ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

"ขบวนการแพทย์ชนบท" เจ้าของรางวัลรางวัลรามอนแมกไซไซ ประจำปี 2567 บอกเล่าความคิด-อุดมการณ์ ผ่านเวทีเสวนา "ขบวนการแพทย์ชนบทกับการพัฒนาระบบสุขภาพไทย" มุ่งขจัด "คอร์รัปชัน-ความเหลื่อมล้ำ สนับสนุนการปฏิรูประบบสุขภาพและระบบสุขภาพปฐมภูมิอย่างเต็มที่ 

เมื่อวันที่ 2 ก.ย. 2567 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดการประชุมวิชาการเพื่อพัฒนาเครือข่ายสังคมสุขภาวะและนโยบาย ครั้งที่ 9/2567 โดยภายในงานยังได้มีการแถลงข่าว พร้อมเวทีเสวนา “ขบวนการแพทย์ชนบทกับการพัฒนาระบบสุขภาพไทย” ซึ่งจัดขึ้นหลังจากที่ “ขบวนการแพทย์ชนบท” (RURAL DOCTORS MOVEMENT) ได้รับรางวัลรามอนแมกไซไซ (Ramon Magsaysay Award) ประจำปี 2567 เมื่อวันที่ 31 ส.ค. ที่ผ่านมา

อนึ่ง รางวัลแมกไซไซ เป็นรางวัลที่มอบให้กับผู้มีผลงานดีเด่นต่อมนุษยชาติในทวีปเอเชีย ซึ่งมีการเริ่มให้รางวัลตั้งแต่ปี 2500 (ค.ศ. 1957) เพื่อระลึกถึงคุณความดีและความตั้งใจของประธานาธิบดีรามอน แมกไซไซ แห่งประเทศฟิลิปปินส์ โดยในปี 2567 มูลนิธิรางวัลแมกไซไซได้คัดเลือกผู้มีผลงานดีเด่นเข้ารับรางวัลจำนวน 5 รางวัล ให้กับ Karma Phuntsho จากภูฏาน, Miyazaki Hayao จากญี่ปุ่น, Nguyen Thi Ngoc Phuong จากเวียดนาม, Farwiza Farhan จากอินโดนีเซีย และขบวนการแพทย์ชนบท จากประเทศไทย โดยจะมีพิธีมอบรางวัลในวันที่ 16 พ.ย. 2567 ที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์

“ขบวนการแพทย์ชนบทกับการพัฒนาระบบสุขภาพไทย”

นอกจากนี้ยังมีเวทีเสวนาเรื่อง “ขบวนการแพทย์ชนบทกับการพัฒนาระบบสุขภาพไทย” โดย นพ.วิชัย โชควิวัฒน คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ในฐานะอดีตประธานกรรมการมูลนิธิแพทย์ชนบท และอดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท เปิดเผยว่า สิ่งที่ขบวนการแพทย์ชนบททำคือ Movement ไม่ใช่ Establishment เพราะ Movement จะเป็นการทำเพื่อบรรลุเป้าหมาย อุดมการณ์ แตกต่างจาก Establishment ที่จะทำไปเพื่อเชิดชูองค์กร โดยเป้าหมายอุดมการณ์หลักที่เรายึดถือคือการสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำระหว่างพื้นที่เมืองหลวงกับชนบท ซึ่งนี่เป็นจุดหลอมรวมสำคัญที่ทำให้ทุกคนเข้ามารวมตัวกันทำงานเพื่อบรรลุเป้าหมายนั้น แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าตัวบุคคลก็มีความสำคัญ เช่น ศ.นพ.ประเวศ วะสี ที่มีบทบาทหลักในการหลอมรวมทุกฝ่ายเข้ามาทำงานร่วมกัน

"หนึ่งในผลงานรูปธรรมคือการผลักดันให้เกิดระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง ที่ประเทศไทยเริ่มต้นด้วยการมีค่าใช้จ่ายต่อหัวเพียง 30 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ในเวลาเดียวกันนั้นสหรัฐอเมริกามีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพต่อหัวอยู่ที่ 12,500 ดอลลาร์ ซึ่งนี่เป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้นและได้รับการกล่าวถึงเรื่อยมา" นพ.วิชัย กล่าว

ด้านนพ.ชูชัย ศุภวงศ์ ประธานกรรมการมูลนิธิแพทย์ชนบท กล่าวว่า ยุทธศาสตร์สำคัญในการทำงานของขบวนการแพทย์ชนบท ไม่ว่าภายใต้มูลนิธิแพทย์ชนบท หรือชมรมแพทย์ชนบท คือการเป็น NGOs (Non-Governmental Organizations) ที่อาศัยทรัพยากร และมีโครงสร้างทับซ้อนกับ GO (Government organization) คือกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แต่ทำงานบนเป้าหมายเดียวกันคือ “ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง” ซึ่งเป็นพระราชปณิธานของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรมพระบรมราชชนก ซึ่งถามว่าจะมี NGOs ใดบ้างในประเทศหรือในโลก ที่มีโครงสร้างทับซ้อนกับ GO และมีอิสระต่อกัน แต่สามารถทำงานร่วมกันได้แบบนี้ และทำงานร่วมกันมาตลอดเกือบ 5 ทศวรรษ

"รางวัลแมกไซไซ เชื่อว่าจะเป็น Soft Power ที่เป็นพลังช่วยขับเคลื่อนการปฏิรูประบบสุขภาพปฐมภูมิในประเทศไทยให้ประสบผลได้ในอนาคตอันใกล้ และสามารถที่จะแลกเปลี่ยนหรือขยายผลไปถึงประเทศข้างเคียงได้ด้วย" นพ.ชูชัย กล่าว

 

ด้านนพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอนแก่น ในฐานะอดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า ขบวนการแพทย์ชนบทถือเป็นการรวมตัวกันด้วยจิตวิญญาณอย่างแท้จริง ซึ่งส่วนตัวมีความประทับใจนับตั้งแต่จุดเริ่มต้นที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในฐานะแพทย์ชนบทคนหนึ่ง หลังจากจบออกมาแล้วต้องไปทำงานอยู่คนเดียว ความรู้ที่เรียนมายังไม่แข็ง แต่ต้องไปคุมระบบทั้งโรงพยาบาล ทำทุกอย่างในระดับชุมชน ซึ่งก็ได้องคาพยพเครือข่ายแพทย์รุ่นพี่ที่เข้ามาช่วยกัน แม้เราจะเป็นกลไกเล็กๆ ในระบบการบริหารที่มีอำนาจต่ำที่สุดใน สธ. แต่ก็สามารถช่วยกันขยับขยาย นำความคิดออกมาขับเคลื่อนการปฏิรูประบบสุขภาพให้เกิดขึ้น

“ปัจจุบันปัญหาหลายอย่างก็ยังคงอยู่ ไม่ว่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำ หรือการคอร์รัปชัน ซึ่งตราบใดที่ปัญหาเหล่านี้ยังไม่หมดไป ขบวนการเคลื่อนไหวของแพทย์ชนบทก็ยังมีความจำเป็นต้องคงอยู่ อาจมีการปรับวิธีการไปตามช่วงเวลา แต่องค์ประกอบยังต้องอาศัยทั้งความเก่งและความกล้า กล้าในการที่จะออกมาเผชิญกับความท้าทาย รวมถึงแรงเสียดทาน เพราะสิ่งที่เราทำหลายอย่างเป็นการมองนอกกรอบ ซึ่งกลายเป็นความท้าทายที่ทำให้ผู้ใหญ่อาจไม่เข้าใจว่าทำไมจึงไม่ทำตามแนวทางที่เขากำหนด” นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าว

ผลงานสำคัญระบบสุขภาพอย่างน้อย 6 ฉบับ

ขณะที่ นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสะบ้าย้อย จ.สงขลา ในฐานะประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า ขบวนการแพทย์ชนบท เป็นการรวมความคิดจากกลุ่มเครือข่ายไม่ว่าจะสหพันธ์ ชมรม หรือแพทย์ที่ทำงานในชนบท รวมทั้งกลุ่มต่างๆ อย่างกลุ่มสามพราน ที่เปรียบเสมือนวง Think Tank ของการขับเคลื่อนการปฏิรูประบบสุขภาพ ที่มีเป้าหมายหลักเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และต่อสู้กับคอร์รัปชัน โดยมีผลงานที่ก่อให้เกิดกฎหมายสำคัญในระบบสุขภาพอย่างน้อย 6 ฉบับ คือ 

-พระราชบัญญัติควบคุมยาสูบ 2 ฉบับ
 

-พระราชบัญญัติ สสส. พ.ศ.2544
 

-พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545
 

-พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550
 

-พระราชบัญญัติระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. 2562 
 

-ระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พอช.) 

นอกจากนี้ ยังกำเนิดหน่วยงาน ส. ต่างๆ ตลอดจน พ.ร.บ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ ล่าสุด ที่แสดงให้เห็นชัดว่านี่เป็นขบวนการทางความคิดที่สามารถสร้างรูปธรรม ผลักดันการทำงานจากพื้นที่ไปสู่การขับเคลื่อนเชิงนโยบายที่มีผลไปทั่วประเทศได้ จึงเป็นเหตุผลที่รางวัลแมกไซไซให้ความสำคัญและเชิดชูเกียรติ และเป็นรางวัลที่มีความหมายสำหรับพวกเราทุกคน

“เรามีชุดความคิดที่เป็นเอกเทศ เวลาเราเห็นสิ่งที่ไม่ใช่ เราก็มักจะให้ความเห็นออกไป ซึ่งในช่วงตลอด 20-30 ปีหลังมานี้เราให้ความเห็นต่อสังคมเยอะ และหลายอย่างก็เป็นความคิดเห็นที่ไม่ค่อยตรงกับผู้ใหญ่ในบ้านเมือง หรือรัฐบาล จึงทำให้ขบวนการแพทย์ชนบทถูกมองว่ามีความเป็นการเมืองขึ้นมา แต่ความจริงแล้วเราให้ความเห็นในเชิงประโยชน์สาธารณะ บนพื้นฐานที่มีข้อมูลด้วยเพราะเราเองก็คือ NGOs ใน GO ที่อยู่ในระบบราชการ สามารถเข้าถึงทรัพยากรและข้อมูลได้หลายอย่าง นั่นเป็นจุดแข็งที่ทำให้ขบวนการนี้ขับเคลื่อนมาได้ยืนยาวถึง 50 ปี และมีบทบาทสำคัญในการปฏิรูประบบสุขภาพของประเทศเรื่อยมา” นพ.สุภัทร กล่าว

ทั้งนี้ ภายในงานยังได้มีการแถลงข่าว "ขบวนการแพทย์ชนบทไทยได้รับรางวัลแมกไซไซการเดินทัพทางไกล (๕๐ ปี) เพื่อคนจนจากชุมชนสู่นโยบาย A Long March for the Poor from Community to Policy" โดยนพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ประเทศไทยมีการปฏิรูประบบสุขภาพ (Health System Reform) ทำให้ประเทศไทยมีสุขภาพที่ดี มีชื่อเสียงขจรไปทั่วโลก โดยที่ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศที่ร่ำรวย แต่สามารถทำสิ่งที่ประเทศที่ร่ำรวยที่สุดยังทำไมได้ กระบวนการปฏิรูประบบสุขภาพ ได้สร้างองค์กรที่เป็นอิสระขึ้นมาช่วยกระทรวงสาธารณสุข ถึง 7 องค์กร ที่เรียกว่าองค์กรตระกูล ส. คือ 1. สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) 2. สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) 3. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) 4. สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 5. สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ) 6. สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ) 7. มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช) 

เมื่อร่วมกับ สธ. คือ กระทรวงสาธารณสุข จะเป็น องค์กร ส. ทั้ง 8 เป็นพลังมหาศาล ที่จะขับเคลื่อนเรื่องดี ๆ ต่อไปอีกได้