ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

"สมศักดิ์" ประชุมบอร์ดสุขภาพปฐมภูมิชุดใหม่ ไฟเขียวแผนขับเคลื่อน 12 จังหวัดต้นแบบปฐมภูมิเต็มพื้นที่ พร้อมเห็นชอบจัดทำบัญชีรายชื่อแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว เพื่อให้คนไทยมีหมอประจำตัว

เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2567 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ตนได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการระบบสุขภาพปฐมภูมิ ครั้งที่ 3/2567 โดยเป็นการประชุมครั้งแรกของคณะกรรมการระบบสุขภาพปฐมภูมิ ชุดที่ 2 หลังจากคณะกรรมการชุดแรกครบวาระ โดยกรรมการมีทั้งหมด 25 คน ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน กรรมการโดยตำแหน่ง 7 คน ได้แก่ ปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา อธิบดีกรมบัญชีกลาง เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม และเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ส่วนกรรมการที่มาจากการคัดเลือก 16 คน และรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นกรรมการและเลขานุการ

ซึ่งที่ประชุมได้เห็นชอบแต่งตั้งคณะอนุกรรมการตามมาตรา 12 พ.ร.บ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. 2562 เพื่อทดแทนคณะเดิมที่หมดวาระ โดยควบรวมคณะอนุกรรมการเดิม 8 คณะ เหลือ 5 คณะ ได้แก่ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิ คณะอนุกรรมการพัฒนาการจัดบริการสุขภาพปฐมภูมิ คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิกรุงเทพมหานคร คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบข้อมูลบริการสุขภาพปฐมภูมิ และคณะอนุกรรมการกฎหมาย

เห็นชอบแผนการขับเคลื่อนระบบสุขภาพปฐมภูมิ 4 ประเด็น

นายสมศักดิ์ เปิดเผยอีกว่า ที่ประชุมยังเห็นชอบแผนการขับเคลื่อนระบบสุขภาพปฐมภูมิในสถานการณ์ปัจจุบัน 4 ประเด็น ได้แก่ 1.การพัฒนาจังหวัดต้นแบบปฐมภูมิเต็มพื้นที่ เขตสุขภาพละ 1 จังหวัด รวม 12 จังหวัด ได้แก่ แพร่ ตาก อุทัยธานี สระบุรี ราชบุรี ตราด ร้อยเอ็ด อุดรธานี สุรินทร์ ยโสธร ระนอง และพัทลุง โดยมีการขึ้นทะเบียนหน่วยบริการปฐมภูมิเต็มพื้นที่ ทำแผนกำลังคนปฐมภูมิในมิติการผลิต การพัฒนาและการรักษาไว้ในระบบ ค่าตอบแทนและความก้าวหน้า เพิ่มหลักสูตรอบรมแพทย์เฉพาะทางสาขาหลัก (สูตินรีเวช ศัลยกรรม อายุรกรรม กุมารเวชกรรม และเวชศาสตร์ป้องกัน) เพื่อขึ้นทะเบียน เป็นต้น

2. การจัดบริการสุขภาพปฐมภูมิตามหลักเวชศาสตร์ครอบครัว ทั้งโรคไม่ติดต่อ (NCDs) สุขภาพจิต สมุนไพร และพัฒนาคุณภาพมาตรฐานของหน่วยบริการปฐมภูมิและเครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิ 3.การพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับจัดบริการแพทย์คู่ประชาชน ระบบข้อมูลกลางและแนวทางการส่งข้อมูล และ 4.การเงินการคลังเพื่อการจัดบริการปฐมภูมิ โดยจะศึกษารูปแบบการจ่ายค่าบริการทางการแพทย์สำหรับหน่วยบริการปฐมภูมิ และประสานความร่วมมือกับกองทุนต่างๆ

นอกจากนี้ ยังเห็นชอบการทำบัญชีรายชื่อแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวและคณะผู้ให้บริการสุขภาพปฐมภูมิในระบบขึ้นทะเบียนหน่วยบริการปฐมภูมิและเครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิคู่กับประชาชน เพื่อเร่งรัดการดำเนินการลงทะเบียนให้ประชาชนคนไทยมีหมอประจำตัวตามที่ พ.ร.บ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ กำหนด และมอบให้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประสาน สปสช. ในการเชื่อมโยงข้อมูลแพทย์กับประชาชน และประสานสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง ให้คนไทยมีแพทย์ประจำตัว

“รวมถึงยังรับทราบสรุปผลการดำเนินงานภายใต้ พ.ร.บ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. 2562 ซึ่งมีกฎหมายรองที่ต้องออก 34 ฉบับ มีแผนปฏิบัติการด้านระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. 2564-2575 ใน 5 ยุทธศาสตร์ มีการจัดตั้งหน่วยบริการปฐมภูมิและเครือข่าย 4,101 หน่วย มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวร้อยละ 41.16 และมีการพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศ เช่น ระบบลงทะเบียนหน่วยบริการปฐมภูมิและเครือข่าย พัฒนาโปรแกรม PCU Standard สำหรับจัดเป็นข้อมูลพื้นฐานและข้อมูลการประเมินคุณภาพมาตรฐานของหน่วยบริการ“ รมว.สาธารณสุข กล่าว