ชมรมนักวิชาการสาธารณสุข เห็นด้วย "กฎหมายแยกตัวออกจาก ก.พ." ชี้ไม่กระทบข้าราชการรพ.สต.ในท้องถิ่น ย้ำควรดูแลตั้งแต่ระดับปฐมภูมิ ทั้งเรื่องกำลังคน งบประมาณ สวัสดิการและขวัญกำลังใจ แก้ปม "ภาวะสมองไหล" ระบุ 4 ประเด็นหลัก อาทิ สายงานที่เกิดขึ้นใหม่-การบริหารจัดการ-สัดส่วนคณะกรรมการ แนะควรมีสัดส่วนเท่าเทียมกันทุกวิชาชีพ 

หลังจากที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) จัดทำ(ร่าง) พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการสาธารณสุข พ.ศ. หรือร่างกฎหมายแยก สธ. ออกจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) โดยเปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์  LAW ระบบกลางทางกฎหมาย  ตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม จนถึงวันที่ 1 สิงหาคม 2567 นั้น

ล่าสุดเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2567 นักข่าว Hfocus ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ “ริซกี สาร๊ะ” เลขาธิการชมรมนักวิชาการสาธารณสุข (ประเทศไทย) เกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ทางชมรมฯ เห็นด้วยในเรื่องของการแยกตัวออกจาก ก.พ. แต่ว่าที่ผ่านมาการดำเนินการมีปัญหาหลายครั้ง บางครั้งก็เข้าสู่กระบวนการแต่ว่าก็ตกไป หรือบางครั้งก็ตั้งต้นมาแล้วก็ไม่ถึงฝั่ง จึงคาดหวังว่าครั้งนี้ท่านรัฐมนตรีดําเนินการเองน่าจะบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ ทั้งนี้ในส่วนของชมรมฯ ก็มีความเห็นในหลายประเด็นของร่างกฎหมายแยกตัวออกจาก ก.พ. ประเด็นที่ 1 เรื่องสัดส่วนคณะกรรมการ   คือคณะกรรมการอยากให้มีสัดส่วนแต่ละวิชาชีพอย่างทัดเทียมกัน ทั้งสัดส่วนสายงานที่มึใบประกอบวิชาชีพ สัดส่วนสายงานต่างๆที่มีใบประกอบโรคศิลป์  สัดส่วนสายสนับสนุน ให้คำนวณให้มีสัดส่วนเท่าเทียมกัน หรือหากจะมีการคัดเลือกตัวแทนในแต่ละสัดส่วน ก็ควรวางหลักเกณฑ์ เงื่อนไข แนวทาง ขั้นตอนให้มีการหมุนเวียนให้ครบทุกวิชาชีพ ทุกสายงาน ไม่ใช่ว่ามีสัดส่วนตัวแทนชาชีพใดวิชาชีพหนึ่งมากเกินไปในคณะกรรมการ

ประเด็นที่ 2 เสนอให้ตัดสัดส่วนของผู้บริหาร คือ สัดส่วนกรรมการที่เป็นแพทย์ ควรมีแค่ปลัดกระทรวงในฐานะผู้บริหารเท่านั้น และตัดอธิบดีกรมทุกกรมออก เพราะว่ากระทรวงสาธารณสุขมีหลายวิชาชีพ แต่ว่าในส่วนของอธิบดีกรมส่วนใหญ่จะเป็นแพทย์ทั้งนั้น จึงอยากให้ในส่วนของกรรมการเป็นของทุกวิชาชีพ ซึ่งตอนนี้มีประมาณ 8 วิชาชีพ และสัดส่วนที่มีใบประกอบโรคศิลปะ และสายสนับสนุนที่สําคัญอีกหลายสายงาน ดังนั้น การคัดเลือกควรวางสัดส่วนให้ดีและเหมาะสม ตอนนี้ที่กําหนดไว้ คือสายวิชาชีพ 6 กับสายสนับสนุน 6 ตรงนี้ไม่แน่ใจว่าคํานวณจากอะไร ต้องมาดูว่าเป็นสายสนับสนุนกี่สายงาน สายวิชาชีพกี่สายงาน สายประกอบโรคศิลปะมีกี่สายงาน  ต้องพิจารณาว่าแต่ละสายงานจะสามารถสนับสนุนภารกิจของกระทรวงสาธารณสุขที่จะแยกตัวออกมาได้มากน้อยเพียงไหน 

การเพิ่มขวัญกำลังใจ การบรรจุ การปรับตำแหน่ง ควรมีสัดส่วนของทุกวิชาชีพทุกสายงาน

ประเด็นที่ 3 เรื่องสายงานที่เกิดขึ้นใหม่ อย่างเช่น สายงานนักสาธารณสุข หรือสายงานนักฟิสิกส์การแพทย์ หรืออื่นๆ อยากให้มีขั้นตอนการเข้าสู่ตําแหน่ง การเลื่อนระดับ การได้รับค่าตอบแทน ฯลฯ ควรบริหารอย่างทัดเทียมกันทุกวิชาชีพ เพราะจะเห็นว่ากระทรวงสาธารณสุขปัจจุบันถ้าพูดถึงเรื่อง ขวัญกำลังใจบุคลากร เช่น การบรรจุ การปรับตำแหน่งชำนาญการพิเศษ และความก้าวหน้าอื่นๆ ก็จะมีข่าวแต่ในส่วนของ แพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ เภสัชกร เหล่านี้เป็นต้น ซึ่งการแยกตัวออกจาก ก.พ. นั้นเรื่องเหล่านี้ควรจะมีสัดส่วนของทุกวิชาชีพ ทุกสายงาน เพราะว่าในเมื่อบริหารเป็นเอกเทศแล้ว ต้องมองให้ครอบคลุมทุกวิชาชีพ ทุกสายงาน ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นว่าแยกตัวออกมาเพื่อบรรจุ หรือเลื่อนระดับที่สูงขึ้นแค่ไม่กี่สายงาน เช่นแพทย์ พยาบาล  เท่านั้น ซึ่งอาจทำให้เกิดประเด็นปัญหาความเหลื่อมล้ำเช่นเดิม เหมือนตอนที่ยังไม่แยกตัว

ประเด็นที่ 4 เรื่องการบริหารจัดการ ทั้งนี้ไม่แน่ใจว่าเมื่อแยกตัวออกจาก ก.พ. แล้วนั้น การบริหารจัดการระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จะเป็นในรูปแบบไหน เพราะว่างบประมาณส่วนใหญ่จะไปอยู่ที่ สปสช. แต่ว่ากระบวนการบริหารอยู่ที่กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งจำเป็นต้องวางระบบให้ดี และในสัดส่วนของสปสช. ก็ต้องซัปพอร์ตหน่วยงานทุกระดับในกระทรวงสาธารณสุขด้วย โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับทุกวิชาชีพ และการดูแลหน่วยงานในระดับปฐมภูมิด้วย

"อาจจะต้องมีการเยียวยาทุกกลุ่มทุกสายงาน ที่ได้รับผลกระทบในช่วงเปลี่ยนผ่านด้วย เช่น กลุ่มที่มีการเปลี่ยนตําแหน่ง การเปลี่ยนสายงาน การเลื่อนระดับที่สูงขึ้น การประเมินผลงาน การบรรจุ หรือกลุ่มที่เงินเดือนตัน รวมทั้งประเด็นที่เป็นปัญหาอื่นๆที่อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน อาจจะต้องมีข้ออนุโลม ให้แต่ละสายงานแต่ละวิชาชีพด้วย เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบเช่นที่ผ่านมา เรื่องของสิทธิประโยชน์ต่างๆควรจะมากขึ้น ค่าตอบแทนมากขึ้น การบริหารจัดการงบประมาณอาจต้องบริหารมากขึ้น โดยอยู่ที่หลักความสมเหตุสมผลและก็ประโยชน์ที่ได้รับกับทางราชการและก็ประชาชน อันนี้ต้องมองให้ครอบคลุมทุกมิติ"  นายริซกี กล่าว

นอกจากนี้สิ่งสําคัญก็คือกลุ่มที่มีทักษะพิเศษของในแต่ละวิชาชีพ ทุกวิชาชีพสามารถที่จะเลื่อนระดับไปสู่ความก้าวหน้าที่สูงขึ้น ซึ่งกลุ่มทักษะพิเศษนี้มักจะพูดถึงแค่แพทย์ หรือบางวิชาชีพเท่านั้นในการที่จะเลื่อนระดับที่สูงขึ้น แต่อยากให้มองให้ครบทุกกลุ่ม ทุกวิชาชีพ ด้วย ในสายวิชาชีพ อาทิเช่น เทคนิคการแพทย์ กายภาพบำบัด นักรังสีการแพทย์ แพทย์แผนไทย นักสังคมสงเคราะห์ นักสาธารณสุข ฯลฯ  ในสายสนับสนุน อาทิเช่น นักวิเคราะห์แผนและนโยบาย นิติกร นักทรัพยากรบุคคล นักจัดการทั่วไป รวมถึงการเงิน บัญชี พัสดุ เป็นต้น ว่ามีคนที่มีความสามารถที่สามารถเลื่อนระดับด้วยทักษะพิเศษ ด้วนผลงานวิจัย โดยที่อาจจะไม่ใช่การเลื่อนระดับในสายบริหารอย่างเดียว จะได้มองกลุ่มต่างๆอย่างครอบคลุมและเป็นธรรมด้วย

ควรปรับโครงสร้างในส่วนของรพ.สต.ให้เป็นหน่วยงานส่วนภูมิภาค

นายริซกี กล่าวต่อว่า ในส่วนเรื่องของเงินเดือน เงินประจำตําแหน่งของแต่ละสายงานแต่ละวิชาชีพนั้น เมื่อพูดถึงกระทรวงสาธารณสุขพอ เวลาจะปรับเงินเดือน เรื่องเงินประจำตําแหน่งกลายเป็นว่าเป็นการปรับเฉพาะกลุ่มเฉพาะวิชาชีพ ซึ่งถ้าจะปรับควรจะปรับทั้งโครงสร้าง  โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างในส่วนของรพ.สต.ให้เป็นหน่วยงานส่วนภูมิภาคด้วย เพราะว่าสัดส่วนของหน่วยงานภูมิภาคปัจจุบันสิ้นสุดแค่สสอ. ซึ่งสสอ.บางจังหวัดแทบไม่มีรพ.สต.ในสังกัดเลย เพราะถ่ายโอนไปอบจ.แล้ว เพราะฉะนั้นหากอยากรักษา รพ.สต. ในฐานะหน่วยบริการปฐมภูมิที่เหลือไว้ต้องปรับรพ.สต.ให้เป็นหน่วยงานส่วนภูมิภาคและยกระดับ ผอ.รพ.สต.ให้มีความก้าวหน้ามากกว่านี้ อีกทั้งต้องปรับภารกิจบทบาท และความก้าวหน้าของสสอ.ให้เหมาะสม และสอดคล้องกับนโยบายของสธ.กับรัฐบาลมากขึ้น 

เมื่อถามว่า การแยกตัวออกจาก ก.พ.จะมีผลต่อข้าราชการรพ.สต.ที่ทํางานกับท้องถิ่นหรือไม่อย่างไร นายริซกี กล่าวว่า  ไม่น่าจะกระทบกับข้าราชการรพ.สต.ในท้องถิ่น เพราะในท้องถิ่นตอนนี้ในเรื่องของสิทธิประโยชน์ ความก้าวหน้าชัดกว่ากระทรวงสาธารณสุข แต่ว่าถ้าสธ.ออกจากก.พ.แล้ว ถ้าสามารถปรับโครงสร้างของรพ.สต.ให้เป็นหน่วยงานส่วนภูมิภาคปรับสิทธิความก้าวหน้า ปรับเรื่องของงบประมาณ อัตรากําลัง อะไรต่างๆให้ให้ดีขึ้น ตนมองว่าท้องถิ่นเองก็อาจจะล้อตามในส่วนที่ดี  ในเรื่องของผลกระทบตอนนี้ยังไม่ชัด เพราะว่าในส่วนท้องถิ่นที่ถ่ายโอนก็เพิ่ง 2 ปี  ในส่วนการแยกตัวออกจาก ก.พ. นี้ก็ยังไม่ชัดเจนว่ารพ.สต.จะได้รับประโยชน์อย่างไรบ้าง

ปัญหาคนไหลออกจากระบบ

"เพราะฉะนั้น สิ่งที่อยากให้เกิดก็คือมีการแข่งขันในเรื่องของการบริการประชาชนในส่วนของ รพ.สต.ทั้ง 2 กระทรวง ไม่ว่าจะกระทรวงสาธารณสุขหรือหรือสังกัดท้องถิ่น ว่ามีการบริหารกําลังคน บริหารงบประมาณ และก็นโยบายที่เกิดประโยชน์ต่อประชาชน ถ้ามันมีการแข่งขันลักษณะนี้โดยที่บุคลากรเองก็มีขวัญกําลังใจมีเงินเดือนที่สูงขึ้น มีค่าตอบแทนที่เหมาะสม มีเรื่องของความก้าวหน้าที่ทัดเทียมกับวิชาชีพอื่น ก็จะทําให้การแยกตัวออกจาก ก.พ. มีความคุ้มคุ้มค่าและเกิดประโยชน์ทั้งต่อบุคลากร ประชาชน และกระทรวงฯ" นายริซกี กล่าว 

นายริซกี กล่าวทิ้งท้ายว่า การแยกตัวออกจาก ก.พ. ปัญหาสําคัญคือ คนในระบบไม่ว่าจะผลิตมามากน้อยแค่ไหนก็ไหลออก เพราะว่ามีปัญหาเรื่องของสิทธิความก้าวหน้า ค่าตอบแทน หรือภาระงานที่ไม่ได้รับการดูแลอย่างเป็นธรรม เพราะฉะนั้นถ้าออกจากก.พ.แล้ว จำเป็นต้องซัปพอร์ตทั้ง กำลังคน งบประมาณ สวัสดิการและขวัญกำลังใจ เพื่อทําให้เจ้าหน้าสามารถดูแลประชาชนได้มากขึ้น โดยยึดประชาชนเป็นหลัก ไม่ใช่ปล่อยให้แต่ละวิชาชีพ แต่ละสายงาน ขับเคลื่อนไปตามยถากรรม ตนมองว่าอยากให้ปรับตั้งแต่โครงสร้างระดับล่างจนถึงบน ก็คือรพ.สต.ขึ้นไป อยากให้ดูแลหน่วยงานระดับล่างให้มากกว่านี้ ซึ่งตอนนี้ยังเหลืออยู่ประมาณ 60% ที่ยังไม่ถ่ายโอนไป  คนกลุ่มนี้จะได้ไม่ไหลออก จากสธ.ไป สธ.เองก็ได้ประโยชน์จากปฐมภูมิ คนปฐมภูมิก็มีสิทธิมีความก้าวหน้าหรือค่าตอบแทนที่เหมาะสม ประชาชนก็ได้ประโยชน์จากการบริการที่ดี บุคลากรครบถ้วน มีการสนับสนุนดูแล งบประมาณ และอุปกรณ์ เครื่องมือที่สำคัญในการปฏิบัติงานอย่างเหมาะสม ครอบคลุม ถ้าการแยกออกจากก.พ. มีการดูแลหน่วยงานตั้งแต่ล่างขึ้นบนครอบคลุมทุกระดับ ก็จะเป็นคุณูปการแก่สังคมโดยรวม และประชาชนได้รับการบริการอย่างมีคุณภาพต่อไป