สปสช. เปิดรายงาน “กองทุนบัตรทอง ปี 2566” โรคที่คนไทยใช้สิทธิบัตรทองรักษามากที่สุด 10 อันดับแรก พบ “บริการผู้ป่วยนอก” โรคความดันโลหิตสูงไม่ทราบสาเหตุครองแชมป์อันดับ 1 รับบริการ 19.9 ล้านครั้ง ตามด้วยเบาหวานไม่พึ่งอินซูลิน และภาวะความผิดปกติของเมตบอลิซึมฯ
เมื่อวันที่ 3 พ.ย. 2567 นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า การบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ กองทุนบัตรทอง 30 บาท เพื่อให้ประชาชนผู้มีสิทธิบัตรทองฯ ได้เข้าถึงบริการที่จำเป็นอย่างครอบคลุมและทั่วถึง แต่ละปีทางสำนักงานฯ ได้จัดสรรงบประมาณแยกตามรายการบริการ โดยปีงบประมาณ 2566 ได้จัดสรรงบบริการทางการแพทย์เหมาจ่ายรายหัว เพื่อดูแลประชากรไทยผู้มีสิทธิจำนวน 47.727 ล้านคน ที่จำนวน 99,760.58 ล้านบาท (ไม่รวมเงินเดือนผู้ให้บริการ) หรือคิดเป็นอัตรา 3,385.98 บาทต่อประชากร ในจำนวนนี้เป็นงบบริการผู้ป่วยนอกที่อัตรา 1,344.40 บาทต่อประชากร และงบผู้ป่วยในที่อัตรา 1,477.01 บาทต่อประชากร
ทั้งนี้ จากรายงานการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2566 มีจำนวนการรับบริการผู้ป่วยนอกโดยใช้สิทธิบัตรทองทั้งสิ้น 170.39 ล้านครั้ง หรือคิดเป็นอัตราการรับบริการเฉลี่ย 3.63 ครั้งต่อคนต่อปี จากปี 2546 ที่เริ่มต้นกองทุนฯ อยู่ที่จำนวน 111.95 ครั้งต่อคนต่อปี คิดเป็นอัตราเฉลี่ย 2.45 ครั้งต่อคนต่อปี หรือเพิ่มขึ้น 1.18 ครั้งต่อคนต่อปี ส่วนการรับบริการผู้ป่วยในมีจำนวนการรับบริการทั้งสิ้น 6.09 ล้านครั้ง หรือคิดเป็นอัตราการรับบริการเฉลี่ย 0.13 ครั้งต่อคนต่อปี จากปี 2546 อยู่ที่ 4.30 ล้านครั้ง คิดเป็นอัตราเฉลี่ย 0.09 ครั้งต่อคนต่อปี หรือเพิ่มขึ้น 0.04 ครั้งต่อคนต่อปี โดยปี 2566 รวมจำนวนวันนอนของผู้ป่วยในทั้งสิ้น 25,617,886 วัน
นพ.จเด็จ กล่าวว่า การเข้ารับบริการผู้ป่วยนอกจำนวน 170.39 ล้านครั้งนี้ ข้อมูล 10 อันดับแรก เป็นการเข้ารับบริการด้วยโรคความดันโลหิตสูงไม่ทราบสาเหตุสูงเป็นอันดับ 1 หรือที่จำนวน 19,898,178 ครั้ง รองลงมา เป็นภาวะเบาหวานไม่พึ่งอินซูลิน จำนวน 11,309,503 ครั้ง ความผิดปกติของเมตบอลิซึมของไลโปโปรตีนและภาวะไขมันในเลือดอื่น จำนวน 9,811,445 ครั้ง คอหอยส่วนจมูกอักเสบเฉียบพลัน (ไข้หวัด) จำนวน 6,944,943 ครั้ง ไตวายเรื้อรัง จำนวน 5,114,833 ครั้ง ความผิดปกติแบบอื่นของเนื้อเยื่ออ่อน จำนวน 3,303,586 ครั้ง ฟันผุ จำนวน 3,170,446 ครั้ง อาหารไม่ย่อย จำนวน 2,728,596 ครั้ง ความผิดปกติอื่นของกล้ามเนื้อ จำนวน 2,700,975 ครั้ง และเหงือกอักเสบและโรคปริทันต์ จำนวน 2,093,009 ครั้ง (ตามลำดับ)
“ในการรับบริการผู้ป่วยนอกที่หน่วยบริการนั้น ส่วนใหญ่เป็นการรับบริการที่หน่วยปฐมภูมิ ร้อยละ 50.67 ซึ่งเป็นไปตามหลักการของการจัดระบบบริการ รองลงมาเป็นการรับบริการที่หน่วยบริการทุติยภูมิ ร้อยละ 43.10 ส่วนการรับบริการที่บริการที่หน่วยบริการตติยภูมิและตติยภูมิระดับสูง มีเพียงเล็กน้อย คือที่ร้อยละ 6.79 และ 0.97 (ตามลำดับ) ขณะที่เมื่อเปรียบเทียบกลุ่มโรคที่รับบริการ ปี 2562 -2566 พบว่า 3 อันดับแรกไม่มีความเปลี่ยนแปลง คือ โรคความดันโลหิตสูงไม่ทราบสาเหตุ โรคเบาหวานชนิดไม่พึ่งอินซูลิน และความผิดปกติของเมตะบอลิซึมของไลโปโปรตีนและภาวะไขมันในเลือดอื่น” นพ.จเด็จ กล่าว
ส่วนการเข้ารับบริการผู้ป่วยในนั้น นพ.จเด็จ กล่าวว่า ปีงบประมาณ 2566 มีจำนวน 6.09 ล้านครั้ง จากข้อมูล 10 อันดับแรก พบว่าโรคกระเพาะอาหารกับลำไส้อักเสบจากการติดเชื้อ มีจำนวนการเข้ารับบริการมากเป็นอับดับแรก จำนวน 244,030 ครั้ง รองลงมาโรคปอดบวม ไม่ระบุเชื้อต้นเหตุ จำนวน 198,616 ครั้ง ต้อกระจกในวัยชรา จำนวน 178,319 ครั้ง ไตวายเรื้อรัง จำนวน 125,689 ครั้ง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังแบบอื่น จำนวน 125,322 ครั้ง หัวใจล้มเหลว จำนวน 121,584 ครั้ง ธาลัสซีเมีย จำนวน 116,719 ครั้ง เนื้อสมองตายเพราะขาดเลือด จำนวน 115,038 ครั้ง เบาหวานชนิดไม่พึ่งอินซูลิน 112,472 ครั้ง และความผิดปกติของระบบปัสสาวะ จำนวน 99,650 ครั้ง (ตามลำดับ)
สำหรับในส่วนของการให้บริการผู้ป่วยในของโรงพยาบาลนั้น สัดส่วนจำนวนครั้งการให้บริการรักษาผู้ป่วยในสูงสุดคือ โรงพยาบาลชุมชน รองลงมาคือโรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลศูนย์ ที่ร้อยละ 41.75, 25.79 และร้อยละ 22.12 (ตามลำดับ) ส่วนสัดส่วนของวันนอนในโรงพยาบาลสูงสุด คือโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลศูนย์ ที่ร้อยละ 31.89, 26.15 และร้อยละ 25.21 (ตามลำดับ) ขณะที่สัดส่วนการใช้ทรัพยากรการรักษาพยาบาล โดยสะท้อนจากผลรวมค่าน้ำหนักสัมพัทธ์ที่ปรับตามวันนอน (Sum Adj.RW) สูงสุด คือ โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลชุมชน ที่ร้อยละ 32.95, 27.11 และร้อยละ 23.43 (ตามลำดับ)
“ข้อมูลเหล่านี้เป็นสิ่งที่บ่งชี้ถึงการเข้าถึงบริการรักษาพยาบาลด้วยสิทธิบัตรทองของประชาชน และการดำเนินงานระบบฯ ที่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ในการคุ้มครองสิทธิประชาชนให้เข้าถึงการรักษาอย่างครอบคลุมและทั่วถึง ลดภาระค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ยังเป็นข้อมูลสำคัญด้านสาธารณสุขที่นับว่าเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์เพื่อนำไปสู่การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเพื่อลดภาวะความเจ็บป่วยของประชาชนต่อไป” นพ.จเด็จ กล่าว
- 5354 views