สถาบันเวชศาสตร์ฯ ผู้สูงอายุ เผย “อาคารนวัตกรรมเทคโนโลยีสุขภาพผู้สูงวัย” หวังเป็นโมเดลดูแลแบบครบวงจร เน้นกิจกรรมหลากหลายส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค ทั้งกายและใจ ที่ผ่านมาพบการใช้บริการสูงในกลุ่มสูงวัยหลังเกษียณ เหตุปรับตัวไม่ได้ มีภาวะเครียดแอบแฝง หลังร่วมกิจกรรม 80% ดีขึ้น ยังไม่ครอบคลุมสิทธิบัตรทอง ล่าสุด สปสช. กำลังพิจารณา “ออกกำลังกายบำบัด” เข้าชุดสิทธิประโยชน์
ตามที่สถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ กรมการแพทย์ เปิดตัว“อาคารนวัตกรรมเทคโนโลยีสุขภาพผู้สูงวัย” ซึ่งอยู่ภายในกระทรวงสาธารณสุข และให้บริการไปแล้วเมื่อช่วงเดือนมีนาคม 2567 ที่ผ่านมาโดยให้บริการผู้สูงอายุ 50 ปีขึ้นไปนั้น
ชูบริการครบวงจรเพื่อผู้สูงอายุ
วันที่ 27 ตุลาคม พญ.บุษกร โลหารชุน ผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ กรมการแพทย์ เปิดเผยว่า อาคารแห่งนี้จะให้บริการแบบครบวงจรแก่ผู้สูงอายุ 50 ปีขึ้นไป ทั้งการดูแลสุขภาพกายและใจ โดยจะมีการประเมินตรวจสุขภาพเบื้องต้น ด้วยการคัดกรองสุขภาพ 9 ด้าน คือ การเคลื่อนไหวร่างกาย การมองเห็น การได้ยิน สุขภาพช่องปาก การขาดสารอาหาร การกลั้นปัสสาวะ ความคิดความจำ ภาวะซึมเศร้า และการปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน หากพบปัญหาด้านใดจะส่งประเมินอย่างละเอียดและพบแพทย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ หรือปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเพื่อดูแลรักษาและหากิจกรรมที่เหมาะสม
Day Service กิจกรรมผู้สูงวัย
สำหรับกิจกรรรมมีหลากหลาย หลักๆ คือ Day Service เป็นการนำกิจกรรมที่อยู่ในชีวิตประจำวันพื้นฐานมาให้ผู้สูงอายุได้ทำ ซึ่งบางคนอาจมองว่าเป็นการดำเนินชีวิตปกติ แต่จริงๆมีประโยชน์มากต่อด้านจิตใจ ต่อการกระตุ้นสมอง ต่อการเคลื่อนไหว วิเคราะห์ออกมาว่าใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งแพทย์จะวินิจฉัยและประเมินหากิจกรรมที่เหมาะสม เช่น ดนตรีบำบัด ศิลปะบำบัด จิตบำบัด กลุ่มบำบัด การประกอบอาหาร การจัดดอกไม้ เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดจะมีการประเมินทั้งก่อนและหลังกิจกรรม
“หลายคนไม่ทราบว่ามีอาการอย่างไร ถึงจะมาเข้าร่วมกิจกรรมตรงนี้ได้ ดังนั้น หากมีอายุ 50 ปีขึ้นไป สามารถจองคิวเข้ามาและมาตรวจสุขภาพเบื้องต้น รวมไปถึงตรวจสุขภาพประจำปีได้ เมื่อตรวจแล้วอาจไม่ต้องมาที่นี่บ่อยๆ เพราะเรามีโปรแกรมเทเลเมดิซีนติดตามอาการด้วย แต่บางคนมีปัญหาเรื่องความจำ มีภาวะเครียด วิตกกังวลโดยไม่รู้ตัว เป็นอาการแฝงอยู่ จนเมื่อมาคุยกับจิตแพทย์ทำให้ทราบว่ามีอาการเหล่านี้” พญ.บุษกร กล่าว
ไม่สามารถเลือกเข้าร่วมกิจกรรม อยู่ที่การประเมิน
พญ.บุษกร ยังย้ำว่าการมารับบริการที่นี่ ไม่สามารถเลือกเองได้ว่า อยากเข้าศิลปะบำบัด หรืออยากเข้าดนตรีบำบัด แต่อยู่ที่การประเมินก่อนว่า เราเหมาะสมกับกิจกรรมอะไร เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด อย่างไรก็ตาม กลุ่มที่มาใช้บริการมากที่สุด ยังคงเป็นกลุ่มข้าราชการที่เกษียณ ซึ่งหลายคนจะมีปัญหาเรื่องการปรับตัวหลังเกษียณไม่ได้ มีความเครียดสะสม การไม่รู้จะทำอะไรหลังเกษียณ รวมไปถึงปัญหาการเคลื่อนไหว ปัญหาความคิดความจำ เป็นต้น ซึ่งหลังร่วมกิจกรรมและมีการประเมินจะพบว่าดีขึ้น ปรับตัวได้มากขึ้นกว่า 80%
ยังไม่ครอบคลุมสิทธิบัตรทอง
ผู้สื่อข่าวถามว่าการรับบริการดังกล่าวครอบคลุมสิทธิบัตรทองหรือไม่ พญ.บุษกร กล่าวว่า เนื่องจากไม่เหมือนโรงพยาบาลทั่วไป สิทธิเบื้องต้นจึงเป็นข้าราชการ แต่สิทธิอื่นๆ หากมีใบส่งตัวก็ตามเก็บต้นสังกัดได้ อย่างไรก็ตาม ค่าใช้จ่ายเมื่อเทียบกับเอกชนถือว่าถูกกว่ามาก
หารือ สปสช.เพิ่มสิทธิประโยชน์ “ออกกำลังกายบำบัด”
เมื่อถามย้ำว่าในอนาคตเป็นไปได้หรือไม่ที่การบริการดังกล่าวจะครอบคลุมผู้มีสิทธิบัตรทอง พญ.บุษกร กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ โดยเฉพาะเรื่องการส่งเสริมสุขภาพ เนื่องจาก เมื่อเร็วๆนี้ได้มีการหารือกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ว่า การออกกำลังกายเพื่อการบำบัด หรือ การบำบัดรักษาโรคด้วยการออกกำลังกาย (Exercise Therapy) น่าจะเข้าไปอยู่ในสิทธิประโยชน์ เพราะชื่อก็บอกชัดว่าเพื่อการรักษา แต่อนาคตต่อไปเมื่อรักษาดีขึ้นจะคงสภาพให้ยาวนานเท่าไหร่ ตรงนี้สำคัญ ซึ่งกรณีนี้น่าจะอยู่ในหมวดของงบส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค หรืองบ PP ซึ่งสปสช.บอกว่า อยู่ระหว่างการพิจารณา แต่ก็ต้องเข้าใจว่า สิทธิสวัสดิการจะเข้ามาทั้งหมดคงไม่ได้ ต้องดูความจำเป็นก่อน เนื่องจากรายได้ของรัฐมีจำกัด สิ่งสำคัญประชาชนควรมีส่วนร่วม อย่างการมาเรียนรู้ที่นี่และนำกลับไปปฏิบัติต่อที่บ้าน
เมื่อถามว่าผู้สูงอายุส่วนใหญ่ที่เข้ามามีอาการอะไร พญ.บุษกร กล่าวว่า มีตั้งแต่ปัญหาการเคลื่อนไหว เริ่มต้องใช้อุปกรณ์ช่วยเหลือ กระดูกบาง นอกจากนี้ ที่พบบ่อยยังมีกลุ่มความจำมีปัญหา หลงๆลืมๆ เริ่มจำไม่ได้ นึกชื่อสิ่งที่ต้องการไม่ออก
อย่างไรก็ตาม พญ.บุษกร เผยจุดสำคัญของการบริการที่นี่คือ เน้นครบวงจรภายในอาคารเดียว อย่างกรณีประเมินพบว่ามีปัญหาเรื่องกระดูก เรื่องการเคลื่อนไหว ที่นี่จะมี “ธาราบำบัด” ในการให้บริการช่วยการเคลื่อนไหวแบบลดแรงกระแทก และอีกจุดที่สำคัญคือ การบริการที่นี่ยังเน้นความเป็นต้นแบบ เพื่อขยายไปยังพื้นที่ต่างๆ ซึ่งขณะนี้มีหน่วยงานของ อบจ.พื้นที่ต่างๆ หน่วยงานของกรุงเทพมหานคร รวมถึงเอกชน ก็มาดูงานเช่นกัน แม้แต่ชมรมผู้สูงอายุหลายที่ก็มาดูงานที่นี่เช่นกัน
สำหรับผู้สูงอายุที่สนใจเข้ารับบริการ ณ อาคารนวัตกรรมเทคโนโลยีสุขภาพผู้สูงวัย ภายในบริเวณกระทรวงสาธารณสุข สามารถโทรนัดรับบริการก่อน ที่หมายเลข 020248481 ต่อ 108,110
(อ่านข่าวเกี่ยวข้อง : กรมการแพทย์ เปิด 'อาคารนวัตกรรมเทคโนโลยีสุขภาพผู้สูงวัย' รวมสารพัดบริการครบวงจร)
- 277 views