“สมศักดิ์” หารือร่วมกรมบัญชีกลาง 11 พ.ย. นี้ ถกปมกองทุนร่าง พ.ร.บ.สุขภาพจิต - ร่าง พ.ร.บ.อสม. ส่วนร่างกฎหมายแยกตัวออกจาก ก.พ. ยังจ่ออยู่ ครม. เหตุข้าราชการส่วนใหญ่อยู่ สธ.กว่า 4 แสนคน อาจต้องใช้เวลา ด้านอธิบดีกรมสุขภาพจิต เผยอยู่ระหว่างขั้นตอนแบ่งส่วนราชการ ทั้งตัดตำแหน่ง งบประมาณ ฯลฯ หลังมอบภารกิจบริการฟื้นฟูบำบัดยาเสพติดจาก กรมการแพทย์ มายัง กรมสุขภาพจิต
เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุข ครั้งที่ 10/2567 ซึ่งมีการรายงานความก้าวหน้าของร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) สุขภาพจิต (ฉบับที่..) พ.ศ...ว่า บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ดูแลประชาชนเข้ารับบริการราว 304 ล้านคนครั้งต่อปี ในส่วนของยาเสพติดคือส่วนหนึ่ง อย่างกระทรวงสาธารณสุขมีประมาณ 10,000 เตียง อย่าง 1 เตียง อยู่รักษาคนละ 1 เดือนก็จะประมาณ 1.2 แสนคน เมื่อเทียบจำนวนนี้กับ 304 ล้านคนครั้ง
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ต้องบอกว่า กระทรวงสาธารณสุข ให้บริการทำงานหนักอยู่แล้ว การปรับอะไรก็เพื่อให้เกิดความสะดวก เกิดการดูแลและรับผิดชอบให้ตรง ชัดเจน ไม่เสียเวลา เพราะหากมีหน่วยงานบังคับบัญชาหลายหน่วยงาน จะทำให้ผู้รับบริการหรือผู้ป่วยเสียโอกาสที่ดี ดังนั้น การส่งผู้ป่วยยาเสพติดไปรักษา แต่มีหลายกรมดูแลก็จะลำบาก ไม่อำนวยความสะดวก จึงต้องปรับเปลี่ยน และให้อธิบดีกรมสุขภาพจิต เป็นผู้ดูแลจะได้ชัดเจน
“ผมจะไปพบกรมบัญชีกลางในวันที่ 11 พฤศจิกายนนี้ โดยจะหารือเรื่องร่าง พ.ร.บ.สุขภาพจิต และร่างพ.ร.บ.อาสาสมัครสาธารณสุข(อสม.) ซึ่งมีเรื่องกองทุนตามพ.ร.บ.” รมว.สาธารณสุข กล่าว
ร่างกฎหมายแยกสธ.ออกจาก ก.พ.ยังวนเวียน ครม.
เมื่อถามกรณีความคืบหน้าร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ระเบียบข้าราชการสาธารณสุข พ.ศ. นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ยังวนเวียนอยู่หน้าคณะรัฐมนตรี(ครม.) ซึ่งสำนักงานเลขาฯ ถามความคิดเห็นอยู่ อย่างไรก็ตาม ต้องบอกว่า ข้าราชการอยู่กับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) มีประมาณล้านกว่าคน เป็นกระทรวงสาธารณสุขกว่า 4 แสนคนแล้ว เป็นอันดับที่หนึ่ง ตนคิดว่า หน่วยงานที่ทำอยู่เขาก็คงใจหาย จึงต้องพูดคุยทำความเข้าใจให้มากขึ้น
ผู้สื่อข่าวถามว่าการบำบัดผู้ป่วยยาเสพติดที่ผ่านมาถือว่าน่าพอใจหรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ยังไม่น่าพอใจ
อยู่ระหว่างแบ่งส่วนราชการ
ด้าน นพ.กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการมอบอำนาจโดยอธิบดีกรมการแพทย์ มาที่อธิบดีกรมสุขภาพจิต โดยได้มอบในส่วนของระบบบริการบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วยยาเสพติดมาทั้งหมดแล้ว ดังนั้น ขณะนี้ในเรื่องระบบบริการจึงอยู่ในการกำกับของกรมสุขภาพจิต
ส่วนในเรื่องของการแบ่งส่วนราชการนั้น เป็นการดำเนินการตามระเบียบของกฎหมาย โดยอ้างอิงกฎหมายของทาง ก.พ.ร. เป็นการตัดโครงสร้างอัตรากำลัง และภารกิจของหน่วยงานที่ดูแลด้านยาเสพติดสารเสพติดของกรมการแพทย์ มายังกรมสุขภาพจิต อยู่ในระหว่างกระบวนการ
ผู้สื่อข่าวถามว่าต่อไปบุคลากรในกรมการแพทย์ที่ดูเรื่องยาเสพติดสารเสพติด อย่างสถาบันธัญญารักษ์ ก็จะต้องอยู่ภายใต้กรมสุขภาพจิตใช่หรือไม่ นพ.กิตติศักดิ์ กล่าวว่า ตัดตำแหน่งทุกตำแหน่ง ทั้งภารกิจ โครงสร้าง งบประมาณมาหมด โดยอยู่ระหว่างดำเนินการ ซึ่งในส่วนกระทรวงสาธารณสุข มีการประชุมร่วมระหว่างกรมการแพทย์ กรมสุขภาพจิต และหน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้อง คือสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ( ก.พ.ร.) และสำนักงบประมาณ ซึ่งประชุมไปเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายนที่ผ่านมา มีการให้ข้อสังเกตข้อแนะนำ
“ทั้งนี้ จะมีการประชุมอีกครั้งภายในสัปดาห์หน้า และจะมีการประชุมอีกโดยรัฐมนนตรีฯ และปลัดสธ.เป็นประธาน คาดว่าไม่เกินเดือนนี้จะออกจากกระทรวงฯ และไปถึงการพิจารณาของ ก.พ.ร.”อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว
อ่านข่าวเกี่ยวข้อง : เตรียมแบ่งส่วนราชการใหม่! หลัง กรมการแพทย์ โอนงานยาเสพติดไป กรมสุขภาพจิต
- 3779 views