ย้อนความสำคัญ (ร่าง) พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการสาธารณสุข พ.ศ หรือกฎหมายแยก สธ.ออกจาก ก.พ. รอลุ้นเข้าครม. 3 ธ.ค.นี้ ส่วน(ร่าง) พ.ร.บ.อสม.ค่อนข้างยาก ติดประเด็นการตั้งกองทุน ยังต้องหารือกรมบัญชีกลาง

“ร่างกฎหมายที่น่าจะมีความคืบหน้าสุด คงเป็น (ร่าง)พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการสาธารณสุข พ.ศ. … ที่เป็นการแยกตัวออกมาจากคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน หรือ ก.พ. และมาดำเนินการผ่านคณะกรรมการข้าราชการสาธารณสุข หรือเรียกโดยย่อว่า ก.สธ.  คาดว่าจะนำเสนอสู่ ครม. ได้ในวันที่ 3 ธันวาคมนี้” นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงความคืบหน้าการผลักดันร่างกฎหมายฉบับต่างๆ โดยเฉพาะร่างกฎหมาย ก.สธ. ที่น่าจะคืบหน้าที่สุด

ร่างพ.ร.บ.อสม.ยังติดประเด็นตั้งกองทุน

ขณะที่ร่างพ.ร.บ.อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) พ.ศ. ก่อนหน้านี้คาดว่าจะเดินหน้าได้เร็วสุด แต่ปรากฎว่า ติดเประเด็นเรื่องการตั้งกองทุน ซึ่งต้องมีแหล่งงบประมาณ และมีรายละเอียดค่อนข้างมาก  ทำให้ต้องมีการหารือกับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  

นายสมศักดิ์ เคยเปรยว่า ร่าง พ.ร.บ.อสม. กฎหมายนี้กลายเป็นว่ายากกว่าที่คิด ตอนนี้ยังเป็นวุ้นอยู่เลย ยังติดระเบียบของกรมบัญชีกลางที่ยังไม่อนุมัติให้ผ่าน ที่ว่าจะหารือร่วมกับกระทรวงการคลังเกี่ยวกับการตั้งกองทุนอสม. เรื่องนี้ถูกถอดออกจากวาระประชุมเลยไม่ได้ไปหารือเรื่องนี้ ส่วน (ร่าง) พ.ร.บ.สุขภาพจิต พ.ศ.… ยังติดในเรื่องของการจัดตั้งกองทุนสุขภาพจิต ที่มาจากการยึดทรัพย์จากคดียาเสพติด แต่มีแนวโน้มดี อาจจะผ่านร่างกฎหมายได้เร็ว

“กฎหมายที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอไปมีความเกี่ยวข้องกับหลายกระทรวง  เมื่อออกกฎหมายไปละลานกระทรวงอื่น เขาก็ไม่เห็นด้วย มันเป็นธรรมดา ก็ต้องดูว่าเดินหน้าไม่ได้ ก็ต้องไปคุยดูว่าจบหรือไม่ ถ้าคุยไม่จบก็ต้องมาตั้งต้นใหม่ ต้องทำความเข้าใจกับคนมาก เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับประเทศ เกี่ยวข้องกับประชาชน จึงต้องรับฟังทุกความเห็น จะไปเอาแต่ใจไม่ได้“ นายสมศักดิ์ กล่าว

ความสำคัญของการผลักดันร่างกฎหมายแยกตัวออกจาก ก.พ.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการสาธารณสุข พ.ศ. …หรือ กฎหมายแยกสธ.ออกจาก ก.พ.นั้น ไม่ใช่ครั้งแรก มีการขับเคลื่อนมาตลอด แต่ที่ผ่านมาจะติดปัญหาจนไม่สามารถดำเนินการได้ อย่างไรก็ตาม ครั้งนี้เป็นอีกครั้งที่บุคลากรสาธารณสุข หลากหลายวิชาชีพต่างมีความหวัง และส่วนใหญ่สนับสนุนการแยกตัวออกจาก ก.พ. เพราะคาดหวังว่า จะแก้ปัญหาเรื่องบุคลากรได้อย่างแท้จริง เช่น การขออัตรากำลังคนที่สอดคล้องกับภาระงานจริงๆ เนื่องจากที่ผ่านมาไม่สามารถขอได้ในปริมาณที่เหมาะสม ทำให้เกิดภาระงานอย่างหนัก  

ดังนั้น เมื่อพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล ตั้งแต่สมัยนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว เป็นรมว.สาธารณสุข ก็มีการผลักดันเรื่องนี้ และมาถึง นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุขคนปัจจุบัน จึงสานต่อเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง โดยที่ผ่านมาตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม จนถึงวันที่ 1 สิงหาคม 2567 กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ได้เปิดแสดงความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการสาธารณสุข พ.ศ.   ผ่านเว็บไซต์ LAW ระบบกลางทางกฎหมาย  โดยร้อยละ 91 เห็นด้วยกับร่างกฎหมายฉบับนี้

ทั้งนี้ สำหรับเหตุผลสำคัญในการผลักดันให้มี พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการสาธารณสุข เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุข ประสงค์ให้มีการบริหารงานบุคคลในรูปแบบคณะกรรมการที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านการแพทย์และสาธารณสุข และเข้าใจบริบทการปฏิบัติงานของกระทรวง สธ.เพื่อให้การปฏิบัติงานมีความคล่องตัว มีอิสระในการบริหารจัดการกำกลังคนที่สอดคล้องเหมาะสม มีความเป็นเอกภาพในการบริหารงานบุคคลที่มีความหลากหลายวิชาชีพ สามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากร ความก้าวหน้า ความเหลื่อมล้ำของวิชาชีพ ระบบค่าตอบแทน และสวัสดิการ ยกระดับกฎเกณฑ์การบริหารงานบุคคลให้เหมาะสมกับบริบทการปฏิบัติงานของกระทรวง สธ. 

สำหรับโครงสร้างการบริหารงานที่มีคณะกรรมการข้าราชการ สธ. กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวง สธ.เป็นประธาน ปลัดกระทรวง สธ.เป็นรองประธาน, อธิบดีกรมหรือตำแหน่งเทียบเท่าในสังกัดกระทรวง สธ., กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิไม่เกิน 3 ราย, คณะกรรมการสายงานวิชาชีพจากการคัดเลือกกันเอง 6 คน และคณะกรรมการสายงานสนับสนุนจากการคัดเลือกกันเอง 6 คน  

ส่วนอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ เช่น บรรจุ แต่งตั้ง โยกย้าย โอนย้าย ขรก.สธ., กำหนดตำแหน่ง จำนวนตำแหน่ง ปรับเปลี่ยนตำแหน่ง กรอบอัตรากำลัง อัตราเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง เงินเพิ่มพิเศษ, กำหนดนโยบายเกี่ยวกับเกี่ยวกับการวางแผนกำลังคนในราชการกระทรวง สธ., เสนอแนะและให้คำปรึกษาคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับนโยบาย มาตรฐาน และการจัดระบบ ระเบียบการบริหารงานบุคคลของขรก. สธ, เสนอแนะและให้คำปรึกษาแก่คณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับค่าครองชีพ การจัดสวัสดิการ หรือประโยชน์เกื้อกูลสำหรับข้าราชการ สธ.ฯลฯ