สภาเภสัชกรรม ขออย่าแพร่ข้อมูลไม่ตรงความจริง รวมถึงข้อมูลสุขภาพคนไข้ เสี่ยงผิดกฎหมาย พ.ร.บ คอมพ์ และ PDPA ปมจ่ายยา 16 อาการเจ็บป่วยเล็กน้อย ด้านนายกสภาฯ ยืนยัน โครงการจ่ายยาร้านยาคุณภาพ มีประโยชน์ ยังดำเนินการได้ ส่วนเสียงสะท้อนเภสัชกรไม่กังวล แต่สงสัยเพราะอะไรจ่ายยาตาหลักวิชาชีพไม่ได้ พร้อมหารือ หาก รมว.สธ.นัดหมายเคลียร์ปัญหา

 

เชื่อว่าสร้างความเข้าใจปมแพทยสภาร้องศาลปกครอง

เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน ที่สภาการเภสัชกรรม อาคารมหิตลาธิเบศร  รศ.พิเศษ ภก.กิตติ พิทักษ์นิตินันท์ นายกสภาเภสัชกรรม  ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีแพทยสภาฟ้องศาลปกครองกรณีโครงการจ่ายยา 16 อาการเจ็บป่วยเล็กน้อยในร้านยาคุณภาพที่ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ภายใต้โครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ฯ ในระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ ภายในงานลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ความร่วมมือโครงการจัดทำระบบดิจิทัลและเทคโนโลยีเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพทั่วประเทศ (Health Information Exchange: HIE) ระหว่างสภาเภสัชกรรม และสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน)  ว่า  สปสช.ยืนยันว่ายังสามารถดำเนินการต่อไปได้ เนื่องจากศาลปกครองยังไม่มีคำตัดสินสิ้นสุดออกมา

“เรื่องนี้ต้องสร้างความเข้าใจกัน เพราะโดยหลักการดำเนินการของร้านยา ได้ทำตามหลัก พ.ร.บ.วิชาชีพฯ อยู่แล้ว ขณะนี้เข้าใจว่ากังวลความปลอดภัย ซึ่งเรามีอยู่แล้ว แต่ก็จะต้องมาหารือกันว่าขอบเขตไหนที่ต้องระวัง ขอบเขตไหนควรทำ เพื่อสนับสนุนและช่วยกันดูแลผู้ป่วยและให้เกิดระบบส่งต่อชัดเจน เรื่องนี้จึงควรหารือกันมากกว่าจะฟ้องศาลปกครอง” รศ.พิเศษ ภก.กิตติ กล่าว

เตรียมข้อมูลชี้แจง  มองว่าไม่ถึงขั้นยกเลิกโครงการ

ผู้สื่อข่าวถามว่าหากสุดท้ายศาลปกครองชี้ขาดและทำให้ต้องยุติการดำเนินการจ่ายยา 16 อาการ จะกระทบระบบหรือไม่ ต้องเตรียมการอย่างไร...  รศ.พิเศษ ภก.กิตติ กล่าวว่า คงไม่ได้คาดว่าจะยกเลิกหรือไม่ แต่สภาฯ จะเตรียมข้อมูลให้ศาลปกครองเห็นภาพรวมทั้งหมด คือ 1. แง่กฎหมายทางสภาเภสัชกรรมทำถูกต้อง 2.ในกระบวนการที่จะออกเรื่องการให้บริการ ทางสปสช.ยืนยันว่าทำถูกต้อง ส่วนเรื่องความปลอดภัย ตนเชื่อว่าก็คล้ายที่ก่อนหน้านี้คณะกรรมการกฤษฎีกาเคยตีความว่า เรื่องนี้เกี่ยวข้องวิชาชีพเวชกรรม ต่างดำเนินการตามกฎหมายของตนเอง แสดงว่าทำถูกต้องตามกฎหมาย แต่เรื่องข้อกังวลความปลอดภัย ก็ต้องมาคุยกัน

“เภสัชฯ ยืนยันว่าเราดูแลอาการเจ็บป่วยเบื้องต้น และทำมาตลอดตั้งแต่มีพ.ร.บ.ยา ทำมา 50-60 ปีแล้ว แปลกใจทำไมมาค้านตอนนี้ และนี่เป็นการบริการพื้นฐานแต่ดั้งเดิม ประชาชนเจ็บป่วยเล็กน้อยก็ไม่ได้อยากไปรพ. อยากดูแลตัวเองไปร้านยา ระบบนี้ก็เพียงเสริมให้เภสัชฯมาช่วยดูแลเพิ่มเติม หากดูแลได้ก็จ่ายยาตามกฎหมายกำหนด หากไม่ได้ต้องส่งต่อ เราก็ส่งต่อไปยังแพทย์ คล้ายๆมาช่วยคัดกรองให้แพทย์ ซึ่งโครงการนี้เน้นความปลอดภัยชัดเจน เพราะมีระบบติดตามภายใน 3 วันหากไม่ดีต้องส่งต่อให้แพทย์ เรามีกระบวนการประเมินความปลอดภัยวิชาชีพ เราไม่ได้อ้างอิงว่าต้องวินิจฉัยก่อนจะจ่ายยา เพราะนั่นเป็นเรื่องของแพทย์ เราทำตามวิชาชีพของเขตของตัวเอง” รศ.พิเศษ ภก.กิตติ กล่าว

นายกสภาเภสัชกรรม กล่าวว่า โครงการจ่ายยา 16 อาการเจ็บป่วยเล็กน้อย ที่ผ่านมามีการประเมินผลของโครงการ 2-3 ปี จนถึงปัจจุบัน 1.7 ล้านคน รวมเกือบ 5 ล้านครั้งเฉพาะสิทธิ์บัตรทอง และ90% บรรเทาอาการดีขึ้น มีน้อยมากที่ต้องส่งต่อ อีกทั้ง ประชาชนพึงพอใจมากกับโครงการนี้ เพราะเข้ารับบริการง่าย ประหยัดค่าใช้จ่าย ไม่ต้องเสียค่าเดินทางไปรพ. และไม่ต้องรอ

16 อาการเจ็บป่วยเล็กน้อย ไม่ได้มีการวินิจฉัยอาการ

ทั้งนี้ ขอย้ำว่า 16 อาการ ถือเป็นอาการปกติที่ประชาชนไปรับบริการ้านยาอยู่แล้ว จึงมีการออกข้อกำหนดดังกล่าว ไม่ได้ต้องมีการวินิจฉัยอาการ ที่สำคัญโครงการนี้กว่าจะออกมามีการพิจารณาร่วมกัน และผ่านคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ดสปสช.) เพียงแต่ตอนนั้นมีบางท่านไม่สบายใจก็ส่งทางคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งได้ให้ความคิดเห็นว่า เป็นการดำเนินการตามกฎหมายของแต่ละวิชาชีพตนเอง ส่วนข้อกังวลเรื่องความปลอดภัย คุณภาพ ก็ควรหารือกันทั้งสปสช. สธ. สภาเภสัชกรรม แพทยสภา ซึ่งที่ผ่านมาก็หารือกัน แต่หลังจากนั้นก็ปรากฎเป็นข่าวว่ามีการฟ้องร้องไปศาลปกครอง

เภสัชกร สงสัยทำไม..จ่ายยาตามวิชาชีพไม่ได้

เมื่อถามว่าหลังจากมีข่าวนี้ ทำให้เภสัชกรกังวลหรือไม่ รศ.พิเศษ ภก.กิตติ กล่าวว่า ส่วนใหญ่ไม่ได้กังวล แต่รู้สึกว่า ทำไมทำไม่ได้ เพราะเรียนเรื่องยามา 6 ปีเช่นกัน ที่สำคัญ 16 อาการเป็นอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย เป็นเรื่องที่ประชาชนดูแลตนเอง

เมื่อถามว่ามีกำหนดนัดหมายหารือร่วมกันตามที่รมว.สาธารณสุขให้ข่าวหรือไม่ รศ.พิเศษ ภก.กิตติ กล่าวว่า  ยังไม่ได้นัดหมายเข้ามา แต่ยินดีและพร้อมหารือร่วมกัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับร้านยาแผนปัจจุบัน ที่ขึ้นจดทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เป็นร้านยา ขย.1 ในปัจจุบันมีประมาณ 18,000 แห่ง และขึ้นทะเบียนกับสปสช.เป็นร้านยาคุณภาพ มี 4,000 แห่ง

อนึ่ง สภาเภสัชกรรม ได้จัดทำประกาศชี้แจงเรื่องดังกล่าว ระบุว่า  นับตั้งแต่เริ่มโครงการเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2566 จนถึงวันที่ 17 พฤศจิกายน 2567 มีประชาชนเข้ารับบริการแล้วทั้งสิ้น 1,771,758 คน รวม 4,912,114 ครั้ง โดยสภาเภสัชกรรมขอยืนยันข้อเท็จจริงว่าไม่มีผู้ป่วยรายใดเสียชีวิตจากการเข้ารับบริการในโครงการนี้ และจากการตรวจสอบพบว่าประชาชนทุกคนได้รับบริการที่มีประสิทธิภาพตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ และ ประชาชนที่เข้ารับบริการในโครงการนี้มีความพึงพอใจในระดับมากที่สุด   

อย่างไรก็ตาม  การที่มีผู้กล่าวหาว่า “...ทราบว่ามีผู้เสียชีวิต” … จากการดำเนินการของโครงการฯนี้  จึงเป็นการนำข้อมูลที่ไม่ถูกต้องเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ และการเปิดเผยข้อมูลสุขภาพซึ่งเป็นข้อมูลส่วนบุคคลอ่อนไหวของคนไข้นอกเหนือจากวัตถุประสงค์การรักษาพยาบาลยังมีความเสี่ยงในการละเมิดกฎหมาย PDPA จึงอาจสุ่มเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้องได้ สภาเภสัชกรรมจึงขอให้มีการดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องในทุกมิติด้วยความเคารพในบทบาทหน้าที่ของบุคลากรวิชาชีพอื่นที่ทำงานร่วมกันในการดูแลประชาชนด้านสุขภาพ  

 “สภาเภสัชกรรมให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของประชาชนเป็นอันดับแรกเรามีการดำเนินการอย่างรอบคอบในการขยายพื้นที่ให้บริการ และมีการติดตามผลอย่างใกล้ชิด ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่เข้ารับบริการ พบว่ามีความพึงพอใจในระดับมากที่สุด จึงได้มีการขยายกรอบโครงการจาก 16 กลุ่มอาการ เป็น 32 กลุ่มอาการ”   รศ.พิเศษ ภก.กิตติ พิทักษ์นิตินันท์ นายกสภาเภสัชกรรม กล่าว  

(ข่าวเกี่ยวข้อง : สภาเภสัชฯ - BDI เชื่อมข้อมูลยืนยันตัวตนเภสัชกร - นายกสภาฯ เชื่อปมจ่ายยา 16 อาการ ไม่กระทบระบบ)