กรมควบคุมโรค เตือนโรคและภัยสุขภาพช่วงหน้าหนาว อย่าง “โควิด19” แพร่กระจายเพิ่ม แต่ความรุนแรงไม่มากขึ้น เตือนพบการระบาดกลุ่มก้อน ทั้งศูนย์ดูแลคนสูงอายุ สถานศึกษา เรือนจำ ส่วนไข้หวัดใหญ่ เสียชีวิตมากสุดในผู้สูงอายุ ย้ำ! หญิงตั้งครรภ์รับวัคซีนป้องกันได้ตลอด ขณะที่ภัยสุขภาพ เสียชีวิตจากอากาศหนาวยังต้องระวัง และภาวะขาดอากาศหายใจและการสูดดมแก๊สพิษ จากเครื่องทำน้ำอุ่นแบบใช้ระบบแก๊ส
เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน ที่กรมควบคุมโรค(คร.) พญ.จุไร วงค์สวัสดิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวตอนหนึ่งในการแถลงข่าวหน้าหนาวอุ่นใจ ปลอดภัย ห่างไกลโรค ว่า ช่วงปลายปี เป็นช่วงที่มีเทศกาลรวมตัวของผู้คน ทั้งงานทอดกฐิน งานลอยกระทง ฉลองคริสต์มาส ปีใหม่ อีกทั้งยังมีสภาพอากาศที่หนาวเย็นที่เอื้อต่อการคงอยู่และแพร่กระจายของเชื้อ จึงเป็นช่วงที่โรคทางระบบทางเดินหายใจจะเพิ่มขึ้น โดยโรคทางระบบทางเดินหายใจที่ขอเตือนประชาชนให้เฝ้าระวังในช่วงนี้
โรคโควิด19
นพ.วีรวัฒน์ มโนสุทธิ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ โฆษกกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคโควิด 19 ที่ปัจจุบันสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดส่วนใหญ่ยังเป็น JN.1 แม้จะแพร่กระจายเพิ่ม แต่ความรุนแรงไม่ได้เพิ่มขึ้น จึงยังมีโอกาสเกิดการระบาดเป็นกลุ่มก้อนได้ในพื้นที่ที่ผู้คนรวมตัวกันมาก เช่น ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ สถานศึกษา รวมถึงเรือนจำ โดยช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 27 ตุลาคม – 2 พฤศจิกายน 2567 พบผู้ป่วยนอนโรงพยาบาล 549 ราย เสียชีวิต 1 ราย ผู้ป่วยสะสมรวม 41,142 ราย
โรคไข้หวัดใหญ่
พญ.จุไร กล่าวเพิ่มเติมโรคที่ต้องเฝ้าระวัง ว่า ยังมีโรคไข้หวัดใหญ่ ตั้งแต่ต้นปีพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้น แม้ขณะนี้แนวโน้มเหมือนลดลง แต่ประมาทไม่ได้ เนื่องจากเมื่อเข้าสู่ฤดูหนาว จะแพร่กระจายเชื้อมากขึ้น ทั้งนี้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่คือ กลุ่มอายุ 5-9 ปี กลุ่มอายุ 0-4 ปี และกลุ่มอายุ 10-14 ปีตามลำดับ โดยผู้ป่วยสะสมรวมอยู่ที่ 595,855 ราย ผู้เสียชีวิตสะสม 47 ราย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอายุ 65 ปีขึ้นไป และมีโรคประจำตัว มีประวัติไม่ได้รับวัคซีน แม้การรณรงค์รับวัคซีนจะผ่านไปแล้วเมื่อช่วงเดือนกันยายน แต่หากอยู่กลุ่มโดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ ยังสามารถรับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ได้
โรคRSV
นอกจากนี้ ยังมี โรคติดเชื้อไวรัสอาร์เอสวี (RSV) พบผู้ป่วยรวม 7,076 ราย อัตราป่าวย 10.71 ต่อประชากรแสนคน คิดเป็น 2.16ของผู้ป่วยปอดอักเสบทั้งหมด โดยผู้ป่วยต้องนอนโรงพยาบาลมากถึง 3,275 ราย คิดเป็นร้อยละ 50.64 ซึ่งมากกว่าโรควิด 19 จึงขอเตือนประชาชนระวังทั้ง 3 โรค โดยเฉพาะเด็กเล็กที่เป็นกลุ่มป่วยมากสุด กับกลุ่มผู้สูงอายุ โดยเฉพาะที่มีโรคประจำตัว เป็นกลุ่มที่เมื่อป่วยแล้วอาการรุนแรงและมีโอกาสเสียชีวิต
ขณะที่ นพ.วีรวัฒน์ กล่าวถึงแนวทางการป้องกัน ว่า ทั้ง 3 โรค เป็นโรคระบบทางเดินหายใจเหมือนกัน การแพร่เชื้อจึงติดกันได้จากฝอยละอองน้ำมูล น้ำลายเช่นกัน จึงป้องกันได้ด้วยการดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคลใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ กินอาหารปรุงสุกร้อนสะอาด ใช้ช้อนกลาง เมื่อป่วยให้เลี่ยงการเข้าไปอยู่ในที่มีคนรวมกลุ่มกันจำนวนมาก และทั้ง 3 โรคมีวัคซีนป้องกันจึงแนะนำกลุ่มเสี่ยงผู้สูงวัยมีโรคประจำตัวรับวัคซีนป้องกันทุกปี หากป่วยควรควรรีบพบแพทย์ให้เร็ว ไข้หวัดใหญ่ควรรีบหาภายใน 2 วัน โควิดภายใน 5 วัน เพราะมียารักษาเฉพาะที่ช่วยให้อาการดี ไม่ลงปอด ส่วนการติดเชื้อ RSV ไม่มียาจำเพาะ ต้องรักษาตามอาการ แต่เนื่องจากเป็นโรคที่มีโอกาสปอดอักเสบได้มากโดยเฉพาะในผู้สูงอายุ จึงควรรีบพบแพทย์เช่นกัน
ไข้เลือดออก
พญ.จุไร ย้ำเตือนโรคไข้เลือดออก ว่า ไข้เลือดออก ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 30 ตุลาคม 2567 พบผู้ป่วย 92,203 ราย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็กวัยเรียน เสียชีวิต 96 ราย แนวโน้มคาดว่าผู้ป่วยปีนี้จะไม่ถึงแสนราย แต่ปัญหาการเสียชีวิตยังมี โดยเฉพาะภาคใต้คนไข้เยอะ และขณะนี้ยังฝนตกอยู่ น้ำขังก็จะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงได้ สำหรับมาตรการสำรวจและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายยังเป็นสิ่งที่ต้องเน้นย้ำ พร้อมกับเน้นงดจ่ายยากลุ่ม NSAIDs แก่ผู้ป่วยที่สงสัยเป็นโรคไข้เลือดออก ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายเลือดออกในทางเดินอาหาร ขอแนะนำให้ประชาชนและผู้ป่วยที่เป็นโรคไข้เลือดออกทายากันยุง เพื่อป้องกันตนเองไม่ให้ถูกยุงกัด และป้องกันการแพร่เชื้อไข้เลือดออกสู่บุคคลในครอบครัวและชุมชน
โรคและภัยสุขภาพช่วงฤดูหนาว
สำหรับโรคและภัยสุขภาพอื่นๆ ที่ต้องติดตามในช่วงเข้าสู่ฤดูหนาวนี้ ได้แก่ ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 การเสียชีวิตจากภาวะอากาศหนาว การขาดอากาศหายใจและการสูดดมแก๊สพิษ จากเครื่องทำน้ำอุ่นแบบใช้ระบบแก๊ส และโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน
ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ระหว่างวันที่ 1-31 ตุลาคม 2567 พบว่ามีค่าฝุ่น PM2.5 ระหว่าง 3-61 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และมี 20 จังหวัดที่มีค่าฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐาน (มากกว่า 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) นอกจากนี้ยังพบว่าจังหวัดที่มีค่าฝุ่นสูงที่สุด คือ จังหวัดกาญจนบุรี (วันที่ 8 ต.ค.67) กลุ่มเสี่ยงที่เป็นกลุ่มเด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว และผู้ที่ทำงานกลางแจ้ง ควรติดตามสถานการณ์ฝุ่นอย่างใกล้ชิด เมื่อมีคำเตือนค่าฝุ่น PM2.5 สูง ควรปฏิบัติตนตามมาตรการ “หลีก ปิด ใช้ เลี่ยง ลด” หลีกเลี่ยงการสัมผัสฝุ่น ปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิด ใช้หน้ากากป้องกันฝุ่น PM2.5 เลี่ยงกิจกรรมภายนอกอาคาร ลดการใช้รถยนต์และการเผาทุกชนิด
การเสียชีวิตจากภาวะอากาศหนาว จากรายงานการเฝ้าระวังสถานการณ์การเสียชีวิตที่เกี่ยวเนื่องจาก ภาวะอากาศหนาว ระหว่างปี 2558-2567 พบว่ามีผู้เสียชีวิตรวมทั้งสิ้น 242 ราย สูงสุดในช่วงเดือนธันวาคม - มกราคม จึงขอเน้นย้ำประชาชนเตรียมความพร้อมดูแล ส่งเสริมสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง สวมใส่เครื่องนุ่งห่มที่เพียงพอ รักษาร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ หลีกเลี่ยงการดื่มสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่อาจเป็นปัจจัยเสริมให้เสี่ยงต่อการเสียชีวิตในช่วงภาวะอากาศหนาวมากขึ้น
การขาดอากาศหายใจและการสูดดมแก๊สพิษ จากเครื่องทำน้ำอุ่นแบบใช้ระบบแก๊ส จากข้อมูลระหว่างปี 2551 - ตุลาคม 2567 พบว่ามีรายงานทั้งสิ้น 34 เหตุการณ์ เป็นผู้ป่วย 41 ราย เสียชีวิต 10 ราย เน้นย้ำคนที่มี โรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคระบบทางเดินหายใจ ควรให้ความระมัดระวังมากขึ้น เพราะหากได้รับแก๊สดังกล่าวจะทำให้เสียชีวิตได้ง่ายกว่ากลุ่มอื่นๆ และควรสังเกตอาการที่อาจเกิดขึ้นจากการได้รับแก๊สระหว่าง ใช้ห้องน้ำ เช่น วิงเวียน หน้ามืด หายใจลำบาก ควรรีบออกจากห้องน้ำหรือให้การช่วยเหลือทันที
- 30 views