"ผอ.รพ.กาญจนดิษฐ์" เผย ภาระงาน-การส่งต่อ-ศักยภาพรพ. ส่งผลให้หมอไม่อยู่รพ.ชุมชน ด้าน "หมอรัฐพล" ระบุ "โรงพยาบาลชุมชนคือโรงเรียนแพทย์ชีวิตจริง" ชี้ควรปรับ "ระบบมาตรฐานรพ.ชุมชน" พร้อมเสนอใช้  "Intern Journey" วิเคราะห์หมออินเทร์นว่าใน 3 ปี ต้องเจออะไรบ้าง ช่วยแก้ปม "หมอลาออก" 

เมื่อวันที่ 5 ส.ค. 2567 ที่ผ่านมา รศ.นพ.รัฐพล ตวงทอง รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และ นพ.เอกชัย มุกดาพิทักษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกาญจนดิษฐ์ ประธานคณะอนุกรรมการด้านกำลังคน คณะกรรมการพัฒนาโรงพยาบาลชุมชน เผยปัญหาและทางออกในการพัฒนารพ.ชุมชน ในเวทีเรื่อง “การสร้างความสุขและการคงอยู่ของแพทย์ในรพช.”    

โดย รศ.นพ.รัฐพล กล่าวว่า  ตอนนี้แพทย์เรียนจบ 3,000 คน ลาออก 1,000 คนคือ 1 ใน 3 ฉะนั้นต้องตั้งเป้าหมายใหม่ เช่น เหลือ 1 ใน 4 ทั้งนี้ตนมองว่าต้องแก้เป็นระบบ โดยการรับฟังเสียงจากคนทำงานในพื้นที่จริงๆ เพราะเสียงทุกเสียงมีคุณค่า แล้วดูว่าปัญหาเรื่องไหนมีเยอะ อย่างการใช้ กระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) คือ กระบวนการคิดเพื่อแก้ไขปัญหาหรือโจทย์ให้ถูกจุด  นอกจากนี้โรงเรียนแพทย์เราจะมีคําหนึ่งก็คือ "Student Journey" อยากเสนอให้นำมาปรับใช้กับแพทย์อินเทร์น หรือ "Intern Journey" ว่าใน 3 ปีนี้ต้องเจออะไรบ้าง ขอให้วิเคราะห์ตั้งแต่ตื่นนอน อาทิ บ้านพัก การเดินทาง สวัสดิการ อาหารเป็นอย่างไรบ้าง เรื่องนี้ต้องสำรวจกับแพทย์อินเทิร์นทุกรุ่น 

"อีกอย่างที่สำคัญคือ ผมมองโรงพยาบาลชุมชนว่าคือโรงเรียนแพทย์ชีวิตจริง เพราะฉะนั้นเราอาจจะต้องคิดถึงหลักสูตรหรือแนวทางการสอนใน 3 ปีของโรงเรียนแพทย์ชุมชน น้องๆเขาไป เขาไปด้วยจิตใจที่เขาอยากจะมีประสบการณ์เขาอยากจะได้การเรียนรู้ เขาไม่อยากจะไปในฐานะผู้ปฏิบัติงานอย่างเดียว ตรงนี้ผมก็คิดว่าเขาต้องเหนื่อย แต่เขาก็ไม่ได้สิ่งที่เขาต้องการอย่างประสบการณ์หรือทักษะต่างๆ ตรงนี้อาจจะต้องถึงเวลาแล้วที่ รพช.จะต้องมาเขียนหลักสูตรการแนวทางการสอน ว่าไปแล้วต้องผ่านอะไรได้อะไรและมีการติดตามเหมือนโรงเรียนแพทย์แห่งหนึ่ง มีการประเมินและให้ข้อมูลกับไป" รศ.นพ.รัฐพล กล่าว

 

ภาพจากมหาวิทยาลัยมหิดล คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล 

 

ควรปรับ "ระบบมาตรฐานโรงพยาบาลชุมชน"

รศ.นพ.รัฐพล กล่าวต่อว่า อีกอย่างที่ต้องมาปรับคือ "ระบบมาตรฐานโรงพยาบาลชุมชน" โดยอาจจะต้องเอาระบบคุณภาพเข้ามาจับโรงพยาบาลชุมชนทุกแห่ง เพราะนี่ถือเป็นวิกฤติ ตรงนี้อาจจะต้องมาดูมาตรฐาน และตรวจประเด็นว่าเส้นทางของการเป็นแพทย์อินเทร์นใน 3 ปี เป็นอย่างไรมีอะไรบ้างที่ควรจะมี หลักสูตรควรเป็นอย่างไร และสุดท้าย ในฐะนะที่เป็นครู ตนเชื่อว่ารพ.ชุมชน เหมือนโรงเรียนแพทย์ชีวิต

"ฉะนั้นอาจจะถึงเวลาแล้วที่อาจจะต้องเชิญ ท่าน ผอ.มาเรียนแพทย์ศาสตร์ศึกษา ซึ่งท่านอาจจะต้องเปลี่ยนสถานะที่เป็นครูและให้ความรู้ลูกศิษย์ในรพ.ชุมชนได้ ให้ความรักความเอ็นดู ให้เขารักรพ.ชุมชน และเชื่อว่าโมเมนตัมที่ลูกศรมันกําลังจะพุ่งไปสู่ระบบยังไม่เกิดนั้น มันจะวกกลับทําให้เด็กรักชุมชนอยู่ในชุมชนมากขึ้น ผมมองฝันว่าถ้าเราปรับจะทําให้ลดลงจาก 1 ใน 3 เหลือ 1 ใน 4 หรือเหลือสัก 10% ผมเชื่อว่าสาธารณสุขคือพี่ใหญ่" รศ.นพ.รัฐพล กล่าว

จุดแข็งของ รพ.ชุมชนคือ ใกล้ชิดกับประชาชนและผู้ป่วย

ด้าน นพ.เอกชัย กล่าวว่า จุดแข็งของการมีโรงพยาบาลชุมชนคือเป็นโรงพยาบาลที่ตั้งอยู่ในพื้นที่หรือในอำเภอซึ่งใกล้ชิดกับประชาชนหรือผู้ป่วย ทำให้การเข้าถึงบริการง่ายและสะดวก เพราะปัญหาสุขภาพส่วนใหญ่แล้วจะเป็นโรคที่ไม่ได้ยากเกินกว่าศักยภาพในการรักษาของแพทย์ในชุมชน รวมถึงโรงพยาบาลชุมชนยังสามารถเป็นที่พึ่งให้กับประชาชนในพื้นที่นั้นได้ ทั้งนี้นอกเหนือจากงานรักษาแล้วโรงพยาบาลชุมชนยังมีการส่งเสริมสุขภาพการคัดกรองเฝ้าระวังโรคให้กับชุมชนซึ่งตรงนี้เป็นส่วนสำคัญ การเฝ้าระวังโรคให้กับชุมชนป้องกันการเกิดโรคจำนวนมาก รวมถึงโรคระบาด และยังส่งเสริมสุขภาพคนให้มีความเข้มแข็ง ค้นหาโรคใหม่ๆที่ยังไม่แสดงอาการ เพื่อเข้าสู่กระบวนการรักษาที่เร็วขึ้น เช่น โรคเบาหวาน ความดัน ค้นหามะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งปากมดลูก นี่คือเป็นจุดที่สร้างความเข้มแข็งให้กับระบบสุขภาพในฐานะของโรงพยาบาลชุมชน

"จริงๆโรงพยาบาลชุมชนมีการพัฒนาศักยภาพหลายอย่างมากขึ้น แต่ส่วนที่ยังต้องการคือ แพทย์ที่จะเป็นผู้นำทีมในเรื่องของการจัดบริการสุขภาพในชุมชนยังไม่เพียงพอ ปัจจุบันโรงพยาบาลชุมชนกลายเป็นว่าแพทย์ที่ส่งมาทำงาน คือ แพทย์ที่จบใหม่ หรือเป็นแพทย์ใช้ทุน อยู่ 1-2 ปีก็ไป จึงขาดการทำงานที่ต่อเนื่อง ทั้ง การดูแลคนไข้ต่อเนื่องหรือการพัฒนางานด้านสาธารณสุข ซึ่งตรงนี้เป็นปัญหาสำคัญของโรงพยาบาลชุมชน"  นพ.เอกชัย กล่าว

ภาระงานเยอะ-เวลาพักผ่อนน้อย ส่งผลให้ "หมอไม่อยู่รพ.ชุมชน" 

นพ.เอกชัย กล่าวทิ้งท้ายว่า ถ้าถามว่าทำไมหมอถึงไม่อยู่โรงพยาบาลชุมชน มองว่า 1. แพทย์ที่จบมาใหม่ยังไม่เข้าใจบริบทของโรงพยาบาลชุมชนที่ดีพอ เพราะเนื่องจากเรียนในโรงพยาบาลใหญ่ โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป เพราะฉะนั้นการมาสัมผัสชุมชนก็เป็นประสบการณ์ใหม่ 2. ภาระงานที่ได้รับมากเกินไป ตรวจผู้ป่วยนอกในแต่ละวันก็เยอะ กลางคืนก็ต้องอยู่เวร ซึ่งระบบปัจจุบันคนไข้สามารถเข้าถึงบริการได้ทุกที่ทุกเวลาส่งผลให้กลายเป็นงานหนักเพิ่มขึ้น ทำให้มีเวลาพักผ่อนน้อย จึงทำให้หนีไปเป็นแพทย์เฉพาะทางมากขึ้น และ 3. ศักยภาพโรงพยาบาลชุมชนไม่สามารถรักษาโรคยากหรือปัญหารุนแรงได้ เพราะขาดความพร้อมในหลายๆอย่าง ทำให้ต้องส่งต่อ แต่ปัจจุบันการส่งต่อค่อนข้างมีปัญหาเพราะบางทีโรงพยาบาลก็ไม่รับส่งต่อ ซึ่งเป็นความอึดอัดใจของแพทย์ เพราะจะรักษาเองก็ไม่ได้ส่งต่อก็ไม่ได้