คลินิกชุมชนอบอุ่นน้ำตาตกกลางเวทีสภาผู้บริโภค ลั่นวิธีจ่ายเงินสปสช.ต้นเหตุ ด้านผู้ป่วยบัตรทองเผยผลกระทบใบส่งตัวทำกระทบหนัก ขณะที่ “หมอขวัญประชา” แนะ สปสช. ต้องเปลี่ยนกรอบแนวคิด อัตราเดียวจ่ายเหมือนกันทั่วประเทศไม่ได้! ปัญหาคนกทม. ไม่เหมือนตจว. เปลี่ยนโมเดล แต่ไม่ปรับการจ่ายเงินไม่แก้ปัญหาอย่างแท้จริง หากยึดโมเดลอุดมคติเหมือนภูมิภาค ต้องมีหน่วยงานรัฐอย่าง สธ.แบกรับขาดทุน
ยังเป็นปัญหาไม่จบสิ้น หลังการปรับรูปแบบการจ่ายเงิน “OP New Model 5” แบบเหมาจ่ายรายหัวและตามจ่ายกรณีส่งต่อตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2567 กลายเป็นคลินิกหลายแห่งประสบปัญหาทางการเงินอีก หลังจากก่อนหน้านี้ รพ.รร.แพทย์ที่รับดูแลก็ขาดทุน เป็นเรื่องอีรุงตุงนัง สุดท้ายประชาชนคนกรุงเทพฯได้รับผลกระทบตามที่ Hfocus เคยนำเสนอข่าวไปแล้วนั้น
ล่าสุดเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน ที่โรงแรมเดอะบาซาร์ แบงค็อก สภาองค์กรของผู้บริโภค จัดเวทีสภาผู้บริโภคประเด็น “แนวทางแก้ไขปัญหาการส่งต่อผู้ป่วยบัตรทองในกรุงเทพมหานครเพื่อการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค” โดยมีผู้เกี่ยวข้อง ทั้งผู้รับบริการ ผู้ให้บริการ และผู้แทนสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) เข้าร่วม ทั้งนี้ ภายในงานแจ้งว่าได้เชิญกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) เข้าร่วม แต่ไม่ได้มา
น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า ที่ผ่านมาสภาผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนด้านบริการสุขภาพจำนวนมาก อย่างกรณีสิทธิบัตรทอง ปี 2565 714 ราย ปี 2566 มี 524 ราย ปี 2567 จนถึงขณะนี้ 334 ราย รวม 1,572 ราย คิดเป็นร้อยละ 67.27 กรณีระบบการส่งต่อหรือส่งตัวไม่ได้รวมๆประมาณ 28 เรื่องตั้งแต่ปี 2565 จนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม กรณีผู้ป่วยบัตรทอง กทม. ที่เผชิญปัญหาเรื่องใบส่งตัว ไม่ได้รับความสะดวก หรือไม่ได้ถูกส่งตัวทั้งที่ต้องดำเนินการยังคงเป็นปัญหาไม่จบสิ้น ซึ่งกรณีนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) ดูมาตรฐานคลินิก และสปสช. ที่ดูแลคลินิกชุมชนอบอุ่น เนื่องจากเป็นคู่สัญญาโดยตรง ทั้งนี้ หากผู้ป่วยได้รับผลกระทบใดๆ สามารถมาร้องเรียนที่สภาฯ อย่าง มีผู้ป่วยบัตรทองบางเคสบอกว่า ถูกข่มขู่คุกคาม ขอให้ร้องเรียนมาที่สภาองค์กรของผู้บริโภคได้เช่นกัน
ผู้ป่วยบัตรทอง ชู 6 เรื่องปัญหาคลินิกบัตรทองกทม.
น.ส.ขนิษฐา อดิเทพสถิต ผู้แทนกลุ่มผู้รับบริการที่ได้รับผลกระทบ กล่าวว่า ผู้ได้รับผลกระทบร้องเรียนมาโดยตลอด ตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม ไปร้องเรียนตั้งแต่สมัย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว เป็นรมว.สาธารณสุข ครั้งที่ 2 ไปร้องเรียนให้กรุงเทพมหานครเปิดรับลงทะเบียนผู้ป่วยบัตรทองที่ศูนย์บริการสาธารณสุขในสังกัดเพิ่ม ต่อมาไปร้องเรียนรมว.สธ.ท่านใหม่ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม และครั้งที่ 4 ไปร้องเรียนผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสธ. จะเห็นว่าเราร้องเรียนมาตลอด
โดยภาพรวมของปัญหา อาทิ 1.ปัญหาการขอใบส่งตัว คลินิกชุมชนอบอุ่นหลายแห่งไม่ส่งตัวผู้ป่วยไปโรงพยาบาล มีการกำหนดเงื่อนไขการออกใบส่งตัว เช่น เชียนใบส่งตัวให้ใบละ 1 โรค เขียนให้ระยะสั้น ออกให้วันต่อวัน และกำหนดว่าวันละไม่เกิน 20 ใบ 2.ปัญหาโดนเก็บค่าบริการ โดยคลินิกขอเก็บเงินบริจาคแทนที่จะเก็บเงินค่าบริการ ส่วนรพ.มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งมีการเก็บค่าบริการ 50 บาทเพิ่ม โดยแจ้งว่า สปสช.ปรับลดค่าบริการที่เบิกได้จาก 100 บาทเป็น 50 บาท โดยเก็บค่าส่วนต่าง เช่น ค่าตรวจเลือด ค่า CT Scan เวชภัณฑ์ ค่ายานอกบัญชียาหลัก แม้ว่าไม่ได้ร้องขอแพทย์ เป็นต้น
3.ปัญหาการจัดหน่วยบริการให้ประชาชน ถือเป็นรากของปัญหา โดยสปสช.เป็นคนจัดหน่วยบริการให้ผู้ป่วยลงสิทธิเองหลักยกเลิกสัญญากับคลินิกเมื่อ 3 ปีก่อน ทำให้รพ.รับส่งต่อหน้าบัตรไม่ตรงกับรพ.ที่เคยรักษาต่อเนื่อง ขณะที่ศูนย์บริการสาธารณสุข(ศบศ.)ไม่เปิดรับลงทะเบียนผู้ป่วยรายใหม่ 4.ปัญหาสายด่วน 1330 ยังพบว่าเจ้าหน้าที่จับประเด็นปัญหาของผู้ป่วยไม่ได้ และตัดสินใจ ณ เวลานั้นไม่ได้ ทำให้ผู้ป่วยต้องรอ จนบางครั้งถอดใจยอมจ่ายค่าบริการหน้างาน อีกทั้ง ยังพบว่า เจ้าหน้าที่เปิดเผยข้อมูลผู้ป่วยที่ร้องเรียนกับหน่วยบริการโดนร้องเรียน จนผู้ป่วยไม่กล้าไปรับบริการ
5. เจ้าหน้าที่คลินิกเข้าถึงระเบียนประวัติผู้ป่วย โดยไม่ได้รับอนุญาต และโทรมาข่มขู่ฟ้องร้องผู้ป่วย บอกว่าให้เตรียมทนาย ไม่ต้องมาใช้บริการ จึงขอกำหนดมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด และ6.ปัญหาการเงิน สปสช.ให้อำนาจไปที่คลินิก จนประชาชนมีอำนาจต่อรองต่ำมาก เป็นต้น
คลินิกฯ น้ำตาตกกลางเวที เผยวิธีจ่ายเงินสปสช.ต้นเหตุ
น.ส.ปอขวัญ นาคะผิว ผู้แทนกลุ่มบริการ(คลินิกชุมชนอบอุ่น) ที่ได้รับผลกระทบ กล่าวว่า หลังจากยกเลิกวิธีการจ่ายเงินแบบโมเดล 5 ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคมจนถึงปัจจุบัน ทำให้การจ่ายค่าส่งต่อเป็นความรับผิดชอบของคลินิก แบ่งเป็น 2 แบบ คือ 1. คลินิกรับผิดชอบในงบฯ 800 บาทแรก และ2.สปสช.จะกันเงินงบเหมาจ่ายรายหัวของคลินิกไว้ประมาณ 30 บาทเพื่อจ่ายในส่วนเกิน 800 บาท โดยคลินิกได้รับเงินเหมาจ่ายรายหัวตามจำนวนประชากรที่เลือกลงทะเบียน ซึ่งก่อนจะหักค่าส่งตัว คลินิกจะได้เงินประมาณ 64.17 บาทต่อเดือน คิดว่าจะเพียงพอจริงหรือ ยังไม่รวมค่าหมอ ค่ายา ค่าแลป แบบนี้ไม่ไหว
“กรณีที่สปสช.กันเงิน ก็เป็นเงินของคลินิก เพราะหักไว้ก่อนกรณี 800 บาทแรกที่คลินิกจ่ายไม่พอ ก็เอาเงินของเรานั่นแหล่ะมาจ่าย ล่าสุด ที่ประชุม อปสข.ที่เพิ่งผ่านมาไม่กี่วัน มีมติให้หักเงินค่าหัวเหมาจ่ายเพิ่มจากคลินิกชุมชน 25 บาทต่อคนต่อเดือน จากที่ได้ 64.17 บาท ตอนนี้เหลือประมาณ 39 บาทต่อคนต่อเดือน แบบนี้คลินิกจะทำอย่างไร” น.ส.ปอขวัญ เล่าพร้อมน้ำตา อีกว่า สปสช.ควรแยกงบแต่ละส่วนให้ชัดเจน และขอความกรุณาทุกท่าน อย่ามองคลินิกเป็นนางมารร้ายทุกครั้งที่พูดถึงใบส่งตัว
ปัญหาคนกทม. ไม่เหมือน ตจว. จ่ายแบบเดียวทั่วประเทศไม่ได้
นพ.ขวัญประชา เชียงไชยสกุลไทย อนุกรรมการด้านบริการสุขภาพ สภาผู้บริโภค กล่าวว่า ตนยืนยันว่า กทม.ไม่เท่าชนบท ข้อที่ 1 คือ สปสช.ต้องเปลี่ยนกรอบแนวคิด อย่างกรอบที่คิดว่า อัตราเดียวใช้ได้ทั่วประเทศ แนวคิดนี้ต้องเลิก เป็นไปไม่ได้ อัตราเดียวจะเท่ากันทั่วประเทศ อย่างคนในหมู่บ้านจัดสรร การสร้างเสริมสุขภาพหรือ PP ต้องให้ความตระหนักรู้ อย่าง Health literacy เป็นไปได้หรือไม่ที่เขต 13 จะผันเงิน PP ส่วนหนึ่งมาใช้ในการรักษาพยาบาล ปัญหาคนกทม.ไม่เหมือนชนบท เอากรอบเดิมๆ ออกไป ต้องมีความยืดหยุ่นในการใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ อย่างชุดตรวจเอชไอวี ความจำเป็นอยู่ตรงไหน
“ปัญหาคนกทม. ไม่เหมือนชนบท ปัญหาคนกทม. คือ เรื่องรักษาพยาบาล ส่วนเรื่องส่งเสริมสุขภาพมีปัญหาเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ตรงนั้นเชื่อว่าศูนย์บริการสาธารณสุขดูแลอยู่ ชุมชนก็ให้ความร่วมมือ อะไรที่ไม่ใช่ปัญหาจริงๆ ทำไมต้องทุ่มงบประมาณใส่เข้าไป จึงต้องปรับแนวคิด สปสช.ต้องเปลี่ยนกรอบแนวคิด อัตราเดียวใช้ทั่วประเทศไม่ได้” นพ.ขวัญประชา กล่าว
เปลี่ยนโมเดล แต่ไม่ปรับเงินไม่แก้ปัญหาแท้จริง
นพ.ขวัญประชา กล่าวอีกว่า ระบบในอุดมคติ ประกอบด้วยปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ อย่างทุติยภูมิอยู่ที่ไหน เงินที่หายไปส่วนหนึ่งไปตติยภูมิ นี่คือความต่าง คนกทม.เข้าถึงตติยภูมิง่ายกว่า เพราะมีมาก มีเทคโนโลยีสูงกว่า นี่ยังไม่ได้พูดถึงรพ.โรงเรียนแพทย์ ที่มีปัญหากับสปสช.เยอะ แต่สปสช.ไม่ค่อยพูดถึง ต้องยอมรับว่า ระบบบริการในกทม. พิกลพิการ ไม่เหมือนต่างจังหวัด และจริงๆ คลินิกกทม.เป็นปฐมภูมิ หรือทุติยภูมิ เพราะในต่างจังหวัดคนออกใบส่งตัวคือ รพ.ชุมชน ที่เป็นทุติยภูมิ ตรงนี้ชัดเจนก่อน เพราะหากจะใช้โมเดลอุดมคติที่ประสบความสำเร็จในชนบทจะเป็นแบบนี้ ที่สำเร็จเพราะ ปฐมภูมิ และทุติยภูมิ เป็นหน่วยงานของรัฐ ที่รับขาดทุน คือ ทุติยภูมิ อย่างรพ.ชุมชน อย่างสเกลประชากรน้อยกว่า 25,000 คนลงไปเจ๊งแน่ ไม่ต้องพูดถึงคลินิกรับ 3.5 พันคนแล้วมาออกใบส่งตัวจะรอดได้อย่างไร
“นี่คือข้อเท็จจริงต้องมาคุยกันใหม่ว่า กทม.จะใช้โมเดลปฐมภูมิ ทุติยภูมิหรือไม่ แล้วใครเป็น หากคลินิกเป็นทุติยภูมิ ต้องออฟเฟอร์อย่างไร หากจะใช้โมเดลนี้ กทม.ต้องเปลี่ยนบทบาท และรับความเสี่ยง หากจะเอาเอกชนมาร่วมก็ต้องใช้โมเดลสำนักงานประกันสังคม เอาแบบรัฐมาจ่ายเอกชน ไม่รอดหรอก เอาจริงๆ ผมยังแปลกใจที่มีคลินิกมาสมัคร ถ้าสปสช.คิดกรอบเดิมๆ”
นพ.ขวัญประชา กล่าวว่า ดังนั้น หากจะให้กทม.มีเอกชน ก็ต้องมีโมเดลจ่ายแบบเอกชนด้วย ไม่เช่นนั้นสุดท้ายผลกระทบก็ตกที่ประชาชน ปรับโมเดล 10 รอบแต่ไม่ปรับเงิน ก็มีปัญหาอยู่ดี หรือหากเปลี่ยนใบส่งตัวไปที่รพ. สุดท้ายจะมีปัญหาเบิกจ่ายรพ.อยู่ดี บีบตรงไหนมีปัญหาหมด เพราะตอนนี้กทม.ไม่มีคนรับความเสี่ยงเหมือนต่างจังหวัดที่ทุติยภูมิเป็นรัฐรับความเสี่ยงนั่นเอง
อปสช.เขต 13 อยู่ระหว่างหารือทางออกจ่ายเงินใหม่
ทพญ.น้ำเพชร ตั้งยิ่งยง ผอ.สปสช.เขต 13 กทม. กล่าวว่า ปี 2566 จำนวนบริการผู้ป่วยนอกเพิ่มมากขึ้น โดยค่าใช้จ่ายร้อยละ 70 เป็นการส่งต่อ ทำให้เงินขาดประมาณ 539 ล้านบาท ต้องจ่ายให้หน่วยบริการปฐมภูมิ 0.57 บาทต่อพอยน์ (ค่าเฉลี่ยรายรับ 3 ปีเท่ากับ 1.18 บาทต่อพอยน์) และปี 2567 คลินิกชุมชนอบอุ่นและศูนย์บริการสาธารณสุข จึงมีข้อเสนอต่อ อปสข.กทม. ขอปรับรูปแบบการจ่ายเงินให้คลินิกชุมชนอบอุ่น และศูนย์บริการสาธารณสุข แบบเหมาจ่ายรายหัวและตามจ่ายกรณีส่งต่อ
“จริงๆการบริหารกองทุน ไม่ใช่โดยสปสช. แต่โดยคณะกรรมการที่เรียกว่า อปสข. ซึ่งมีทุกภาคส่วน ทั้งภาคประชาชน คลินิก มีทางกทม. และรพ.รับส่งต่อ จะบอกว่าไม่ได้รับฟังความคิดเห็น จริงๆมี ซึ่งในส่วน อปสข.ก็เห็นชอบว่า ถ้าเงินไม่พอก็เปลี่ยนรูปแบบโดยเอาเงินไปไว้คลินิก ดูแลปฐมภูมิก่อน จึงปรับตั้งแต่ 1 มีนาคม แต่อาจเตรียมพร้อมน้อยไปหน่อย ประชาชนอาจต้องปรับตัวนิดหนึ่ง จากไปไหนก็ได้ ให้กลับมาที่ปฐมภูมิก่อน จึงอยากให้เข้าใจระบบบริการ แต่เราอาจเปลี่ยนเร็วไป จริงๆ คือกลับมาคลินิก และเน้นการดูแลปฐมภูมิ โรคง่ายๆก็รักษาตรงนี้” ผอ.สปสช.เขต13 กล่าว
ทพญ.น้ำเพชร กล่าวว่า สถานการณ์เรื่องร้องเรียน/ร้องทุกข์กรณี New Model5 ตั้งแต่ 27 ก.พ.-31 พ.ค.2567 จำนวน 5,474 เรื่อง ถือว่าหนัก โดยมีการประสานจบได้ 80-90% ซึ่งส่วนใหญ่มาจากคลินิกปฏิเสธการส่งตัว ก็เชื่อมมาจากการเบิกจ่ายเงิน ซึ่งตรงนี้เราเข้าใจ โดยกำลังพิจารณาว่าจะปรับอย่างไรให้สมดุลที่สุด โดยต้องนำข้อมูลเสนอผู้บริหาร เพราะกทม.มีความซับซ้อนในการบริหารจัดการ
งบไม่พอต้นเหตุจากรัฐบาลไม่อุดหนุนภายใต้ต้นทุนจริงๆ
นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว เครือข่ายผู้ติดเชื้อ HIV/เอดส์ กล่าวว่า เข้าใจคลินิก ยิ่งคลินิกเล็กๆ การบริหารงบประมาณภายใต้ข้อจำกัดเงินที่มีอยู่ เพราะบริหารเงินแบบปิด ประเด็นคือ เมื่อเงินไม่พอ แสดงว่าคนกำหนดงบประมาณ อย่างรัฐบาล ควรให้งบประมาณตอบสนองภายใต้ต้นทุนจริงๆ ที่ผ่านมาไม่ค่อยพูด กระทรวงสาธารณสุขก็เงียบ ให้แต่สปสช.ไปว่ายน้ำข้างหน้าเอง เงินขาขึ้นก็ถูกตัดออกอีก ประเด็นนี้ควรต้องให้รัฐบาลให้งบประมาณเพียงพอจริงๆ ขณะเดียวกัน ควรปรับวิธีการจ่ายเงินกันใหม่ดีหรือไม่
“ที่สำคัญเรื่องการสื่อสาร อย่างคลินิกดีก็ดีมากจริงๆ ประชาชนก็ชื่นชม ไม่ได้มองคลินิกเป็นผู้ร้าย แต่คลินิกไหนไม่น่ารัก ทางสมาคมคลินิกต่างๆก็ต้องไปคุยไปจัดการ ไม่ใช่มองประชาชนเป็นตัวประกัน ไม่ควรเกิดขึ้น เจ็บปวดไป หากเป็นแบบนี้เรื่อยๆจะแย่กันหมด ขอให้สื่อสารกันให้ดีให้รอบด้าน สะท้อนปัญหาได้ แต่อย่าว่ากันไปมา และการบริหารกองทุนก็ต้องพัมนาคนทำงานต่อเนื่อง เพราะที่ผ่านมาก็มีการคีย์เงินผิดเยอะ ต้องมีการบริหารจัดการลดปัญหาตรงนี้” นายอภิวัฒน์ กล่าว
บัตรทองกทม.3.5 ล้านคน กทม.ดูแลแล้ว 9 แสน
พญ.ดวงพร ปิณจีเสคิกุล รองผู้อำนวยการสำนักอนามัย กล่าวว่า มองว่าการแก้ปัญหาต้องแก้เชิงระบบ และกลไกการเงินต้องมาหารือร่วมกัน ขณะเดียวกันประชาชนก็ต้องส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคก่อนจะคิดถึงการรักษาอย่างเดียว และหากเจ็บป่วยเล็กน้อยไปรักษาที่หน่วยบริการปฐมภูมิได้ ยกเว้นว่าเจ็บป่วยมากขึ้น ก็ต้องส่งต่อไปรพ.ระดับสูงกว่า ดังนั้น การเข้าใจระบบบริการจึงจำเป็นต้องอาศัยทุกภาคส่วนช่วยเหลือกัน อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม มีคนไข้ส่วนหนึ่งอยากให้ทางศูนย์บริการสาธารณสุข ส่งตัวไปรพ. ซึ่งก็ต้องอธิบายกับคนไข้ โดยมีการหารือกับ สปสช.เพื่อหารือรพ.ว่า หากไม่ได้ใบส่งตัวขอให้รพ.รักษาตามเดิม เพราะ สปสช.มีระบบกันเงินส่วนหนึ่งไว้แล้ว
พญ.ดวงพร กล่าวว่า ท่านผู้ว่าฯกทม. ให้ความสำคัญกับศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง ในเรื่องการบริการปฐมภูมิ และยกระดับศูนย์บริการสาธารณสุขบางแห่ง เรามีการจ้างแพทย์เฉพาะทาง ทั้งคลินิกหู ตา จมูก ฯลฯ ใช้เงินนอกงบจ้างบุคคลภายนอกเกือบ 300 ล้านบาท ยังไม่รวมค่ายา ค่าแลป เพื่อให้คนกทม.ได้รับการดูแลมากขึ้น ส่วนเรื่องการดูแลปฐมภูมิ ตรวจเยี่ยมบ้านเราก็แบ่งพื้นที่ให้คลินิกดูแล และทางศูนย์บริการฯ ไม่เหมือนรพ.ชุมชน ไม่มีหอผู้ป่วยใน แต่เรามีห้องพักดูอาการ อย่างการให้น้ำเกลือ การดูแลเบื้องต้นจนดีขึ้น ลดการส่งตัวไปรพ.85% ยกเว้นจำเป็นต้องไปจริงๆ นี่คือตัวอย่างที่เราให้บริการปฐมภูมิมาตลอด
“ผู้ป่วยบัตรทองกทม. มีประมาณ 3.5 ล้านคน โดยศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง เราดูแล 9 แสนคน ที่เหลือคลินิกดูแล ซึ่งทางศูนย์บริการสาธารณสุข ถือว่าดูแลเต็มที่แล้ว” พญ.ดวงพร กล่าว
นพ.สมเกียรติ อัศวโรจน์พงษ์ ผอ.สำนักพัฒนาระบบบริการทางการแพทย์ กทม. กล่าวว่า เราต้องการให้ประชาชนเข้าถึงบริการสะดวก เพราะแม้ กทม.จะไม่ใช่เมืองใหญ่ แต่การเดินทางก็ยังค่อนข้างมีปัญหา จะทำอย่างไรให้เข้าถึง โดยรพ. สังกัดสำนักการแพทย์มี 11 รพ. หากแบ่งเป็น 6 โซน โซนเขตเหนือไม่มีรพ.ของกทม. ดังนั้น การบริการเส้นเลือดฝอย คือ อยากให้ประชาชนรับบริการปฐมภูมิก่อน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- เสียง "คลินิกชุมชนอบอุ่น" แลกมาด้วยภาวะขาดทุน ขออย่ามองเป็นมารร้าย
- 641 views