สหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงานถกมุมมอง ออกจาก ก.พ. ออกดีหรือไม่.. ด้านสส.ก้าวไกล เตรียมทำร่างกฎหมายแยกตัวออกจาก ก.พ. ประกบร่างพรบ.ของกระทรวงสาธารณสุข ยึดหลักสิทธิข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขต้องคุ้มครองไม่น้อยกว่า พ.ร.บ.แรงงาน ขณะที่สหภาพฯ จ่อจัดเวทีถอดประสบการณ์จากครู ต้นแบบออกจากกรอบ ก.พ.
ตามที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) จัดทำ(ร่าง) พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการสาธารณสุข พ.ศ. หรือร่างกฎหมายแยก สธ. ออกจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) โดยเปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์ LAW ระบบกลางทางกฎหมาย ตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม จนถึงวันที่ 1 สิงหาคม 2567 นี้
เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม น.ส.ชุตินาถ ชินอุดมพร สหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องนี้ ว่า สนับสนุนให้กระทรวงสาธารณสุข แยกตัวออกจาก ก.พ. แต่มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมกรณีร่างพ.ร.บ.ชื่อว่าระเบียบข้าราชการสาธารณสุข แม้จะมีกล่าวถึงทั้งสายวิชาชีพและสายสนับสนุน แต่อย่างกลุ่มลูกจ้างชั่วคราว หรือลูกจ้างรายวัน รายคาบจะมีการคุ้มครองด้วยหรือไม่ ทั้งๆที่กลุ่มนี้มีสวัสดิการ รายได้น้อยมากๆ จริงๆควรคำนึงถึงกลุ่มนี้กลุ่มแรกในแง่สวัสดิการที่ควรได้รับ
ประกอบกับโครงสร้างของร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา ที่เรียกว่า คณะกรรมการข้าราชการสาธารณสุข หรือ ก.สธ. ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าการคัดสรรตัวแทนจากฝ่ายวิชาชีพ หรือฝ่ายสนับสนุนเป็นอย่างไร ครอบคลุมคนปฏิบัติงานจริงๆ ที่สามารถสะท้อนปัญหาคนหน้างานได้จริงหรือไม่ อีกทั้ง คณะกรรมการชุดนี้มีสิทธิเสนอความคิดเห็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แต่รัฐมนตรีฯ จะรับฟังหรือไม่ก็ได้ สิ่งเหล่านี้จึงยังเป็นคำถามว่า คณะกรรมการชุดนี้จะขับเคลื่อนได้มากน้อยแค่ไหน เพราะสุดท้ายดูเหมือนจะอยู่ที่การพิจารณาของรัฐมนตรี
“แม้ร่างพ.ร.บ.นี้จะเขียนเรื่องการกำหนดอัตรากำลัง แต่ยังไม่มีเรื่องการกำหนดชั่วโมงการทำงาน ที่เกี่ยวกับภาระงานของบุคลากรเลย จริงๆอย่างคณะกรรมการชุดที่จะแต่งตั้งตามพ.ร.บ.ฯ ควรมีสิทธิหรือมีอำนาจแยกเด็ดขาดจากรัฐมนตรี และสัดส่วนคณะกรรมการควรมีผู้ปฏิบัติงานหน้างานจริงๆเข้าร่วมด้วย ทางสหภาพฯ กำลังพิจารณาว่าจะยกร่างพ.ร.บ.ฯ อีกฉบับประกบกับของสธ.ด้วย” น.ส.ชุตินาถ กล่าว
ทั้งนี้ ทางสหภาพฯ กำลังประสานเพื่อจัดเวทีพูดคุยวงเล็กๆ ผ่านระบบออนไลน์กรณีการแยกตัวออกจาก ก.พ.ของครู ซึ่งหากประสานได้จะแจ้งให้ทราบต่อไป
น.ส.ชุตินาถ ชินอุดมพร
สหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงานถกมุมมอง ออกจาก ก.พ. ออกดีหรือไม่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ สหภาพแพทย์ผู้ปฎิบัติงาน จัดเวทีผ่านออนไลน์ (ZOOM) เพื่อพูดคุยถึง ก.พ. อยู่ดีไหม หรือไปดีกว่า? โดยมีนายสหัสวัต คุ้มคง สส.พรรคก้าวไกล น.ส.ชุตินาถ ชินอุดมพร สหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน และน.ส.สุวิมล นัมคณิสรณ์ จากเครือข่ายพยาบาล Nurses Connect เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคมที่ผ่านมาโดยส่วนใหญ่มองว่า ร่างพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการสาธารณสุขฯ หรือร่างกฎหมายแยกตัวออกจากกฎหมายที่กำลังเปิดรับฟังความคิดเห็น มองว่า คนเข้ามาแสดงความคิดเห็นน้อย ทั้งๆที่บุคลากรในกระทรวงมีจำนวนมากกว่า 4 แสนคน และควรต้องเร่งรณรงค์ประชาสัมพันธ์มากกว่านี้
นายสหัสวัต คุ้มคง สส.พรรคก้าวไกล มองว่า การโปรโมทร่างพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการสาธารณสุข พ.ศ.ไม่ค่อยมีการประชาสัมพันธ์มากนัก ควรโปรโมทดีกว่านี้ อย่างไรก็ตาม ปัญหาบุคลากรสาธารณสุขมีมานาน อย่างพยาบาล ทำงานหนัก การบรรจุ ค่าตอบแทน ค่าเวรน้อยมาก ต้องเร่งแก้ไข รวมถึงการจ้างงาน ณ ปัจจุบันมีหลากหลายรูปแบบ หลายอย่างก็เอาเปรียบลูกจ้าง อย่างคนทำงานรัฐ เมื่อไม่ได้รับความสำคัญ ก็ทำให้คนหมดไฟ มองว่าร่างพ.ร.บ.นี้ หากมีคนที่มีผลจากกฎหมายไปแสดงความคิดเห็นเยอะๆจะดีมาก
“จริงๆ คนสาธารณสุขน่าสงสาร เพราะเหมือนโครงสร้างรัฐเป็นแบบนี้ สาธารณสุขที่มีหน้าที่เป็นปลายน้ำของสังคม อย่างไปเจอเรื่องอื่นมาแย่ สุขภาพพัง ก็มาเจอสาธารณสุข กลายเป็นคนสาธารณสุขต้องมาแบกตรงนี้ สุดท้ายคนทำงานหนัก ทุกอย่างมากองที่สาธารณสุข เหมือนเป็นถุงขยะ รับกรรม และกฎหมายแรงงานก็ไม่ได้ครอบคลุมคนทำงานทุกคน” นายสหัสวัต กล่าว
อย่างไรก็ตาม ตนเห็นด้วยกับการออกจาก ก.พ. เพราะบริหารจัดการจะสะดวกขึ้น แต่ตั้งคำถามเรื่องสัดส่วนคณะกรรมการข้าราชการสาธารณสุข (ก.สธ.) ว่า ผู้แทนคนทำงานสัดส่วนน้อยกว่า แต่คณะกรรมการโดยตำแหน่งที่เป็นข้าราชการกลับเยอะกว่า และอำนาจของก.สธ. ให้คำแนะนำรัฐมนตรีฯ แต่จะทำหรือไม่ทำก็ได้ แบบนี้จะตั้งขึ้นมาทำไม อย่างไรก็ตาม อยากให้ที่มาของคณะกรรมการมีสัดส่วนคนทำงานมากกว่านี้ และมีอำนาจมากกว่าแค่เสนอคำแนะนำต่อรัฐมนตรีฯ
“ส่วนตัวคิดว่าจะทำร่างพ.ร.บ.ประกบร่างของกระทรวงสาธารณสุขด้วย และเขียนว่าสิทธิของข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข ต้องคุ้มครองไม่น้อยกว่า พ.ร.บ.แรงงานฯ” นายสหัสวัต กล่าว
น.ส.สุวิมล นัมคณิสรณ์ จากเครือข่ายพยาบาล Nurses Connect กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ทางกลุ่มเคยไปหารือกับทาง ก.พ. แต่ได้รับแจ้งว่า ตัวกรอบบรรจุไม่เพียงพอสำหรับสายงานสาธารณสุข แต่ด้วยสถานการณ์ตอนนั้นมีพยาบาลไม่ได้บรรจุเป็นหลักหมื่นคน ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขก็มีความพยายามผลักดันบรรจุกว่าหมื่นตำแหน่ง อย่างไรก็ตาม พยาบาลมีคนจบปีละกว่าหมื่นคน แน่นอนว่า สธ.ไม่สามารถผลักดันได้บรรจุทุกปี เพราะยังมีการกำหนดกรอบจาก ก.พ.อยู่ ดังนั้น หากได้ออกจาก ก.พ. จะได้อิสระในการบรรจุตำแหน่งอัตรากำลังเอง ก็จะดีกว่า
“ความแตกต่างของคนได้รับบรรจุ กับไม่ได้บรรจุ แตกต่างกันมาก ทั้งเงินเดือน อย่างข้าราชการย่อมได้มากกว่าลูกจ้างชั่วคราวที่ใช้เงินบำรุง หรือเงินของรพ. และการเติบโต ความก้าวหน้า คนที่เป็นข้าราชการย่อมมีโอกาสกว่า ทั้งการเพิ่มพูนทักษะ การเรียนต่อป.โท ที่สำคัญสวัสดิการรักษาพยาบาลก็ต้องบอกว่า ข้าราชการดีและครอบคลุมมากกว่า อย่างกรณีพยาบาล หลายคนก็อยากมีความมั่นคง มีอะไรรองรับเมื่อวันหนึ่งเขาเจ็บป่วย หรือพ่อแม่เจ็บป่วย” น.ส.สุวิมล กล่าว
น.ส.ชุตินาถ ชินอุดมพร สหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน กล่าวว่า กระทรวงฯ มีหลากหลายวิชาชีพ มีการจ้างงานหลายรูปแบบ มีทั้งลูกจ้างเหมาบริการ เหมาชั่วโมง เหมารายเดือน การจ้างมีหลายวิธีมาก ที่สำคัญยังมีกลุ่มคนเปราะบางที่สุดในระบบสาธารณสุข คือ ลูกจ้างรายวัน ในโรงพยาบาล บางกลุ่มถูกจ้าง Outsource (เอ้าท์ซอร์ส) กลุ่มนี้ยังน่ากังวล และน่าติดตามว่า เมื่อออกจากก.พ. จะครอบคลุมพวกเขามากน้อยแค่ไหน ซึ่งตนสนับสนุนร่างกฎหมายแยกตัวออกจาก ก.พ. แต่อยากให้มีรายละเอียดเหล่านี้ให้ชัดเจน
- 3083 views