กมธ.การสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร ประชุมถกความเหลื่อมล้ำ “ประกันสังคม-บัตรทอง” มอบ "หมอโอชิษฐ์" ศึกษา-เปรียบเทียบความแตกต่าง 2 กองทุน ด้าน “หมอทศพร” รับในที่ประชุมมีข้อเสนอรวม 3 กองทุน แต่ยังอีกไกล ขั้นต้นต้องหารือทำอย่างไรให้ สปส.- บัตรทอง มีสิทธิใกล้เคียง เหตุผู้ประกันตนร้องจ่ายเงินสมทบ แต่ได้ไม่เท่า 30 บาทฯ
เมื่อวันที่ 10 ต.ค. 2567 ที่อาคารรัฐสภา นพ.ทศพร เสรีรักษ์ ประธานคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร(สส.) พร้อมด้วย น.ส.กัลยพัชร รจิตโรจน์ รองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่หนึ่ง ร่วมแถลงข่าว เรื่อง พิจารณาแนวทางความเหลื่อมล้ำกรณีสิทธิการรักษาพยาบาล ระหว่างกองทุนประกันสังคมและกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยมีตัวแทนจากคณะกรรมการประกันสังคม ในส่วนผู้ใช้แรงงาน ตัวแทนสํานักงานประกันสังคม และสํานักงานสภาองค์กรของผู้บริโภคร่วมให้ข้อมูล แต่ระดับผู้บริหารของสำนักประกันสังคม และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ไม่ได้เข้าร่วมครั้งนี้
ถกลดความเหลื่อมล้ำ “ประกันสังคม-บัตรทอง”
น.ส.กัลยพัชร รจิตโรจน์ รองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่หนึ่ง กล่าวว่า วันนี้ กมธ.การสาธารณสุขได้จัดประชุมพิจารณา วาระการลดความเหลื่อมล้ำระหว่างมาตรฐานบริการสุขภาพระหว่างกองทุนประกันสังคม และ สปสช. โดยจากการพิจารณาในชั้นกมธ.มีข้อสรุปเบื้องต้นดังนี้ คือ ประกันสังคมและสิทธิหลักการสุขภาพแห่งชาติหรือที่รู้จักกันในนาม "บัตรทอง" นั้นยังไม่ได้จัดบริการการรักษาพยาบาลขั้นพื้นฐานที่มีมาตรฐานที่เท่าเทียมกัน ยกตัวอย่าง กรณีของผู้ประกันตนสิทธิประกันสังคมสมทบจ่ายค่ารักษาพยาบาลแต่กลับได้รับคุณภาพการรักษาที่ยังด้อยกว่าสิทธิบัตรทอง
เปิด 3 ประเด็น บัตรทอง ดีกว่า ประกันสังคม
โดยมี 3 ประเด็นสำคัญ 1. การเข้าถึงบริการคัดกรองและสร้างเสริมสุขภาพหรือที่เรียกว่า PP จุดนี้สปสช.ให้การคัดกรองที่ดีกว่า ผู้ใช้สิทธิบัตรทองสามารถใช้บริการสุขภาพปฐมภูมิ เช่น คลินิกอบอุ่น ร้านยาชุมชนอบอุ่น แต่ผู้ประกันตนสิทธิประกันสังคมไม่สามารถเข้าใช้บริการได้ เข้าใช้บริการได้แต่โรงพยาบาลเอกชนเท่านั้น
2. การเข้าถึงการรักษามะเร็งที่ใดก็ได้หรือหรือ Cancer Anywhere ประชาชนสิทธิบัตรทองเข้าถึงบริการ ได้แต่ผู้ประกันตนประกันสังคมใช้สิทธิได้เฉพาะโรงพยาบาลคู่สัญญา ทําให้ผู้ป่วยมะเร็งสิทธิประกันสังคมอาจไม่สามารถเข้าถึงการรักษาได้ทัน ต้องออกค่าใช้จ่ายเอง หรือต้องยื่นอุทธรณ์ร้องเรียน
3. การดูแลระยะยาวระยะท้ายที่บ้าน สปสช.มีชุดสิทธิประโยชน์ให้ดูแลที่บ้านและในชุมชน โดยมีเครือข่ายการดูแลตั้งแต่ปฐมภูมิ โรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลศูนย์ทั่วไป แต่การดูแลระยะยาวและระยะสุดท้ายของผู้ประกันตนสิทธิประกันสังคมนั้นต้องดูแลที่โรงพยาบาลคู่สัญญาเท่านั้น ไม่สามารถได้รับการสนับสนุนการดูแลที่บ้านได้ ซึ่งเป็นปัญหาที่ยิ่งใหญ่ตอนนี้สําหรับสังคมผู้สูงอายุ
ด้าน นพ.ทศพร เสรีรักษ์ ประธานคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า มีการเสนอความเห็นกันหลากหลาย อย่างเช่น การรวมกองทุนประกันสังคมกับกองทุนของสปสช.เข้าด้วยกัน เอาเรื่องบัตรทองกับเรื่องประกันสังคมให้มีสิทธิเท่าเทียมกัน
"อีกทั้งมีการเปรียบเทียบเหมือนกับว่าในบางอย่างของบัตรทอง กินข้าวแกงแต่กินข้าวได้ 3 อย่าง แต่ว่าประกันสังคมต้องจ่ายสตางค์ซื้อเอง แต่ได้กับข้าวแค่ 2 อย่าง" นพ.ทศพร กล่าว
มอบ “หมอโอชิษฐ์” ศึกษาลดความเหลื่อมล้ำ 2 กองทุน
อย่างไรก็ตาม เราต้องการที่จะทําให้เรื่องประกันสังคมไม่มีความเหลื่อมล้ำกว่าสิทธิบัตรทอง ดังนั้นกรรมาธิการฯ จึงสนใจและจะศึกษาต่อเรื่องนี้โดยจะมีการตั้งอนุกรรมาธิการ โดยมี นพ.โอชิษฐ์ เกียรติก้องชูชัย เป็นประธานอนุกรรมาธิการ และในกรรมาธิการทั้งหลายก็จะเข้าไปช่วยกันทํางานโดยมีแผนการดําเนินงานคือ ประเด็นที่ 1 เปรียบเทียบความแตกต่างระหว่าง 2 กองทุนเรื่องรายการชุดสิทธิประโยชน์แนวทางการพัฒนาระบบบริหารต้นทุนการจัดบริการระบบข้อมูลประกอบการตัดสินใจ โดยเบื้องต้นมุ่งเน้นการเพิ่มสิทธิการได้รับบริการสุขภาพปฐมภูมิ คลินิกชุมชนอบอุ่น ร้านยาอบอุ่น สิทธิสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค สิทธิการรักษามะเร็งได้ทุกที่ สิทธิการได้รับการดูแลระยะยาวที่บ้านและชุมชน ให้ผู้ประกันตนของประกันสังคมได้ทัดเทียมกับผู้ใช้สิทธิบัตรทอง
ประเด็นที่ 2 พัฒนาข้อเสนอนโยบายที่นําไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำระหว่าง 2 กองทุน ประเด็นที่ 3 คือพัฒนาข้อเสนอกลไกพัฒนาระบบบริหารระบบบริการประกันสังคมให้มีมาตรฐานให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลสิทธิการรักษา การจัดโครงสร้างการบริหารของบอร์ดประกันสังคมและบอร์ดการแพทย์ที่ยึดโยงกับผู้ประกันตนมากขึ้น ทั้งนี้อาจจะต้องแก้ไข พรบ.ประกันสังคมในบางมาตรา
อย่าเพิ่งพูดรวม 3 กองทุน ยังอีกไกล
เมื่อถามว่าการลดความเหลื่อมล้ำจะถึงขั้นรวม 3 กองทุนหรือไม่... นพ.ทศพร กล่าวว่า อันนี้เป็นข้อเสนออันนึง แต่ตอนนี้มองแค่ 2 กองทุนก่อน คือสิทธิบัตรทองและสิทธิประกันสังคม อย่าเพิ่งไปพูดถึงกองทุนที่ 3 เพราะไกลไป ซึ่งขั้นต้นมีการพิจารณาว่าจะทำอย่างไรให้สิทธิประกันสังคมใกล้เคียงกับบัตรทอง เพราะผู้ประกันตนบ่นว่า ขนาดต้องจ่ายสตางค์อยู่แล้วโดยผู้ประกันจ่ายเองและนายจ้างสมทบ รัฐบาลสมทบ แต่ยังได้หลายสิ่งหลายอย่างที่ไม่เท่ากับสิทธิบัตรทอง
เพราะฉะนั้นเรื่องนี้เป็นสิ่งที่สนใจว่าจะทำอย่างไรให้สิทธิประกันสังคมเท่ากับบัตรทอง ซึ่งวิธีแก้ปัญหาจะมีแนวทาง เช่น ให้สำนักงานประกันสังคมซื้อบริการจาก สปสช. หมายถึงว่าตัดในส่วนนึง อย่างเรื่องการรักษาพยาบาลไปให้ สปสช.ดำเนินการ และสุดท้ายคือการรวมกองทุนซึ่งไปอีกขั้นหนึ่ง
พรรคประชาชน ชี้อย่าให้ผู้ประกันตนด้อยสิทธิกว่าบัตรทอง
ขณะที่ นายสหัสวัต คุ้มคง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาชน กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่พี่น้องแรงงานจำนวนมากให้ความสนใจ เพราะว่าบางคนก็รู้สึกว่าจ่ายประกันสังคมไปแล้วแต่รักษาพยาบาลบางอย่างก็สู้สปสช.ไม่ได้ อันนี้จะเป็นคําตอบเลยว่าจะทํายังไงให้กองทุนทั้ง 2 กองทุนนี้ได้มาตรฐานและอยู่บนมาตรฐานเดียวกัน ให้คนที่จ่ายประกันสังคมรู้สึกว่าจ่ายแล้วไม่ด้อยกว่าคนที่ใช้สิทธิบัตรทอง อันนี้ก็ต้องขอบคุณท่านประธานกรรมาธิการและกรรมาธิการสาสาธารณสุขทุกท่านที่เห็นความสําคัญของเรื่องนี้ เพราะเรื่องนี้กระทบกับคน หลาย 10 ล้านคนทั่วประเทศ
"ถ้าเรายกระดับมาตรฐานการรักษาพยาบาลให้เป็นมาตรฐานเดียวกันได้และสร้างระบบการรักษาพยาบาลที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ง่ายและมีประสิทธิภาพ สุดท้ายจะเป็นประโยชน์กับประชาชนทุกคนในประเทศนี้อย่างแน่นอน ผมมั่นใจว่าเรื่องนี้ทั้งสภาผู้แทนราษฎรจะเห็นตรงกันอย่างแน่นอน เพราะประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด" นายสหัสวัต กล่าว
- 379 views