ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สภาการสาธารณสุขชุมชน ผลักดัน "กฎหมายแยกตัวออกจาก ก.พ." หวังระบบสาธารณสุขก้าวไปข้างหน้า พร้อมเสนอ คัดเลือกคณะกรรมการข้าราชการสาธารณสุข ต้องมีสัดส่วนตัวแทนของทุกวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุข อย่างน้อย ๑ คน รวมถึงปรับระบบการบริหารบุคคลใหม่ โดยแยกสายบริหารออกจากสายวิชาชีพ

เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2567 นายพัทธพล อักโข โฆษกสภาการสาธารณสุขชุมชน ได้ให้ข้อมูลกับสำนักข่าว Hfocus เกี่ยวกับกฎหมายแยกตัวออกจาก ก.พ. ของกระทรวงสาธารณสุข โดยทางสภาการสาธารณสุขชุมชน นำโดย  รศ.ดร.วรพจน์ พรหมสัตยพรต นายกสภาการสาธารณสุขชุมชน ทั้งนี้ทางสภาการสาธารณสุขชุมชนได้เห็นความสำคัญและประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นและได้รณรงค์ให้นักสาธารณสุขและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการร่วมแสดงความคิดเห็นต่อ (ร่าง) พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการสาธารณสุข ตามที่กระทรวงสาธารณสุขได้เปิดการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน 

รศ.ดร.วรพจน์ พรหมสัตยพรต นายกสภาการสาธารณสุขชุมชน กล่าวว่า “การที่สภาการสาธารณสุขชุมชนเห็นด้วยกับร่างพระราชบัญญัตินี้ เป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่าระบบสุขภาพของประเทศไทยพร้อมที่จะปรับปรุงและพัฒนาระบบสาธารณสุขของเราให้ก้าวไปข้างหน้า ร่างพระราชบัญญัตินี้จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการสนับสนุนการทำงานของบุคลากรในวงการสาธารณสุขให้มีประสิทธิภาพและเป็นธรรม” การผลักดันร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการสาธารณสุขครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาระบบสาธารณสุขของประเทศไทย และเป็นการตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนที่ต้องการการบริการที่มีคุณภาพและมีมาตรฐานสูงสุด

ด้านรศ.ดร.วรางคณา จันทร์คง เลขาธิการสภาการสาธารณสุขชุมชน ให้ความเห็นว่า การมีพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการสาธารณสุข ที่บริหารงานบุคคลในรูปแบบคณะกรรมการที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านการแพทย์ สาธารณสุข เข้าใจบริบทการปฏิบัติงานของกระทรวงสาธารณสุข ส่งผลให้การทำงานมีความคล่องตัว สามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากร ความก้าวหน้า ความเหลื่อมล้ำของวิชาชีพ ระบบค่าตอบแทนและสวัสดิการ มีอิสระในการบริหารจัดการกำลังคนในการบริหารงานบุคคลที่มีความหลากหลายวิชาชีพ และฝากถึงผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขในการเปิดโอกาสให้ทุกวิชาชีพเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งเชื่อว่านักสาธารณสุขทุกคนพร้อมสนับสนุนพระราชบัญญัติฯ นี้

นายพัทธพล อักโข โฆษกสภาการสาธารณสุขชุมชน ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ประเด็นคณะกรรมการข้าราชการสาธารณสุข หรือเรียกโดยย่อว่า “ก.สธ.” อยากให้มีสัดส่วนตัวแทนของทุกสภาวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุข อย่างน้อยสภาวิชาชีพ ฯ ละ ๑ คน เนื่องจากคณะกรรมการทุกสภาวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุข ส่วนใหญ่มาจากระบบการเลือกตั้งของผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุขทั้งประเทศตามวิถีประชาธิปไตย เพื่อให้ทุกสภาวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุขได้มีส่วนร่วมในการพัฒนากำลังคนด้านสาธารณสุขให้มีประสิทธิภาพและเพื่อให้บริการสาธารณะของรัฐในด้านการแพทย์ และการสาธารณสุขให้กับประชาชนเป็นไปอย่างมีคุณภาพ

นอกจากนี้อยากเสนอให้เปลี่ยนแปลงระบบการบริหารบุคคลแนวใหม่ โดยแยกสายบริหารออกจากสายวิชาชีพ เช่นเดียวกับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่แยกสายผู้บริหารสถานศึกษากับสายครูผู้สอนชัดเจน และควรนำระบบการสอบคัดเลือกมาเป็นหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งทางการบริหาร เทียบเคียงกับการสอบคัดเลือกผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา หรือผู้อำนวยการสถานศึกษาและรองผู้อำนวยการสถานศึกษา เพื่อเปิดโอกาสให้บุคลากรสาธารณสุขทั้งสายงานวิชาชีพและสายงานสนับสนุนสามารถเจริญเติบโตในหน้าที่การงานอย่างเท่าเทียมกัน