ประธาน สสลท.พอใจผลเจรจาเรียกร้องปรับระบบการจ่ายเงินเดือน เตรียมตั้งคณะทำงานร่วมศึกษาข้อมูลก่อนประชุมกับ สธ.อีกครั้งวันที่ 15 ส.ค. 2561 แต่ยอมรับให้จ่ายเงินเดือนลูกจ้างจากงบประมาณแผ่นดินเป็นเรื่องเกินอำนาจรัฐมนตรี ต้องเสนอเรื่องให้รัฐบาลพิจารณาต่อไป
นายโอสถ สุวรรณเศวต ประธานสมาพันธ์สมาคมลูกจ้างของรัฐแห่งประเทศไทย (สสลท.) กล่าวถึงผลการหารือร่วมกับ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เมื่อเช้าวันที่ 16 พ.ค. 2561 ในเรื่องข้อเรียกร้องให้ปรับระบบการจ่ายเงินเดือนลูกจ้างจากเงินบำรุงเป็นจ่ายจากงบประมาณแผ่นดินโดยตรง ซึ่งเบื้องต้น นพ.ปิยะสกล ได้สั่งการให้โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขต้องจ่ายค่าจ้างไม่น้อยกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ และมีการตั้งคณะทำงานร่วมกันเพื่อศึกษาข้อมูลและเตรียมประชุมในอีก 3 เดือนข้างหน้า โดยนายโอสถระบุว่าทาง สสลท.มีความพึงพอใจในระดับหนึ่ง เพราะถือเป็นครั้งแรกที่กระทรวงสาธารณสุขมีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม จากเดิมที่ตอบลอยๆ อยู่ตลอดว่าเห็นใจแต่ไม่มีเงิน ทำหนังสือสอบถามไปทีไรก็บอกเพียงว่าไม่มีเงิน
นายโอสถ กล่าวว่า ในช่วง 3 เดือนนี้ จะมีการตั้งคณะอนุกรรมการร่วมกันเพื่อศึกษาข้อมูล ปัญหาอุปสรรคต่างๆ ว่ามีข้อเท็จจริงอย่างไร เรื่องใดที่กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการได้ เรื่องใดต้องนำเสนอให้รัฐบาลพิจารณา แล้วอีก 3 เดือนคือวันที่ 15 ส.ค. 2561 ทางรัฐมนตรีจะมานั่งเป็นประธานการประชุมเพื่อดูว่าจะทำอะไรได้บ้าง
อย่างไรก็ดี ในส่วนของข้อเรียกร้องให้ปรับระบบการจ่ายเงินเดือนจากเงินบำรุงเป็นจ่ายจากงบประมาณแผ่นดินโดยตรง ซึ่งเป็นเป้าหมายสุดท้ายของ สสลท.นั้น เป็นเรื่องที่อยู่เกินกว่าอำนาจของรัฐมนตรีจะทำได้ ดังนั้นเรื่องนี้คงต้องนำเสนอข้อมูลให้กระทรวงการคลังและรัฐบาลพิจารณาต่อไป
“ท่านนายกรัฐมนตรีมอบหมายรัฐมนตรีสาธารณสุขมาเจรจาในนามตัวแทนรัฐบาล เรื่องนี้ก็คงเป็นท่วงทำนองของนายกฯด้วย แต่ว่าจะขนาดไหนก็คงต้องว่ากันตอนต่อไป แต่เป้าหมายเราคือเงินเดือนค่าจ้างต้องมาจากเงินงบประมาณซึ่งอีก 3 เดือนต้องมีอะไรชัดเจน ไม่อย่างนั้นกระทรวงสาธารณสุขก็จะดำเนินการแบบเดิมๆ คือพูดแล้วไม่ทำ” นายโอสถ กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ม๊อบลูกจ้างปักหลักทำเนียบร้องปรับระบบจ่ายค่าจ้างจากเงินบำรุง รพ.เป็นงบประมาณแผ่นดิน
โฆษก สธ.เผยการขอเปลี่ยนค่าจ้างจากเงินบำรุงเป็นงบประมาณอยู่นอกเหนืออำนาจ สธ.
สธ.สั่งทุก รพ. 'ลูกจ้างทุกคนต้องได้รับค่าจ้างไม่น้อยกว่าแรงงานขั้นต่ำ'
- 62 views