลิตภัณฑ์นม อาหารกึ่งสำเร็จรูป ขนมขบเคี้ยว ไอศกรีม น้ำมันและไขมัน ขนมปัง อาหารเช้าธัญพืช ผลิตภัณฑ์ขนมอบ ผลิตภัณฑ์อาหารว่าง ผลิตภัณฑ์จากปลาและอาหารทะเล ผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ รวม 3,231 ผลิตภัณฑ์ จาก 510 บริษัท (ข้อมูล ณ ก.ย. 2567)
และในปี 2568 อย. จะขยายกลุ่มอาหารทางเลือกสุขภาพให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น รวมถึงจัดกิจกรรมเดิน-วิ่งทางเลือกสุขภาพ “คนไทยห่างไกล NCDs ด้วยผลิตภัณฑ์ทางเลือกสุขภาพ (Healthier Choice Logo)” เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนหันมาเลือกบริโภคอาหารที่มีสัญลักษณ์ดังกล่าว
รองเลขาธิการฯ อย. กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากส่งเสริมผลิตภัณฑ์ทางเลือกสุขภาพแล้ว อย. ได้อำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการให้สามารถโฆษณาคุณประโยชน์ทางสุขภาพของอาหารบนฉลากในการช่วยลดโรค NCDs ตามข้อกำหนดของกฎหมายได้ เช่น การกล่าวอ้างว่า “เบต้า-กลูแคนจากข้าวโอ๊ต/ข้าวบาร์เลย์ มีส่วนช่วยลดการดูดซึมคอเลสเตอรอล” “การลดการบริโภคโซเดียมมีส่วนช่วยคงระดับปกติของความดันโลหิต” “การลดการบริโภคไขมันอิ่มตัวมีส่วนช่วยคงระดับปกติของคอเลสเตอรอลในเลือด” เป็นต้น โดยต้องมีสารที่กล่าวอ้างเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด
ทั้งนี้ อย. มุ่งมั่นที่จะพัฒนามาตรการทางกฎหมายเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการในการปรับสูตรอาหารให้มีโซเดียม ไขมัน และน้ำตาลน้อยลง ตลอดจนใช้สัญลักษณ์ “ทางเลือกสุขภาพ” เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารที่เหมาะสมกับสุขภาพได้ง่ายขึ้น ซึ่งจะเป็นผลให้ประชาชนคนไทยมีสุขภาพที่ดีขึ้นและลดความเสี่ยงจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในระยะยาว
- 260 views