"วงเสวนา" ถกประเด็น “การสร้างความสุขและการคงอยู่ของแพทย์ในรพช.” เผย เน้นสร้างบรรยากาศ สิ่งแวดล้อม และมิตรภาพที่ดีในที่ทำงาน ย้ำ! ค่าตอบแทน-ภาระงาน-ความเท่าเทียม เป็นปัจจัยช่วยดึง "หมอ" ให้อยู่ในรพ.ชุมชนได้

เมื่อวันที่ 5 ส.ค. 2567 ณ ศูนย์การประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี มีการจัดเวทีการประชุมวิชาการโรงพยาบาลชุมชน ประจำปี 2567  “โรงพยาบาลชุมชนเข้มแข็ง ระบบสุขภาพไทยยั่งยืน” (Strengthening Community Hospital for Sustainable Thailand Health System) 

ทั้งนี้ มีการจัดเวทีเสวนาเรื่อง “การสร้างความสุขและการคงอยู่ของแพทย์ในรพช.” โดยมี นพ.เกษม ตั้งเกษมสำราญ ที่ปรึกษาระดับกระทรวงหัวหน้าสำนักวิชาการ กระทรวงสาธารณสุข  รศ.นพ.รัฐพล ตวงทอง รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล นพ.ฑิณกร โนรี รองผู้อำนวยการกองบริหารการสาธารณสุข นพ.เอกชัย มุกดาพิทักษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกาญจนดิษฐ์ ประธานคณะอนุกรรมการด้านกำลังคน คณะกรรมการพัฒนาโรงพยาบาลชุมชน และ พญ.พัชรพร ห่วงภักดี ผู้แทนแพทย์ที่เคยลาออก ซึ่ง พญ.อภิสรา ธำรงวรางกูล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุบลรัตน์ เป็นผู้ดำเนินรายการ 

นพ.เกษม  กล่าวว่า เคยอยู่โรงพยาบาลชุมชนมา 24 ปี เนื่องจากชีวิตมีความหลากหลายมาโดยตลอด 5 ปีชีวิตก็เปลี่ยนมีเหตุการณ์ใหม่ๆเกิดขึ้น ทําให้ตนคิดว่าอันนี้อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทําให้อยู่โรงพยาบาลชุมชนได้ค่อนข้างนาน เพราะว่าการที่จะอยู่ที่ใดที่หนึ่งนานๆแล้วก็ลักษณะงานเดิมๆ อาจจะเบื่อ แต่การที่เราได้มีโอกาสเปลี่ยนแปลงชีวิตตนเองเรื่อยๆ เป็นสิ่งที่ทำให้ชีวิตเรามีเรามีสีสันและทำให้ได้สิ่งใหม่ๆกลับมา  และการเป็นผู้นําโรงพยาบาลชุมชนต้องยอมรับว่าเราเป็นหัวหน้าเต็มตัวจริงๆ มีคนบอกว่าจะมีที่ไหนให้งบประมาณมา 40 ล้าน ให้อีก 100 คนบริหารจัดการโดยที่เราไม่ต้องลงทุน ไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงเลยนี่คือตําแหน่งของ ผอ.รพ.ชุมชน อยากเป็นคนจัดสวนก็เป็นได้ อยากจะเป็นสถาปนิกก็ได้เป็น อยากเป็นนักบัญชีก็ได้เป็น อยากเป็นวิศวกรก็เป็น  อันนี้เป็นส่วนหนึ่งที่รู้สึกว่าเป็นความสุขของความหลากหลายในบริบทของโรงพยาบาลชุมชน  

"วันนี้ผมคิดว่าพี่ๆของโรงพยาบาลชุมชนทั้งหลาย แม้หลายท่านอาจจะเริ่มทยอยเกษียณกันแล้วหรือบางท่านก็ยังอยู่ เราขับเคลื่อนหลายเรื่องในการแก้ปัญหา ผมคิดว่าปัญหาในช่วงนั้นเลยที่เราเจอปัญหาเยอะที่สุดเป็นช่วงที่เศรษฐกิจดีก่อนวิกฤตเศรษฐกิจปี 40 ตอนนั้นสมองไหลเยอะ ก็ได้มีการคุยทั้งในเรื่องของระบบต่างๆที่แก้ไข และที่สําคัญมากคือ ประมาณปี 2008-2009 เรื่องของค่าตอบแทน ที่ตอนนั้นทำให้สามารถดึงบุคลากรอยู่โรงพยาบาลชุมชนได้ เราคงเข้าใจว่าปัจจัยสําคัญเรื่องของแพทย์ คือ เรื่องของรายได้ ดังนั้นในครั้งนั้นคิดว่าเป็นการแก้ปัญหาที่สามารถดึงน้องๆให้อยู่ได้จริงๆ แต่ว่าเหตุการณ์นั้นเมื่อระยะเวลาผ่านไป เราก็พบว่าเรื่องเงินก็เป็นปัจจัยจริงๆ" นพ.เกษม กล่าว

ความสมดุลของชีวิตเป็นปัจจัยสําคัญในการทำงาน

อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายปัจจัยที่เป็นเรื่องสําคัญ เช่น ความสมดุลของชีวิต บางครั้งไม่ใช่ว่าให้เงินอย่างเดียว ไม่ได้เป็นพื้นที่ที่ทำงานสนุกอย่างเดียว หรือมีเพื่อนร่วมงานที่ดีอย่างเดียว แต่อาจจะมีปัจจัยอื่นเหมือนกับที่น้องๆหลายคนที่ชีวิตอาจจะไม่มีความสมดุล ต้องยอมรับว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่การพัฒนากระจายไปได้อย่างไม่ทั่วถึง แต่ปัจจุบันตนมองว่าดีขึ้นเยอะ ตอนนี้คุณภาพชีวิตในโรงพยาบาลชุชมชนไม่ค่อยต่าง นอกจากเรื่องจากเรื่องการเดินทางเท่านั้นที่ต่าง ทั้งนี้เรายังคุยกันอยู่ว่าจะทําอย่างไรให้แพทย์อยู่โรงพยาบาลชุมชนได้นาน และมีความรู้สึกว่าอยากอยู่รพ.ชุมชนให้ครบ 2 ปีแล้วก็จากไปด้วยความประทับใจ ซึ่งมองว่าสิ่งสําคัญคือ การพัฒนาองค์กร การสร้างบรรยากาศโดยองค์กร การสร้างทีมขององค์กร บรรยากาศในการทำงาน ความใกล้ชิด การมีน้ำใจ การสร้างบรรยากาศสัมพันธภาพที่ดีในองค์กร รวมถึงมีระบบการประสานงานส่งต่อที่ดีระหว่างโรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาลจังหวัด  

"เชื่อว่าสิ่งเหล่านี้จะทําให้น้องรู้สึกว่าการเข้ามาอยู่ในรพ.ชุมชน มันมีความสุข มีความปลอดภัยดีกว่า แต่อีกอย่างนึงคือความสุขใจกับความรื่นรมย์ในการที่จะอยู่ร่วมกับบุคลากรในรพ.ชุมชน ซึ่งส่วนใหญ่ก็น่าจะเป็นกลุ่มเล็กๆที่ยังใกล้ชิดกันอยู่แล้วก็มีสัมพันธภาพที่ดี และสำคัญอย่าลืมในเรื่องของภาระงานที่ไม่หนักเกินไป รวมถึงเรามีทีมพยาบาลที่จะคอยพับพอร์ต เราคงยอมรับนะว่าอยู่กับชุมชนหมอไม่ใช่พระเอกคนเดียว เพราะมีพยาบาลเชี่ยวชาญมีประสบการณ์แต่ละด้านเป็นหลักให้กับโรงพยาบาลอยู่" นพ.เกษม กล่าวทิ้งท้าย

 

เด็กยุคใหม่เปลี่ยน วัฒนธรรมมีการปรับเปลี่ยน เด็กปัจจุบันเน้นความเท่าเทียม

ด้าน รศ.นพ.รัฐพล กล่าวว่า เมื่อเหตุการณ์เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ทั้งวิกฤตโควิด วิกฤติการเมืองต่างๆ วิกฤตหลายอย่างเข้ามาเริ่มตั้งคำถามแล้วว่าโรงเรียนแพทย์มีความสุขหรือไม่ เด็กจะออกไปหรือเปล่า เพราะเด็กยุคใหม่เปลี่ยน วัฒนธรรมมีการปรับเปลี่ยน เด็กปัจจุบันเน้นความเท่าเทียม เห็นด้วยว่าถ้าที่ไหนมีความสุขถามว่าจะออกไหมก็คงไม่ออก ฉะนั้นเชื่อว่า ถ้าโรงพยาบาลชุมชนทําให้น้องอินเทิร์นรัก และชุมชนใส่ใจมากพอจะสามารถดึงไว้ได้

ต่อมาก็คือต้องมีการปรับอะไรบ้าง อย่างเช่น 1. รพ.ศิริราชเราความสําคัญกับคําว่า engagement  เราจึงได้ชวนน้องคุยและรู้ว่าสิ่งที่น้องๆสะท้อนมาคือ "การที่เสียงของเขาเป็นเพียงเสียงน้อยๆและไม่ได้รับการตอบสนองอย่างทันท่วงทีตามที่ปารถนา" อันนี้สําคัญมาก เพราะฉะนั้นสิ่งที่ต้องปรับคือ "ระบบการรับฟังเสียง" ซึ่งปัจจุบันนี้มี 9 ช่องทาง ตั้งแต่เคาะประตูหย่อนกล่องตัวสแกนคิวอาร์โค้ด และทุก 2 อาทิตย์ สโมสรจะมีการเข้ามา voice sing กับผู้อํานวยการโรงเรียนแพทย์ ฉะนั้นจุดแรกเลยคือ "เปิดหูของผู้บริหาร" อันที่ 2. ความรวดเร็ว เด็กเจนเนอเรชั่นนี้เกิดมากับยุคที่ทุกอย่าง Tracking ได้ แต่ความเดือดร้อนพูดอะไรไปก็ไม่ได้รับการตอบสนอง ไม่รู้ว่าอยู่ถึงไหน ซึ่งรพ.ศิริราชจึงใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย อันนี้เป็นสิ่งที่เล็กน้อยแต่ว่ามันใหญ่ในใจของเด็ก อีกทั้งการบูลลี่ก็สำคัญ 

"ศิริราชคิดว่าเป็นเรื่องที่ปรับไม่ได้ แต่เชื่อหรือไม่ว่าเมื่อริมน้ำมันเขย่าบรรลังก์ของศิริราช อาจารย์ทุกคนลดอีโก้ลงชัดเจน ผมอยากให้เปิดใจฟังลูกศิษย์และรับฟังกันมากขึ้น  แต่ต่อไปเป้าหมายสุดท้ายคือความสุข เด็กต้องมีความสุขในโรงเรียนแพทย์ มีการปรับเรื่องการดูแลกายและใจให้ดีขึ้น และในตอนนั้นที่มีปัญหาหนักคือความเหลื่อมล้ำ น้องได้พี่ไม่ได้ ซึ่งเราต้องปรับเพื่อให้เกิดความเท่าเทียม " รศ.นพ.รัฐพล กล่าว

หมอพอหรือไม่... เพราะถ้าหมอน้อยงานเยอะ น่าจะเป็นสาเหตุทำให้ไม่มีความสุข   

นพ.ฑิณกร  กล่าวว่า เปลี่ยนตัวเองจากอาชีพหมอกลายเป็นนักวิชาการ อยากบอกว่าหมอมีความสุขไม่มีความสุข ตนคิดว่าสาเหตุอันนึงคือ หมอพอหรือไม่... เพราะว่าถ้าหมอน้อยงานเยอะ น่าจะเป็นสาเหตุที่ไม่มีความสุข กับหมอเยอะแล้วกระจายตัวดีหรือไม่ กระจายไปถูกที่หรือเปล่า เพราะอาจจะทำให้พื้นที่ที่หมอขาดแคลนไม่มีความสุข ถ้าถามว่าเมืองไทยเมื่อเทียบกับหมอประเทศอื่นเป็นอย่างไรนั้น หากเอาตัวเลขเทียบกันเราแย่กว่าประเทศอื่นเกือบทั้งหมด ในอาเซียนเองมีน้อยกว่ามาเลเชีย สิงคโปร์  10% แต่ในความน้อยของเราพบว่าผลลัพท์ด้านสุขภาพถือว่าไม่ได้แย่

"ที่ผ่านมาโรงพยาบาลอำเภอถูกพัฒนามาตลอด ผมเรียนแพทย์ตอนปี 2530 มีหมอประมาณ 800 คนทั่วประเทศ ฉะนั้นในช่วง 30 ปีของการพัฒนาระบบสุขภาพ การพัฒนาแพทย์ การพัฒนารพ.อำเภอ มันไปได้ไกลจริงๆ ยิ่งตัวเลขเข้าใจว่าหมอดีขึ้นเพราะตอนนี้มีปีละ 3,000 คน เราเติมหมอเป็นระบบมากขึ้นเรื่อยๆ จากอีสานที่เป็นสีแดงเมื่ออดีต มันกลายเป็นสีเขียวสีเหลืองซึ่งถือว่าดีขึ้น เราถามว่าแล้วหมอที่ไปอยู่โรงพยาบาลในจังหวัด อย่าง จ.เชียงใหม่ที่มีสนามบิน มีเครื่องมือครบ แล้วก็จังหวัดที่ไกลๆหน่อย เช่น หนองบัวลําภู มุกดาหาร น่าจะไปอยู่ยาก ดังนั้นจึงมีการศึกษาและพบว่า ปี 64 ปรากฏว่าดีขึ้น หมายถึงว่า ด้วยนโยบายบางอย่างของ สธ. ด้วยนโยบายบางอย่างของรัฐ การกระจายแพทย์ไม่ได้แย่ มีแพทย์อยู่ในระดับโรงพยาบาลต่างๆดีขึ้น" นพ.ฑิณกร  กล่าว

ขณะที่ นพ.เอกชัย กล่าวว่า 3-4 ปีที่ผ่านมาโรงพยาบาลชุมชนเปลี่ยนไปเยอะ บริบทหลายอย่างเปลี่ยน รพ.ชุมชนทุกวันนี้ถือว่าพัฒนาไปเยอะมาก หลายโรงพยาบาลมีความเจริญก้าวหน้า 1. บริบทการทํางานในรพ.ชุมชนส่วนใหญ่มีความพร้อมมากขึ้นมีสหวิชาชีพมากขึ้น  2. ในโรงพยาบาลชุมชนปัจจุบันว่ากันด้วยคุณภาพการทํางานมากขึ้นไม่เหมือนตอนที่เราจบใหม่ไปทํางานความรู้ติดตัวลุยได้หมดทุกอย่าง การตรวจในสมัยนั้นสามารถตรวจคนไข้ได้ 100 คน เพราะเขียนไม่เยอะ ซึ่งปัจจุบันนี้ไม่ใช่ในสถานการณ์ปัจจุบันไม่สามารถตรวจแบบนั้นได้แล้ว อันนี้เป็นเรื่องยากเพราะคือบริบทที่เปลี่ยนไป  และ 3. มองว่าความคาดหวังและความต้องการเข้าสู่แพทย์ปัจจุบันต่างกันกับในอดีต สมัยก่อนจากที่ได้เจอแพทย์รู้สึกดีใจ ให้อะไรได้แค่ไหนก็พอใจเพราะโอกาสการเข้าถึงยากไม่ค่อยมีทางเลือก แต่ทุกวันนี้ไม่ใช่

การเข้าสู่การเป็นหมอเต็มไปด้วยความคาดหวังและความเท่าเทียม

"เพราะการเข้าสู่การเป็นหมอเต็มไปด้วยความคาดหวังและความเท่ากันในมาตรฐานในคุณภาพในสิ่งที่เขาเปรียบเทียบกับที่ผ่านมา ฉะนั้นการทํางานตรงนี้มันเป็นการกดดันที่ทําให้การทํางานในรพ.ชุมชนยากมากขึ้น รพ.ชุมชนในอดีตขนาด 10 เตียง ก็ถือว่าผ่าตัดทำคลอดได้ แต่ปัจจุบันไม่สามารถทําได้  เพราะศักยภาพในการทำงานมีข้อจํากัดมากขึ้น ความสามารถหรือบทบาทของแพทย์ในการที่จะไปช่วยประชาชนถูกลดค่าลงเรื่อยๆ รักษาไม่ได้ก็ต้องส่งต่อ บริบททั้งหลายเหล่านี้มันทําให้การทํางานของแพทย์ในรพ.ชุมชนมีการเปลี่ยนแปลงไป" นพ.เอกชัย กล่าว

นพ.เอกชัย กล่าวต่อว่า อะไรเป็นสิ่งที่ทำให้แพทย์จะอยู่โรงพยบาลชุมชนได้ต่อ 1. มองว่าส่วนมากหลายคนต้องการที่จะเป็นแพทย์เฉพาะทาง เพราะฉะนั้นยังไงจํานวนส่วนใหญ่กับแพทย์โดยปัจจุบัน ไม่ได้อยู่โรงพยาบาลชุมชนแน่นอน เพราะต้องเรียนต่อ 2.ที่เป็นปัญหาสําหรับแพทย์รุ่นใหม่ คือ เรื่องของปริมาณงานที่ไม่เหมาะสม หรือการถูกเอาเปรียบ เช่นรุ่นพี่เอาเปรียรุ่นน้อง ซึ่งเมื่อก่อนอาจจะมีแต่ว่าไม่ได้คิดเล็กคิดน้อย  แต่เด็กรุ่นใหม่ต่างกันนิดเดียวก็ไม่ได้ ต้องเท่าเทียม ซึ่งอันนี้เป็นโจทย์ที่ต้องมาปรับแก้ อีกทั้งปัญหาการส่งต่อหลายจังหวัดพบว่ามีปัญหา แพทย์ถูกกดดันด้วยอะไรหลายๆอย่าง ความคาดหวังและความต้องการรักษา ปัญหาการฟ้องร้องเยอะ ตรงนี้หลายคนก็จะทนไม่ไหว ส่วนบรรยากาศการทํางานหรือการสนับสนุนที่ดีในระบบ อย่างถ้ามีพี่เลี้ยงหรือพี่ที่สนับสนุนดีก็ช่วยให้รุ่นน้องมีความสุขในการทำงาน