กรมควบคุมโรค เตือนสายแคมป์ปิ้ง เดินป่า ผู้ทำงานภาคเกษตรกรรม ระวัง “ตัวไรอ่อน” ก่อโรคสครับไทฟัส หรือไข้รากสาดใหญ่ ไม่มีวัคซีนป้องกัน รักษาได้แต่ต้องเร็ว ขณะที่กองระบาดวิทยาเผยอัตราการป่วยสูงสุดพบมากใน 10 จังหวัด
ใกล้เทศกาลท่องเที่ยวช่วงหน้าหนาว โดยเฉพาะสายแคมป์ปิ้ง ต้องระมัดระวังโรคที่อาจพบได้ คือ โรคสครับไทฟัส (Scrub typhus) หรือโรคไข้รากสาดใหญ่ เป็นโรคติดต่อนำโดยแมลง เกิดจากเชื้อแบคทีเรียในกลุ่มริกเก็ตเชีย (Rickettsia) ซึ่งตามธรรมชาติ เป็นโรคติดต่อระหว่างสัตว์ป่าในตระกูลสัตว์ฟันแทะ เช่น หนู กระแต กระจ้อน เป็นต้น โดยเชื้อริกเก็ตเชีย ที่อยู่ในสัตว์ฟันแทะจะไม่ทำให้สัตว์นั้นมีอาการของโรค แต่หากติดต่อมาสู่คนจะทำให้ป่วยได้
โรคไข้รากสาดใหญ่ คือ
ผู้สื่อข่าว Hfocus ได้สรุปข้อมูลจาก กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค(คร.) กระทรวงสาธารณสุข เผยว่า โรคไข้รากสาดใหญ่ หรือ โรคสครับไทฟัส เป็นโรคที่ต้องระวัง แม้พบได้ทุกฤดู แต่พบมากสุดในฤดูฝนจนถึงฤดูหนาว โดยโรคนี้ติดต่อมาสู่คน โดยมีไรอ่อน (Chiggers) เป็นพาหะ ไรอ่อนจะอาศัยอยู่ตามพุ่มไม้ ทุ่งหญ้าในป่าละเมาะ เมื่อสัตว์ฟันแทะผ่านเข้าไปในบริเวณนั้น จะถูกไรอ่อนเกาะและดูดเลือดหากสัตว์เหล่านั้นมีเชื้อโรคอยู่ ไรอ่อนจะติดเชื้อ และเมื่อกัดคน จะทำให้เชื้อแพร่สู่คนต่อไป
ทั้งนี้ โรคนี้พบได้ทุกฤดู แต่จะพบมากในช่วงฤดูฝนจนถึงต้นฤดูหนาว และพบมากในพื้นที่เกษตรกรรม ซึ่งกลุ่มเสี่ยงคือ ผู้ที่ทำงานในภาคเกษตรกรรม ทำไร่ ทำสวน หาของป่า และนักท่องเที่ยวเดินป่า
อาการของโรค
สำหรับอาการแสดง หลังจากถูกกัดเชื้อจะมีระยะเวลาฟักตัว 6-20 วัน (เฉลี่ย 10วัน ) อาการที่พบบ่อยคือ ไข้เฉียบพลันและหนาวสั่น ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดกล้ามเนื้อและปวดเมื่อยตามตัว บางรายไอแห้ง ต่อมน้ำเหลือโต กดเจ็บปวดท้อง มีผื่นแดงเริ่มจากบำตัว ผื่นขนาดเล็กค่อยๆนูนหรือใหญ่ขึ้น และอาจพบแพลบ๋มสีดำคล้ายบุหรี่จี้ ไม่เจ็บปวด บริเวณที่ถูกไรอ่อนกัด ส่วนใหญ่พบตามซอกขาหนีบ รักแร้ ราวนม และข้อพับ อยู่นานราว 6-18 วัน บางรายอาจหายเอง และบางรายอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เบ่น ปอดอักเสบ เยื่อหุ้มสมองและสมองอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และการทำงานของอวัยวะในร่างกายล้มเหลว ทำให้เสียชีวิตได้ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ หากไม่ได้รับการดูแลอย่างถูกต้อง
ผู้ป่วยแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากค่ามัธยธาน 5 ปีย้อนหลัง
ทั้งนี้ ข้อมูลจากระบบการรายงานโรค DDS กองระบาดวิทยา ในปี 2567 พบผู้ป่วยสูงกว่าค่ามัธยธาน 5 ปีย้อนหลัง (พ.ศ.2562-2566) และสูงกว่าปีที่ผ่านมาตั้งแต่ต้นปี 2567 จำนวนผู้ป่วยยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และพบผู้เสียชีวิตอย่างต่อเนื่อง คาดว่า จำนวนจะยังคงเพิ่มสูงในช่วงเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน สามารถพบได้ทุกฤดูแต่จะพบมากในช่วงฤดูฝนจนถึงฤดูหนาว
เสียชีวิต 4 ราย ระบาดกลุ่มก้อน 2 เหตุการณ์
ทั้งนี้ ข้อมูลจากโปรแกรมตรวจสอบข่าวการระบาดระหว่างวันที่ 1 มกราคม -21 ตุลาคม 2567 มีรายงานผู้เสียชีวิต 4 ราย คือ จ.นครราชสีมา 2 ราย จ.สุรินทร์และศรีสะเกษจังหวัดละ 1 ราย ช่วงอายุระหว่าง 59-78 ปี มีประวัติเสี่ยง คือ ทำงานในสวน อาการสำคัญที่พบ คือ มีไข้สูง ปวดเมื่อยตามร่างกาย ทั้ง 4 ราย ไม่พบผื่นหรือแผลบุ๋มสีดำคล้ายบุหรี่จี้
อีกทั้ง ยังพบรายงานการระบาดเป็นกลุ่มก้อน 2 เหตุการณ์ คือ จ.ตาก 1 เหตุการณ์มีผู้ป่วย 11 ราย ปัจจัยเสี่ยงคืออยู่ในป่า ภูเขา และทำเกษตรพืชไร่ และจ.สงขลา 1 เหตุการณ์ พบผู้ป่วย 4 ราย กิจกรรมที่ทำร่วมกันก่อนมีอาการป่วย คือ ทำสวน (ตัดไม้ยาง)
10 อันดับจังหวัดที่ป่วยโรคสครับไทฟัสมากที่สุด
นอกจากนี้ กองระบาดวิทยา ยังเผยข้อมูลอัตราป่วยโรคสครับไทฟัสต่อประชากรแสนคน จำแนกรายจังหวัด ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม -29 ตุลาคม 2567 โดยแบ่งเป็น 10 อันดับ พบมากที่สุด คือ แม่ฮ่องสอน ตาก ระนอง น่าน เชียงราย เชียงใหม่ พังงา ร้อยเอ็ด ยโสธร และอุตรดิตถ์
3 ข้อแนะนำเลี่ยงโรค
กรมควบคุมโรค ให้คำแนะนำสำหรับประชาชน ระบุว่า ด้วยปัจจุบันโรคสครับไทฟัส ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน การป้องกันความเสี่ยงของการได้รับเชื้อจะดีที่สุด คือ เลี่ยงไม่ให้ถูกไรอ่อนกัด ดังนี้
1.หลีกเลี่ยงการเข้าไปในพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคหรือพื้นที่ที่เป็นแหล่งอาศัยของไรอ่อน เช่น ป่าละเมาะ พื้นที่เกษตรใกล้ป่า ทุ่งหญ้า พุ่มไม้ ชายป่า หรือบริเวณต้นไม้ใหญ่ที่แสงแดดส่องไม่ถึง เป็นต้น
2.หากจำเป็นต้องเข้าไปในพื้นที่เสี่ยง พยายามหลีกเลี่ยงการนั่งหรือนอนลงบนพื้นดินหรือหญ้า เพื่อไม่ให้ถูกไรอ่อนกัด ควรสวมใส่เสื้อผ้าให้มิดชิดปกปิดแขนขา และใช้สารไล่แมลงทา หรือฉีดพ่นทั้งผิวหนังและเสื้อผ้า
3.เมื่อออกจากพื้นที่เสี่ยง แนะนำให้อาบน้ำทำความสะอาดร่างกายและสระผม สำรวจร่างกายตนเองว่า มีผื่น แผล หรือแมลเกาะตามตัวหรือไม่ และควรนำเสื้อผ้าที่สวมใส่มาซักทำความสะอาดด้วยผงซักฟอกเข้มข้นทันที
“หากมีประวัติเสี่ยง ร่วมกับ มีอาการไข้ หรืออาการที่เข้าได้กับโรคสครับไทฟัส ควรรีบไปพบแพทย์ทันที พร้อมแจ้งประวัติเสี่ยง อย่างไรก็ตาม โรคนี้รักษาให้หายได้ด้วยยาปฏิชีวนะ การได้รับวินิจฉัยและรักษาที่รวดเร็วจะเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาและลดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้”
ขอบคุณข้อมูลจาก กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค
ขอบคุณภาพอินโฟฯ จากสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 ขอนแก่น
- 169 views