เปิดประชุม การดำเนินงานสุขภาพจิตและยาเสพติดในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อการก่อความรุนแรง กรมสุขภาพจิต ขับเคลื่อนพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยจิตเวช ใช้ยาฉีดควบคุมความรุนแรง ฉีดระยะยาวควบคุมได้เป็นเดือน เพิ่มคุณภาพชีวิตให้ผู้ป่วยและญาติ
เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม นพ.กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต มอบหมายให้ นพ.ศิริศักดิ์ ธิติดิลกรัตน์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต เป็นประธานเปิดประชุมเชิงปฏิบัติการ การดำเนินงานสุขภาพจิตและยาเสพติดในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อการก่อความรุนแรง (SMI - V) ระหว่างวันที่ 17 - 18 ตุลาคม 2567 ณ โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต แขวงสีกัน เขตดอนเมือง กรุงเทพมหานคร พร้อมแนะนำผลการศึกษาประสิทธิผลการใช้ยา Aripiprazole Long-acting Injection และ Paliperidone Long-acting Injection อีกด้วย
นพ.ศิริศักดิ์ ธิติดิลกรัตน์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า กรมสุขภาพจิต นำนโยบายกระทรวงสาธารณสุข มาเป็นหลักในการดำเนินงานและให้ความสำคัญในการเพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพจิตและยาเสพติด การดูแลด้านสุขภาพจิตและการบำบัดการใช้สารเสพติดที่เหมาะสม สามารถช่วยลดความเสี่ยงในการก่อความรุนแรง การวางแผนการรักษาที่ครอบคลุม ทั้งด้านจิตเวช การบำบัดพฤติกรรม และการสนับสนุนทางสังคม มีบทบาทสำคัญในการลดอาการรุนแรงของผู้ป่วย และควบคุมปัจจัยเสี่ยงที่นำไปสู่ความรุนแรง
กรมสุขภาพจิต ขับเคลื่อนพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่มีความเสี่ยงสูงต่อการก่อความรุนแรง (SMI - V) ตระหนักถึงผลกระทบทางสังคม ด้วยการนำแนวคิดในการนำยาชนิดฉีดที่รักษาอาการทางจิตชนิดออกฤทธิ์เนิ่นชนิดใหม่ เพื่อให้ผู้ป่วยจิตเวชมีอาการทางจิตสงบ ลดการกำเริบ ป้องกันการก่อเหตุรุนแรง รวมถึงช่วยลดค่าใช้จ่ายในการรับการรักษาซ้ำในโรงพยาบาล เพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับผู้ป่วยและญาติ เป็นที่น่ายินดีที่กองบริหารระบบบริการสุขภาพจิต ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการการดำเนินงานสุขภาพจิตและยาเสพติดในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อการก่อความรุนแรง (SMI - V) นับเป็นความสำเร็จอีกขั้นหนึ่ง ในการผลักดันสิทธิประโยชน์ที่ตอบสนองความต้องการของผู้ป่วยและญาติ เป็นการเพิ่มการเข้าถึงยาจิตเวชที่มีคุณภาพสูงแก่ประชาชน สำคัญอย่างยิ่งคือลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสังคมเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับผู้ป่วยและญาติอย่างยั่งยืน
พญ.ดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ ผู้อำนวยการกองบริหารระบบบริการสุขภาพจิต กล่าวต่ออีกว่า กรมสุขภาพจิต ได้ดำเนินการขับเคลื่อนสิทธิประโยชน์ และผลักดันข้อเสนอการใช้ยารักษาอาการทางจิตชนิดฉีดออกฤทธิ์เนิ่น เพื่อนำไปใช้ในการรักษาผู้ป่วยจิตเวชที่มีความเสี่ยงสูงต่อการก่อความรุนแรง ต่อมาสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสำนักงาน ป.ป.ส. ซึ่งได้พิจารณาเห็นชอบสนับสนุนงบประมาณดำเนินงาน โดยทำการศึกษาประสิทธิผลการใช้ยา Aripiprazole Long-acting Injection และ Paliperidone Long-acting Injection ในสถาบัน/โรงพยาบาลจิตเวช 14 แห่ง และโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป
กองบริหารระบบบริการสุขภาพจิต จึงได้การประชุมเชิงปฏิบัติการการดำเนินงานสุขภาพจิตและยาเสพติดในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อการก่อความรุนแรง (SMI - V) เพื่อชี้แจงแนวทางการรักษาด้วยยาฉีดออกฤทธิ์เนิ่น การประเมินและติดตามผู้ป่วยจิตเวช กลุ่มเป้าหมายของการประชุมประกอบด้วย ประธานองค์กรแพทย์ จิตแพทย์ พยาบาลจิตเวช คณะกรรมการทีมนำทางคลินิก หัวหน้ากลุ่มงาน เภสัชกรรม และเภสัชกรผู้รับผิดชอบงานติดตามประเมินผลการใช้ยาของโรงพยาบาลหน่วยงานสังกัดกรมสุขภาพจิต โดยในวันนี้ได้รับเกียรติจากวิทยากร มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ผู้อำนวยการสำนักความรอบรู้สุขภาพจิต สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ และโรงพยาบาลจิตเวชนครสวรรค์ราชนครินทร์
- 192 views