สธ. ร่วม ก.คมนาคม ยกระดับกระบวนการออกใบอนุญาตขับขี่ ใช้ดิจิทัลอำนวยความสะดวก ปรับปรุงระเบียบการตรวจคัดกรองสุขภาพ ด้าน สธ.ดัน “คลินิกอาชีวเวชกรรม” สู่ศูนย์เชี่ยวชาญประเมินสมรรถนะทางสุขภาพผู้ขับขี่ อย่างน้อย 24 แห่งทั่วประเทศในปี 68 ขณะที่คมนาคมเดินหน้าซื้อรถ จยย.1 คัน แถมหมวกนิรภัย 2 ใบ ใครไม่สวมหมวกกันน็อคต้องไปคุยที่โรงพัก 1 ชม.
เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน ที่ กระทรวงอุตสาหกรรม นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ นายฌอง ท็อด ผู้แทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติด้านความปลอดภัยบนท้องถนน ร่วมแถลงข่าวเปิดกิจกรรมรณรงค์ความปลอดภัยทางท้องถนนของสหประชาชาติ ภายใต้แคมเปญ #makeAsafetyStatement
นายสุริยะ กล่าวว่า รายงานสถานการณ์โลกด้านความปลอดภัยทางถนนปี 2566 ที่จัดทำโดยองค์กรอนามัยโลกพบว่า ประเทศไทยมีอัตราผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางท้องถนน 25 คนต่อแสนประชากร ซึ่งถือว่ายังเป็นประเด็นท้าทายที่ทุกภาคส่วนต้องขับเคลื่อนการปฏิบัติให้เกิดเป็นรูปธรรม ภายใต้กรอบการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติ และบรรลุตามเป้าหมายทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน 2021-2030 ตามปฏิญญาสตอกโฮล์ม ที่มีเป้าหมายลดการเสียชีวิตและการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนลงร้อยละ 50 ภายในปี 2573 และให้เป็นไปตามแผนแม่แบบความปลอดภัยทางถนน ซึ่งประเทศไทยได้กำหนดเป้าหมายในการลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางท้องถนนเป็น 12 คนต่อแสนประชากรภายในปี 2570
ปรับปรุงระเบียบการตรวจคัดกรองสุขภาพ
นายสุริยะ กล่าวต่อว่า สำหรับความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข ภายใต้การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการขับเคลื่อนความปลอดภัยทางถนน เพื่อยกระดับและพัฒนากระบวนการออกใบอนุญาตขับรถให้มีคุณภาพ โดยจะนำระบบดิจิทัลที่เหมาะสมมาใช้ในการบริการประชาชน พิจารณาและปรับปรุงกฎระเบียบรับรองการตรวจคัดกรองสุขภาพและตรวจประเมินสมรรถนะผู้ขับรถ อีกทั้ง 2 หน่วยงานจะร่วมกันพัฒนาระบบให้มีการเชื่อมโยงข้อมูลใบรับรองแพทย์ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์
คลินิกอาชีวเวชกรรม ประเมินสมรรถนะทางสุขภาพผู้ขับขี่
ด้าน นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ปัญหาการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเป็นปัญหาสำคัญของไทย มีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยปีละ 18,000 ราย พิการกว่า 10,000 รายต่อปีและบาดเจ็บกว่า 1 ล้านราย มีมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจกว่า 6,000 ล้านบาทต่อปี ในด้านการเยียวยารักษาพยาบาล กระทรวงสาธารณสุขมุ่งมั่นพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินที่ทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพเพื่อลดการสูญเสียจากการเกิดอุบัติเหตุทางถนน ทั้งนี้การป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุเป็นสิ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน โดยที่ผ่านมา สธ. ได้รณรงค์ให้ใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก หรือ คาร์ซีท และจัดให้มีโครงการขับขี่ปลอดภัยใส่ใจสุขภาพ เพื่อตรวจสุขภาพประเมินความพร้อมผู้ขับขี่ เลยตั้งเป้าหมายขับเคลื่อนคลินิกอาชีวเวชกรรม สู่การเป็นศูนย์เชี่ยวชาญการประเมินสมรรถนะทางสุขภาพของผู้ขับขี่ (Medical Fitness to Drive) ให้ได้อย่างน้อย 24 แห่งทั่วประเทศในปี 2568
เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงรายละเอียดในการจัดทำใบรับรองแพทย์อิเล็กทรอนิกส์ นายสมศักดิ์กล่าวว่า ระบบดังกล่าวจะมีการเชื่อมโยงข้อมูลจากสถานพยาบาลเข้าสู่ระบบออนไลน์มาถึงหน่วยงานของกระทรวงคมนาคม เพื่อช่วยบริการในเรื่องของการออกใบอนุญาตขับขี่
เมื่อถามถึงการออกใบรับรองแพทย์เพื่อทำใบขับขี่ ในปัจจุบันมีเรื่องของการซื้อขายใบรับรองแพทย์ในราคาถูกเพื่อนำไปใช้ประกอบการออกใบขับขี่ นายสมศักดิ์กล่าวว่า ในการดำเนินงานของ สธ. สามารถทำได้ในเรื่องของการตรวจสุขภาพผู้ขับขี่ แต่ติดปัญหาเรื่องใบขับขี่ตลอดชีวิต ที่เป็นสิทธิของประชาชนที่ได้รับไปแล้ว แต่ตอนนี้ควรจะต้องเป็นการออกใบขับขี่ ที่ต้องต่ออายุทุก 5 ปี พร้อมกับการตรวจสุขภาพที่ต้องเข้มข้นขึ้นและส่งต่อข้อมูลมายังกระทรวงคมนาคมอย่างรวดเร็ว ซึ่งในการตรวจสุขภาพก็จะมีการตรวจเรื่องของความสมบูรณ์ทางร่างกายและโรคประจำตัว
ผิดกฎหมายหากซื้อขายใบรับรองแพทย์ผู้ขับขี่
"ส่วนในเรื่องของการซื้อใบรับรองแพทย์เพื่อออกใบขับขี่ ไปซื้อมาแล้วก็ติดคุกทั้งคนซื้อและหมอ นี่คือปัญหาที่เราได้ทำบันทึกความร่วมมือครั้งนี้ เพื่อหามาตรการ ซึ่งจะออกเป็นกฎหมายและระเบียบ ภายใต้กฎหมายที่มีอยู่ เผื่อจะต้องเขียนมาตรฐานเรื่องการตรวจสุขภาพขึ้นมาใหม่" นายสมศักดิ์ กล่าว
ก.คมนาคม ดันซื้อรถจยย.1 คัน แถมหมวกนิรภัย 2 ใบ
ขณะที่ นายสุริยะ กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมได้มีความร่วมมือร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม และสมาคมผู้จัดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ เบื้องต้นได้หารือกันในเรื่องของการซื้อรถจักรยานยนต์ 1 คันควรจะต้องแถมหมวกกันน็อค 2 ใบ ซึ่งเพิ่มจากเดิมที่แถมให้ 1 ใบ คาดว่าตรงนี้จะเห็นเป็นรูปธรรมในเร็วๆ นี้
ไม่สวมหมวกกันน็อค ต้องไปโรงพัก 1 ชม.
"นอกจากนั้นไปหารือร่วมกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ เมื่อพบกรณีขับขี่ไม่สวมหมวกกันน็อค เบื้องต้นก็จะยังไม่ให้ปรับโดยทันที แต่จะให้นั่งรอ หรือเชิญไปโรงพัก เพื่อนั่งรอไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมง เชื่อว่าตรงนี้ถ้าเกิดความไม่สะดวกขึ้น หลังจากนี้คนก็จะสวมหมวกกันน็อคกันมากขึ้น" นายสุริยะกล่าว
สำหรับวัตถุประสงค์การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้จึงมุ่งยกระดับและพัฒนากระบวนการออกใบอนุญาตขับรถให้มีคุณภาพสอดคล้องกับมาตรฐานสากลโดยจะพิจารณาและปรับปรุงกฎระเบียบรองรับการตรวจคัดกรองสุขภาพและตรวจประเมินสมรรถนะผู้ขับรถ พัฒนาและนำระบบดิจิทัลที่เหมาะสมมาใช้ในการบริหารจัดการและบริการประชาชน พัฒนามาตรฐานการตรวจและประเมินสมรรถนะทางสุขภาพของผู้ขับขี่ (Medical Fitness to Drive)และเชื่อมโยงข้อมูลใบรับรองแพทย์ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์สำหรับการขอรับและขอต่ออายุใบอนุญาตขับรถตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ และใบอนุญาตผู้ประจำรถตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก พัฒนาคลินิกประเมินสมรรถนะทางสุขภาพผู้ขับขี่ผ่านคลินิกอาชีวเวชกรรมในโรงพยาบาล โดยจะเริ่มดำเนินการในกลุ่มผู้ขับขี่รถสาธารณะ รถบรรทุก รถนักเรียน รถพยาบาล และกู้ชีพ กู้ภัย เป็นกลุ่มแรก
- 78 views