เปิดผลบริการ “ตรวจคัดกรองโรคไวรัสตับอักเสบซี” ระบบบัตรทอง ปี 2566-2567 ภาพรวม 2 ปี มีประชาชนรับบริการเกือบ 1.8 ล้านคน พบภาวะเสี่ยงร้อยละ 1.23 เข้าสู่บริการตรวจยืนยันและรับการรักษา
เมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2567 พญ.ลลิตยา กองคำ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า มะเร็งตับเป็นโรคที่พบบ่อยในคนไทย โดยไวรัสตับอักเสบซีเป็นสาเหตุสำคัญของโรคตับแข็งและสู่มะเร็งตับ ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย ผู้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบซีมักไม่มีอาการใดๆ เป็นเวลานาน และจะเริ่มมีอาการเมื่อโรคดำเนินไปมากแล้ว ดังนั้นองค์การอนามัยโลก (WHO) และกระทรวงสาธารณสุขจึงกำหนดเป้าหมายการกำจัดโรคไวรัสตับอักเสบซีให้หมดไปภายในปี พ.ศ. 2573 โดยลดการติดเชื้อรายใหม่ร้อยละ 80
ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีได้รับการวินิจฉัยร้อยละ 90 และได้รับการรักษามากกว่าร้อยละ 80 รวมถึงอัตราการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับโรคไวรัสตับอักเสบซี ลดลงร้อยละ 65
ในปีงบประมาณ 2561 สปสช. ได้กำหนดสิทธิประโยชน์บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) ในการตรวจคัดกรองโรคไวรัสตับอักเสบซีทั้งในกลุ่มเสี่ยงสูง ได้แก่ ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยเอดส์ (PLHIV), ผู้ต้องขัง (Prisoner), ผู้ใช้ยาเสพติดด้วยวิธีฉีด (PWID), กลุ่มชายมีเพศสัมพันธ์กับชาย (MSM) และบุคลากรทางการแพทย์ (Healthcare worker) โดยรับบริการ 1 ครั้งต่อปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2561 ต่อมาในปีงบประมาณ 2566 ขยายการตรวจคัดกรองในประชาชนทั่วไปที่เกิดก่อนปี 2535 รับบริการได้ 1 ครั้งตลอดชีวิต นอกจากนี้ยังมีสิทธิประโยชน์การตรวจวินิจฉัยยืนยัน การประเมินภาวะความรุนแรงของตับภายหลังติดเชื้อ การรักษาด้วยยา และการตรวจติดตามหลังการรักษา
พญ.ลลิตยา กล่าวว่า ผลการดำเนินงาน ในปีงบประมาณ 2566 - 2567 (ณ 30 มิ.ย. 67 ) มีประชาชนได้รับบริการตรวจคัดกรองไวรัสตับอักเสบซี เป็น 1,798,046 คน (เป็นประชาชนทั่วไปที่เกิดก่อนปี 2535 จำนวน 1,721,417 คน) ในจำนวนนี้พบว่ามีผู้ที่มีความเสี่ยงต้องเข้ารับการตรวจยืนยันผล 22,089 คน หรือร้อยละ 1.23 และเข้ารับการตรวจประเมินสภาพตับ รวมถึงเข้ารับบริการรักษาพยาบาลต่อไป
ทั้งนี้ จากข้อมูลที่ปรากฏได้ทำการวิเคราะห์ โดยปีงบประมาณ 2567 มีผู้รับการตรวจคัดกรองไวรัสตับอักเสบซี 22,186 – 265,514 คนต่อเดือน รวมทั้งหมด 1,689,396 คน เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2566 ที่มีผู้รับการตรวจคัดกรอง 4,490 – 7,493 คนต่อเดือน รวมทั้งหมด 34,264 คน โดยเดือนมีนาคม 2567 มีผู้รับการตรวจคัดกรองสูงสุด เป็น 330,973 คน อย่างไรก็ดีเมื่อเปรียบเทียบกับความครอบคลุมประชากรที่เกิดก่อนปี 2535 ถือว่ายังเป็นจำนวนที่ต่ำมาก โดยอยู่ที่ร้อยละ 3.99 เท่านั้น สะท้อนให้เห็นว่ามีผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับการตรวจคัดกรองและไม่รู้สถานะการติดเชื้อของตนเอง
พญ.ลลิตยา กล่าวว่า ส่วนการตรวจคัดกรองฯ กลุ่มเสี่ยง ปีงบประมาณ 2566 มีผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ รับการตรวจคัดกรอง 86,815 คน มีภาวะเสี่ยง 2,756 คน ผู้ต้องขัง 114,275 คน มีภาวะเสี่ยง 3,754 คน ผู้ใช้ยาเสพติดด้วยวิธีฉีด 16,619 คน มีภาวะเสี่ยง 863 คน ชายมีเพศสัมพันธ์กับชาย 9,388 คน มีภาวะเสี่ยง 541 คน และบุคลากรทางการแพทย์ 362 คน มีภาวะเสี่ยง 8 คน
ส่วนปีงบประมาณ 2567 (30 มิ.ย. 67) มีผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ รับบริการตรวจคัดกรอง 69,810 คน มีภาวะเสี่ยง 1,778 คน ผู้ต้องขัง 124,894 คน มีภาวะเสี่ยง 2,567 คน ผู้ใช้ยาเสพติดด้วยวิธีฉีด 10,634 คน มีภาวะเสี่ยง 1,486 คน ชายมีเพศสัมพันธ์กับชาย 17,377 คน มีภาวะเสี่ยง 524 คน และบุคลากรทางการแพทย์ 6,179 คน มีภาวะเสี่ยง 40 คน
จากการวิเคราะห์ข้อมูลภาพรวมการเข้ารับบริการในกลุ่มเสี่ยงสูง พบว่ากลุ่มผู้ต้องขังเป็นกลุ่มที่ได้รับบริการมากที่สุด รองลงมาเป็นผู้ติดเชื้อ เอชไอวี เอดส์, ผู้ใช้ยาเสพติดด้วยวิธีฉีด ชายมีเพศสัมพันธ์กับชาย และบุคลากรทางการแพทย์ตามลำดับ โดยปี 2567 ภาพรวมมีจำนวนการเข้ารับบริการเพิ่มขึ้นจากปี 2566 อย่างชัดเจน ยกเว้นในกลุ่มผู้ใช้ยาเสพติด อย่างไรก็ดีเฉพาะในกลุ่มผู้ใช้ยาเสพติดด้วยวิธีฉีดที่มีจำนวนการคัดกรองลดลง แต่ผลตรวจเป็นบวกเพิ่มขึ้น
“ข้อมูลการดำเนินงานบริการคัดกรอง การวินิจฉัย และการรักษาโรคไวรัสตับอักเสบซี ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ นี้ ได้มีข้อเสนอแนะที่นำไปสู่การปรับปรุงการบันทึกผลการบริการของหน่วยบริการ การเชื่อมโยงข้อมูลผู้ป่วยรายบุคคลเพื่อติดตามให้เข้าถึงการรักษา รวมถึงการกำหนดแผนการดำเนินงานเร่งรัดการตรวจคัดกรองโรคไวรัสตับอักเสบซี โดยเฉพาะประชาชนที่เกิดก่อนปี 2535 เพื่อให้ครอบคลุมตามเป้าหมายกำจัดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีให้หมดไปในปี 2573 ตามเป้าหมายองค์การอนามัยโลก” พญ.ลลิตยา กล่าว
- 107 views