ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“ตรีชฎา” เผยประชาชน บุคลากรสาธารณสุข 93.2% หนุนร่างพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการสาธารณสุขฯ ข้อมูลถึง วันที่ 27 ก.ค.67 ยังมีเวลาถึง 1 ส.ค.นี้ เชิญชวนร่วมแสดงความคิดเห็น ร่างกฎหมายประโยชน์เพื่อคนสาธารณสุข แก้ปัญหาสะสม ทั้ง ‘อัตรากำลัง  ภาระงาน ความก้าวหน้า สมองไหล’

 

จากกรณีกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) จัดทำ(ร่าง) พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการสาธารณสุข พ.ศ. หรือร่างกฎหมายแยก สธ. ออกจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) โดยเปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์  LAW ระบบกลางทางกฎหมาย  ตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม จนถึงวันที่ 1 สิงหาคม 2567 นี้

ล่าสุดเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม น.ส.ตรีชฎา ศรีธาดา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ฝ่ายการเมือง ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องนี้ ว่า  จากกรณีนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เดินหน้าร่างกฎหมายดังกล่าว เพื่อประโยชน์และเกิดความคล่องตัวในการปฏิบัติงานของบุคลากรทุกคน ซึ่งหลังจากเปิดรับฟังความคิดเห็นตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา ข้อมูล ณ เวลา 09.00 น. ของวันที่ 27 กรกฎาคม   มีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นแล้ว จำนวน 45,369  คน เห็นด้วย 42,283 คน คิดเป็นร้อยละ 93.2 และไม่เห็นด้วย 3,086 คน คิดเป็นร้อยละ 6.8  ซึ่งจากการเปิดระบบจนถึงวันที่ 1 สิงหาคม เชื่อว่าจะมีผู้แสดงความเห็นมากกว่า 100,000 คน เนื่องจากเรื่องนี้จะมีผลต่อบุคลากรสาธารณสุขโดยตรง

น.ส.ตรีชฎา กล่าวอีกว่า ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยอาจยังไม่รู้ว่า หากบริหารจัดการตนเองจะเป็นอย่างไร แต่จริงๆ การมีกฎหมายของตนเอง ยกตัวอย่างกระทรวงกลาโหม ก็จะแก้ปัญหาต่างๆภายในกระทรวงได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการขาดแคลน ความก้าวหน้า ภาระงาน ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข เป็นกระทรวงที่มีบุคลากรจำนวนมาก และมีหลากหลายวิชาชีพ หากสามารถบริหารจัดการตนเองได้ ย่อมส่งผลให้การทำงานคล่องตัวมากขึ้น และส่งผลดีต่อการบริการประชาชน

“ตรงนี้จะตอบโจทย์ปัญหาของกระทรวงสาธารณสุขได้ อย่างก่อนหน้านี้มีปัญหาจุดไหน อาจต้องผ่านกระบวนการต่างๆ ค่อนข้างนาน  แต่หากเราบริหารได้เอง พื้นที่ไหนขาดแคลนวิชาชีพใด การบริหารจัดการ หรือจัดการอัตรากำลังก็จะง่ายขึ้น ที่สำคัญจะแก้ปัญหาสมองไหลต่างๆ ทั้งแพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรสาธารณสุขอื่นๆ รวมไปถึงค่าตอบแทน ภาระงาน เราก็จะทราบปัญหา และสามารถจัดการได้เอง” โฆษกสธ. กล่าว

จึงขอเชิญชวนประชาชน บุคลากรสาธารณสุข ทั้งในและนอกกระทรวงสาธารณสุข โดยเฉพาะคนในกระทรวงสาธารณสุข ขอให้มาร่วมแสดงความคิดเห็นร่างพ.ร.บ.ฯ ระเบียบข้าราชการสาธารณสุข พ.ศ. เพราะเกี่ยวข้องโดยตรง  สามารถเข้าไปที่เว็บไซต์ LAW และเว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุข (คลิกแสดงความคิดเห็น)   แสดงความคิดเห็นได้จนถึงวันที่ 1 สิงหาคมนี้ หลังจากนั้นกระทรวงสาธารณสุข จะรวบรวมข้อมูลทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง เสนอต่อรัฐมนตรีว่าการสธ. และเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ตามขั้นตอนต่อไป 

สาระสำคัญร่างกฎหมายแยก สธ.ออกจาก ก.พ.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ(ร่าง) พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการสาธารณสุข พ.ศ.. จัดทำขึ้น เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขมีความประสงค์ให้มีการบริหารงานบุคคลในรูปแบบคณะกรรมการที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านการแพทย์และสาธารณสุข และเข้าใจบริบทการปฏิบัติงานของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้การปฏิบัติงานมีความคล่องตัว และอิสระในการบริหารจัดการกำลังคนที่สอดคล้องเหมาะสม มีความเป็นเอกภาพในการบริหารงานบุคคลที่มีความหลากหลายวิชาชีพ และสามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากร ความก้าวหน้า ความเหลื่อมล้ำของวิชาชีพ ระบบค่าตอบแทน และสวัสดิการ และเพื่อยกระดับกฎเกณฑ์การบริหารงานบุคคลให้เหมาะสมกับบริบทการปฏิบัติงานของกระทรวงสาธารณสุข จึงจำเป็นต้องตรา พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการสาธารณสุข พ.ศ. ....   

แต่งตั้งคณะกรรมการข้าราชการสาธารณสุข หรือ ก.สธ.

โดยร่างพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการสาธารณสุข พ.ศ. .... ใช้บังคับกับข้าราชการสาธารณสุขทั้งสายงานวิชาชีพและสายงานสนับสนุน และให้มีการแต่งตั้ง “คณะกรรมการข้าราชการสาธารณสุข (ก.สธ.)” ในการกำหนดระเบียบกฎเกณฑ์ภายในกระทรวงสาธารณสุข ประกอบด้วย

        (1) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน

        (2) ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นรองประธาน

        (3) อธิบดีกรม หรือตำแหน่งเทียบเท่าในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข

        (4) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ไม่เกิน 3 คน

        (5) คณะกรรมการสายงานวิชาชีพจากการคัดเลือกกันเอง 6 คน

        (6) คณะกรรมการสายงานสนับสนุนจากการคัดเลือกกันเอง 6 คน

อำนาจหน้าที่ ก.สธ.

โดย คณะกรรมการข้าราชการสาธารณสุข (ก.สธ.) มีอำนาจหน้าที่ ประกอบด้วย

1. บรรจุ แต่งตั้ง โยกย้าย โอนข้าราชการสาธารณสุข

2. กำหนดตำแหน่ง จำนวนตำแหน่ง ปรับเปลี่ยนตำแหน่ง กรอบอัตรากำลัง อัตราเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง เงินเพิ่มพิเศษ

3. ออกกฎ ก.สธ. ข้อบังคับ ระเบียบ ข้อกำหนด ประกาศ หรือมีมติเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล

4. กำกับ ดูแล ตรวจสอบ แนะนำกระทรวงสาธารณสุข และส่วนราชการสังกัดกระทรวงสาธารณสุข

5. กำหนดนโยบายเกี่ยวกับการวางแผนกำลังคนในราชการกระทรวงสาธารณสุข

6. กำหนดการให้ทุนการศึกษา

7. พิจารณารับรองคุณวุฒิเพื่อบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการสาธารณสุข

8. จัดระบบทะเบียนประวัติข้าราชการสาธารณสุข

9. เสนอแนะและให้คำปรึกษาแก่คณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับนโยบาย มาตรฐาน และการจัดระบบระเบียบการบริหารงานบุคคลของข้าราชการสาธารณสุข

10. เสนอแนะและให้คำปรึกษาแก่คณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับค่าครองชีพ การจัดสวัสดิการ หรือประโยชน์เกื้อกูลสำหรับข้าราชการสาธารณสุข

11. กำหนดเรื่องการเพิ่มพูนประสิทธิภาพและเสริมสร้างแรงจูงใจ และความก้าวหน้าให้แก่ข้าราชการสาธารณสุข

12. กำหนดเรื่องการศึกษาเพิ่มเติม ฝึกอบรม ดูงาน หรือปฏิบัติการวิจัยในประเทศหรือต่างประเทศ

13. ตีความและวินิจฉัยปัญหาที่เกิดขึ้นเนื่องจากการใช้บังคับพระราชบัญญัตินี้

14. พิจารณาผู้ถูกสั่งลงโทษหรือถูกสั่งให้ออกจากราชการ เป็นต้น

เงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง เงินเพิ่มอื่นๆ

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า ที่น่าสนใจคือ ในร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว ยังมีประเด็น เงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และเงินเพิ่มอื่น การให้ได้รับเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และการเลื่อนเงินเดือน ระบุว่า  

มาตรา 36  อัตราเงินเดือน และอัตราเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการสาธารณสุข ให้เป็นไป ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง การให้ได้รับเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และการเลื่อนเงินเดือน ให้เป็นไปตามที่ ก.สธ.ประกาศ กำหนด  ทั้งนี้ เงินประจำตำแหน่งไม่ถือเป็นเงินเดือนเพื่อเป็นเกณฑ์ในการคำนวณบำเหน็จบำนาญ ตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ

มาตรา 37  ข้าราชการสาธารณสุข อาจได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษ และเงินเพิ่มอื่น ตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี

มาตรา 38  ข้าราชการสาธารณสุข อาจได้รับเงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราวตามภาวะเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ตามระเบียบที่ ก.สธ. กำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี

ข่าวเกี่ยวข้อง :

-“หมอเมธี” มองการผลักดันร่างกฎหมาย สธ.ออกจาก ก.พ. ตอบโจทย์ Pain Point กระทรวงสาธารณสุข

-สหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน ชวนแสดงความเห็นแยกตัวออกจาก ก.พ. ปมความก้าวหน้า ค่าตอบแทน ภาระงาน

-"สมศักดิ์" เร่งดันร่างกฎหมายแยกตัวออกจาก ก.พ. ให้เสร็จในปี 68

-“สมศักดิ์” ลงนามแก้ระเบียบสธ. ดึงเงินบำรุงรพ. สร้าง-ปรับปรุงบ้านพัก