ประธานชมรมฯ 5 วิชาชีพ เดินหน้าสร้างระบบสุขภาพยั่งยืน ด้วยความเข้มแข็งของ "โรงพยาบาลชุมชน" ชี้ "บุคลากร-ค่าตอบแทน-ความก้าวหน้า-สวัสดิการ" เป็นสิ่งสำคัญ เพื่อขับเคลื่อนบูรณาการและดำเนินงานด้านสุขภาพในระดับปฐมภูมิครบวงจร หวังประชาชนเข้าถึงบริการสะดวกและมีมาตรฐาน

เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2567 ณ ศูนย์การประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี มีการจัดเวทีการประชุมวิชาการโรงพยาบาลชุมชน ประจำปี 2567  “โรงพยาบาลชุมชนเข้มแข็ง ระบบสุขภาพไทยยั่งยืน” (Strengthening Community Hospital for Sustainable Thailand Health System) ซึ่งภายในงานมีการเสวนาในหัวข้อ  “ความเข้มแข็งของสหวิชาชีพในโรงพยาบาลชุมชนสร้างความยั่งยืนให้ระบบสุขภาพ” โดยมี  นพ.ปวิตร วณิชชานนท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลละงู จ.สตูลประธานชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชน  นายพรพิทักษ์ กอมสิน  ประธานชมรมเภสัชกรโรงพยาบาลชุมชน ทพ.พีรพงษ์ จันทร์พุ่ม รพ.ห้วยยอด จ.ตรัง ประธานชมรมทันตแพทย์โรงพยาบาลชุมชน นางสุมาลี หงษ์สาวงษ์ หัวหน้าพยาบาล รพ.โพนทราย ประธานชมรมผู้บริหารการพยาบาลโรงพยาบาลชุมชน และ นายสุรศักดิ์ ช้างคนมี ประธานชมรมสายงานบริหารและการจัดการโรงพยาบาลชุมชน ร่วมเสวนาด้วย

นพ.ปวิตร วณิชชานนท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลละงู จ.สตูลประธานชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชน กล่าวว่า ในรอบปีที่ผ่านมาทำมาหลายเรื่อง ทั้งมีการประชุมผู้บริการระดับชุมชน ทำสัญจรเพื่อเยี่ยมเยือนโรงพยาบาลชุมชน ซึ่งที่ผ่านมามีการไปเยี่ยมที่โรงพยาบาลศรีสะเกษ และได้เห็นว่าหลายสิ่งที่ทำและดีเพื่อนำมาพัฒนาต่อยัง ในการพัฒนาโรงพยาบาลชุมชนเพื่อเป็นโรงพยาบาลชุมชนที่เข้มแข็ง รวมทั้งมีการทำในเรื่องของ NCDs อย่างโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี ตอนนี้คนไข้เบาหวานลืมยาได้และเป็นเบาหวานโดยไม่ต้องทานยา ฉะนั้นเราเอาสิ่งเหล่านี้มาขยายต่อเพื่อจะทำนโยบายชุมชน นอกจากมีการจัดสัญจรในต่างจังหวัด เรายังมีการประชุมในหน่วยงานอื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะพูดถึงเรื่องของสาธารณสุขและการดูแลสุขภาพของชุมชน โดยเป็นการประชุมร่วมกับ สปสช. สภาเภสัชกรรม สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน  ตรงนี้เป็นการตอบโจทย์และมองว่าเป็นสิ่งสำคัญ โดยมีคณะกรรมการที่ขับเคลื่อนมากกว่า 70 คน ประชุมทุกเดือน ปีละ 3-4 ครั้ง 

"นอกจากนี้เรายังทำเรื่องของชุมชนเข้มแข็ง เช่น ตอนนี้หลายโรงพยาบาลมีเรื่องของคนพิการ เรื่องศูนย์เด็กเล็ก โดยจะมีการพัฒนาศูนย์เด็กเล็กให้มีไอคิวอีคิวมากขึ้น ซึ่งจากการตอบรับพบว่าโรงพยาบาลที่เข้าร่วม รวมถึง ครู ผู้ปกครอง  มีการพัฒนาและรู้สึกดีและพอใจด้วย ซึ่งอยากให้ทำอีก ซึ่งตรงนี้จะขยายต่อ ส่วนเด็กก็มีพัฒนาการที่ดีมากขึ้น เพราะฉะนั้นเราจึงอยากออกแบบเพื่อจะพัฒนาขับเคลื่อนเรื่องนี้ให้เกิดขั้นภายในชุมชน ให้ชุมชุนได้มีส่วนร่วมด้วยเช่นกัน" นพ.ปวิตร กล่าว

ขับเคลื่อนเรื่องความปลอดภัยและมาตรฐานของยา

ด้าน นายพรพิทักษ์ กอมสิน  ประธานชมรมเภสัชกรโรงพยาบาลชุมชน กล่าวว่า ชมรมเองได้มีการขับเคลื่อนงานวิชาชีพของบุคลากรโรงพยาบาลชุมชน โดยเฉพาะเรื่องความก้าวหน้าทางวิชาชีพ นอกจากนี้ยังมีการประชุมวิชาการมีการขับเคลื่อนความปลอดภัยด้านยา ขับเคลื่อนเรื่องความปลอดภัยและมาตรฐานของยา เพื่อให้มีมาตรฐาน นอกจากนี้ยังมีเรื่องของ "สมาร์ท ฟาร์มาซี" ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข เนื่องมีการขับเคลื่อนเทคโนโลยีส่วนมากจะคิดถึงเภสัชกรเป็นคนแรก เพราะค่อนข้างปรับตัวได้เร็วและพยายามจะเปลื่ยนแปลงเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนเปลงขึ้นสำหรับโรงพยาบาลชุมชน อีกเรื่องคือ “Health Rider” บริการส่งยาถึงบ้าน เป็นเรื่องใหม่ที่ทำให้มีการปรับตัวค่อนข้างเร็วทั้งในเรื่องการบริการ แต่คนเหมือนเดิม ทรัพยากรเหมือนเดิม แต่มีงานที่เพิ่มขึ้น ก็คงต้องมีการจัดการใหม่ นอกจากนี้ยังมีเรื่องของ Telemedicine และทิ้งไม่ได้คือระบบบริการปฐมภูมิ ซึ่งตรงนี้เป็นภาพของเภสัชกรที่ต้องมีการขับเคลื่อนว่าจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ชมรมเภสัชกรก็มีการขับเคลื่อนต่อไป

"จริงๆแล้วทิศทางที่อยากเห็นในอนาคตเราอยากให้โรงพยาบาลชุมชนเป็นโรงพยาบาลเอกชนของคนในชุมชน เพราะฉะนั้นจะไม่มีการเสียค่าใช้จ่ายอะไรต่างๆ ซึ่งตรงนี้เป็นความท้าทายว่าเราจะทำยังไงให้โรงพยาบาลชุมชนเป็นเอกชนในชุมชนโดยที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย สิ่งแรกที่อยากให้มี คือ "ฟาร์มาคาเฟ่" เป็นคาเฟ่โดยมีการจ่ายยาตามช่องต่างๆ เราจะ ทำยังไงให้เป็นคาเฟ่ที่ประชาชนได้รับบริการและมีความสุขรู้สึกสะดวกสบายในการรับบริการ ทั้งนี้มีโรงพยาบาลที่นำแนวคิดนี้ไปพัฒนาเพื่อให้เกิดขึ้นแล้ว นอกจากนี้อยากให้มีอาคารเภสัชกรรม เพื่อเป็นอาคารยาในส่วนของการปรุงยาและเป็นที่เรียนรู้ในเรื่องความรู้ต่างๆที่จะเกิดขึ้นและเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาโรงพยาบาลชุมชนให้เข้มแข็ง" นายพรพิทักษ์ กล่าว

พบประชาชนเข้าถึงบริการทันตกรรมน้อย

ขณะที่ ทพ.พีรพงษ์ จันทร์พุ่ม รพ.ห้วยยอด จ.ตรัง ประธานชมรมทันตแพทย์โรงพยาบาลชุมชน กล่าวว่า ปัญหาในระบบของการรับบริการสุขภาพช่องปากในทางที่สหวิชาชีพมอง คือ การเข้าถึงบริการทันตกรรมต่ำ ปัญหาที่ 2 คือ เรื่องของบุคลากร ซึ่งตอนนี้เป็นประเด็นใหญ่ที่เรากำลังจะไม่มีผู้ช่วยทันตแพทย์ กำลังไม่มีทันตภิบาล และหายไปจากระบบ ดังนั้นจากปัญหาตรงนี้ ชมรมได้ร่วมขับเคลื่อนกับกระทรวงสาธารณสุขหลายประเด็น และเป็นความโชคดีของประชาชนสังคมไทยที่กรรมมาธิการวุฒิสภากับท่านปลัดได้มองเห็นเรื่องของความเหลื่อมล้ำ การเข้าไม่ถึงระบบบริการสุขภาพช่องปากของคนไทยทำให้เกิดแนวคิดเรื่องโรงพยาบาลทันตกรรมขึ้น ซึ่งความเข้าใจตรงนี้มีทั้งถูกและผิด ที่ถูกคือ เรื่องนี้เป็นเรื่องของโรงพยาบาลจังหวัด แนวคิดตนคือเราพยายามขับเคลื่อนให้เกิด "One Dental Hospital One Service"  อีกทั้งแนวคิดเรื่องโรงพยาบาลทันตกรรมเกิดจากโรงพยาบาลชมชุน ยกตัวอย่าง โรงพยาบาลห้วยยอด ซึ่งมีการพัฒนาเป็นศูนย์ทันตกรรมมาตั้งแต่ปี 2556 ด้วยความร่วมมือจากสหวิชาชีพทันตแพทย์ รวมถึงศูนย์ทันตกรรมของโรงพยาบาลห้วยยอดยังเคยได้รับรางวัลในปี 2559 อีกด้วย จนกระทั่งถูกนำมาขับเคลื่อนและเกิดเป็นนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข 

"สิ่งที่ทันตแพทย์ตัวน้อยๆในโรงพยาบาลในชุมชนต้องการตอนนี้ คือ การผลักดัน จับมือ ขับเคลื่อนเรื่องนี้เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งของระบบบริการสุขภาพช่องปาก ซึ่งอย่างที่ทราบกันดีว่า ช่องปากเป็นประตูด่านแรกของสุขภาพทั้งหมด ถ้าความเข้มแข็งเกิดขึ้นก็จะเชื่องโยงทำให้โรงพยาบาลชุมชนเข้มแข็ง ดั้งนั้นสิ่งที่ชมรมฯทำตอนนี้คือ เราผลักดันให้โรงพยาบาลชุมชนทั้งประเทศทำเรื่องโรงพยาบาลทันตกรรม ความหมายคือ เราไม่ได้ต้องการที่จะสร้างโรงพยาบาลแยกออกไป  แต่แนวคิดนี้คือทำยังไงก็ได้ที่ให้ประชาชนเข้าถึงบริการเพิ่มมากขึ้น  ซึ่งเป็นสิ่งที่อยากขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดเป็นความเข้มแข็งของระบบสุภาพในชุมชน ทั้งในเรื่องงานปฐมภูมิและงานทันตกรรมเฉพาะทาง ทั้งนี้ในส่วนของชมรมฯคงต้องขับเคลื่อนต่อไป" ทพ.พีรพงษ์  กล่าวทิ้งท้าย

เดินหน้าดัน "สวัสดิการ-ความก้าวหน้า" เพื่อบุคลากรอยู่ในรพ.ชุมชนต่อไป

ด้าน นางสุมาลี หงษ์สาวงษ์ หัวหน้าพยาบาล รพ.โพนทราย ประธานชมรมผู้บริหารการพยาบาลโรงพยาบาลชุมชน กล่าวว่า  ชมรมมีการก่อตั้งมานานทำอย่างไรที่จะสนับสนุนให้สุขภาพของประเทศไทยเราในด้านสุขภาพมีความยั่งยืนชมรมมีการพัฒนาในเรื่องของศักยภาพพยาบาลและหัวหน้าพยาบาลทั่วประเทศ ทั้ง 878 แห่งโดยมีการดูแลในเรื่องสวัสดิการเรื่องความก้าวหน้า ซึ่งเมื่อปีที่แล้วได้มาประมาณ 2,977 ตำแหน่ง ซึ่งสามารถทำให้หัวหน้างานการพยาบาลและกลุ่มพยาบาลต่างๆยังรักและยังอยากอยู่ในโรงพยาบาลชุมชน นอกจากนี้ชมรมได้ร่วมขับเคลื่อนในเรื่องของค่าตอบแทน พตส. อีกด้วย

อีกประเด็นที่เป็นเรื่องสำคัญคือ ก่อนกน้านี้เราได้สูญเสียเจ้าหน้าที่ที่ต้องเดินทางไปกับรถส่งต่อผู้ป่วย ซึ่งทางชมรมฯ อยากส่งเสียงสะท้อนถึงผู้บริหารให้มองในเรื่องนี้ด้วยว่าบุคลากรเหล่านี้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงด้วยเช่นกัน จะทำยังไงให้สามารถดูแลเจ้าหน้าที่หรือคนขับรถ ได้อย่างครอบคลุม และรองรับความปลอดภัยให้ชัดเจนมากกว่านี้