สภาองค์กรของผู้บริโภค เผยปัญหาใบส่งตัวผู้ป่วยบัตรทอง กทม.ยังไม่คลี่คลาย ตั้งแต่ 1 มี.ค.67 เหตุปรับเปลี่ยนวิธีการจ่ายเงิน ที่ผ่านมาต้องช่วยเป็นเคสๆ ซึ่งไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง ควรจัดระบบให้ได้มาตรฐาน ล่าสุดเตรียมจัดเวทีระดมทุกภาคส่วนหาแนวทางออกปัญหาการส่งต่อผู้ป่วยบัตรทอง กทม. ในวันที่ 29 มิ.ย. นี้ ที่ รร.เดอะบาซาร์ แบงค็อก

 

ปมใบส่งตัว 1ในเรื่องรับร้องเรียน

เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวถึงสถานการณ์ผู้ป่วยร้องเรียนผลกระทบที่ได้รับจากการบริการด้านสุขภาพ ว่า ที่ผ่านมาสภาฯ ได้รับเรื่องร้องเรียนภาพรวมเยอะมาก ทั้งสิทธิบัตรทอง ประกันสังคม สิทธิข้าราชการ สิทธิบุคคลผู้มีปัญหาสถานะ สิทธิเจ็บป่วยฉุกเฉิน 3 กองทุน ฯลฯ  อย่างสิทธิบัตรทองได้รับเรื่องร้องเรียนเข้ามารวม 3 ปี ตั้งแต่พ.ศ.2565-2567 รวม 1,572 ราย เฉพาะปี 2567 จนถึงตอนนี้อยู่ที่ 334 ราย  โดยลักษณะปัญหาส่วนใหญ่ที่พบในผู้ป่วยบัตรทอง คือ ไม่ได้รับความสะดวกตามสมควร ได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาล ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานการให้บริการสาธารณสุข ถูกเรียกเก็บเงินยานอกบัญชี  ค่ารักษาพยาบาลแพงเกินจริง ถูกเรียกเก็บค่าบริการนอกเวลา ระบบส่งต่อส่งตัวไม่ได้ เป็นต้น

“ประเด็นใบส่งตัวคลินิกบัตรทอง กทม.ที่ผู้ป่วยส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบนั้น มีการร้องเรียนเข้ามาเช่นกัน ยกตัวอย่าง แม่เป็นมะเร็ง เดิมรักษาที่รพ.ศิริราช แต่ขณะนี้กลับไม่สามารถเอาใบส่งตัวที่ศูนย์สาธารณสุขได้ รวมไปถึงคลินิกบัตรทองบางแห่งสร้างเงื่อนไขการออกใบส่งตัว เช่น จะออกใบส่งตัวเพียงวันละ 4 ใบ คนไข้ต้องมารับใบคิว โดยจะทำให้แค่ถึงเที่ยงวันเท่านั้น หรือบางแห่งตั้งรับบริจาคก็มี เพื่อให้ออกใบส่งตัว” น.ส.สารี กล่าว

ปัญหาตั้งแต่ปรับรูปแบบการจ่ายเงินตามข้อเรียกร้องก่อนหน้า

ต้องยอมรับว่า สิ่งที่เกิดขึ้นมาจากกรณีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ปรับเปลี่ยนรูปแบบการเบิกจ่ายเงินจากรูปแบบการจ่ายตามรายการ เป็นการเหมาจ่ายรายหัวตามข้อเสนอของคลินิกชุมชนอบอุ่นที่มีการเรียกร้องก่อนหน้านี้ โดยปรับรูปแบบการจ่ายเงินตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา แน่นอนว่าการจ่ายเงินมีผลต่อบริการ เพราะคลินิกรู้สึกว่ารูปแบบนี้ได้เงินน้อยลง อาจไม่คุ้มหากยิ่งมีการส่งต่อไปยังรพ. ทำให้ต้องจ่ายเงินสูงขึ้น ประกอบกับคลินิกมองว่ามีศักยภาพในการรักษา 

“จริงๆก็เข้าใจ สปสช.ที่พยายามปรับรูปแบบการจ่ายเงินให้เหมาะสม สิ่งสำคัญตอนนี้ต้องมาหาระบบร่วมกันให้เหมาะสม ทั้งหมดเป็นเรื่องมาตรฐานรักษา หากจำเป็นต้องส่งตัวก็ต้องทำ ไม่เช่นนั้นก็จะกระทบอาการเจ็บป่วยของคนไข้   ขณะเดียวกันต้องทำให้เกิดระบบการพัฒนาหน่วยบริการปฐมภูมิที่ได้มาตรฐาน และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ป่วย  อย่างหากเจ็บป่วยไม่มาก ไม่รุนแรง มั่นใจได้ว่ามารักษาที่คลินิก หรือหน่วยบริการปฐมภูมิได้ ไม่มีปัญหา แต่หากอาการรุนแรง หรือเป็นโรคที่ต้องรักษาใน รพ.ที่มีศักยภาพสูงขึ้น ก็ต้องส่งต่ออย่างไร้รอยต่อ ไร้ปัญหาจริงๆ” น.ส.สารี กล่าว

จัดเวทีสภาผู้บริโภคหาทางออก 29 มิ.ย.

เมื่อถามว่า ทางสภาฯ มีแนวทางในการช่วยเหลือผู้บริโภคอย่างไร น.ส.สารี กล่าวว่า ที่ผ่านมาเมื่อได้รับเรื่องร้องเรียน อย่างกรณีกทม. ก็จะประสานกับทางคลินิกโดยตรง หากสามารถช่วยเหลือได้ก็ดำเนินการทันที ยกเว้นว่าไม่สามารถทำได้ก็จะประสานต่อไปยัง สปสช.1330

“ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ควรแก้ไขเป็นเคสๆ แต่ควรทำระบบรองรับให้ดี ไม่เช่นนั้นประชาชนก็ได้รับผลกระทบไม่จบสิ้น ดังนั้น  ทางสภาองค์กรของผู้บริโภค จะจัดเวทีสภาผู้บริโภค เรื่อง แนวทางแก้ไขปัญหาการส่งต่อผู้ป่วยบัตรทองในกรุงเทพมหานคร เพื่อการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค ในวันที่ 29 มิถุนายนนี้ ตั้งแต่เวลา 09.00น.  ที่ห้องรัชดาภิเษก ชั้น 2 โรงแรมเดอะบาซาร์ แบงค็อก เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและแนวทางในการแก้ไขปัญหาการส่งต่อผู้ป่วยบัตรทองในกทม. โดยจะมีทั้งในส่วนของผู้รับบริการ ผู้ให้บริการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม” เลขาฯ สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าว