คลินิกชุมชนอบอุ่น โอดถูกมองว่าเป็นนางมารร้าย ชี้หักเงินไม่เคยหักโรงพยาบาล หักคลินิกอย่างเดียว แนะ สปสช.แยกงบแต่ละส่วน พร้อมแยกงบบุคลากร เผยทำหนังสือขอยกเลิกสัญญาเดือนกันยายนนี้ เหตุแบกรับไม่ไหว
เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2567 ที่โรงแรมเดอะบาซาร์ แบงค็อก น.ส.ปอขวัญ นาคะผิว ผู้ประกอบการคลินิกรักษ์ลาซาล ผู้แทนกลุ่มบริการ (คลินิกชุมชนอบอุ่น) กล่าวถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น ในเวทีสภาผู้บริโภคประเด็น “แนวทางแก้ไขปัญหาการส่งต่อผู้ป่วยบัตรทองในกรุงเทพมหานครเพื่อการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค” ว่า สภาพปัญหาก่อน 1 มีนาคม 2567 เกิดจาก โรงพยาบาลได้รับใบส่งตัว นำมารักษาเบิกกองทุนโมเดล 5 โดยไม่มีการตรวจสอบใด ๆ (โมเดล 5 เบิกจ่ายตามรายการ) มีการเบิกจ่ายสูง บางรายการไปเบิกเงินปนกัน อย่างคนไข้ส่งต่อธรรมดาก็เบิกปนไปหมด กลายเป็นโป่ง งบสูงจนไม่ไหว และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ปรับเงิน กระทบกับคลินิกจนขาดทุน อยู่ไม่ได้ อย่างคลินิกที่ดูแลคนตั้งแต่ 10,000 คนจำนวนมากอยู่ได้ แต่อย่างคลินิกมีประชากร 3 พันคนอยู่ยากมาก ก็ไปเพิ่มเรื่องส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคเพื่อให้ได้งบตรงนี้ แต่หลายคลินิกไม่มีเจ้าหน้าที่ไปทำตรงนี้ เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น และคนมักเข้าใจผิดว่า งบส่งเสริมสุขภาพหรืองบ PP จ่ายให้เยอะ จริง ๆ ไม่เยอะ คือ รายละเอียดเยอะมาก
น.ส.ปอขวัญ กล่าวว่า หลังจากยกเลิกวิธีการจ่ายเงินแบบโมเดล 5 ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคมจนถึงปัจจุบัน ทำให้การจ่ายค่าส่งต่อเป็นความรับผิดชอบของคลินิก คลินิกจะต้องเขียนใบส่งตัวเท่านั้น และก่อนจ่ายเงินให้กับ รพ. สปสช.จะส่งข้อมูลการเรียกเก็บค่าส่งต่อตามใบส่งตัวให้กับคลินิกตรวจสอบ และยอมรับการเรียกเก็บนั้น ความรับผิดชอบของคลินิกแบ่งเป็น 2 แบบ คือ 1. คลินิกรับผิดชอบในงบฯ 800 บาทแรก และ 2.สปสช.จะกันเงินงบเหมาจ่ายรายหัวของคลินิกไว้ประมาณ 30 บาทเพื่อจ่ายในส่วนเกิน 800 บาท โดยคลินิกได้รับเงินเหมาจ่ายรายหัวตามจำนวนประชากรที่เลือกลงทะเบียน ซึ่งก่อนจะหักค่าส่งตัว คลินิกจะได้เงินประมาณ 64.17 บาทต่อเดือน คิดว่าจะเพียงพอจริงหรือ ยังไม่รวมค่าหมอ ค่ายา ค่าแลป แบบนี้ไม่ไหว
“กรณีที่ สปสช.กันเงิน ก็เป็นเงินของคลินิก เพราะหักไว้ก่อนกรณี 800 บาทแรกที่คลินิกจ่ายไม่พอ ก็เอาเงินของเรานั่นแหล่ะมาจ่าย ล่าสุด ที่ประชุม อปสข. (คณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับเขตพื้นที่) ที่เพิ่งผ่านมาไม่กี่วัน มีมติให้หักเงินค่าหัวเหมาจ่ายเพิ่มจากคลินิกชุมชน 25 บาทต่อคนต่อเดือน จากที่ได้ 64.17 บาท ตอนนี้เหลือประมาณ 39 บาทต่อคนต่อเดือน แบบนี้คลินิกจะทำอย่างไร” น.ส.ปอขวัญ เล่าพร้อมน้ำตา
น.ส.ปอขวัญ กล่าวอีกว่า ควรแยกงบแต่ละส่วนให้ชัดเจน สปสช.ควรคำนึงถึงผลกระทบของคลินิก ขอให้เห็นใจพวกตนด้วย และควรเปิดโอกาสให้หน่วยบริการที่ทำประกันชีวิตบางส่วนได้ด้วย ปัจจุบันประกันเบิกได้แต่รพ. ตรงนี้ต้องมาทำความเข้าใจร่วมกัน และขอความกรุณา อย่ามองคลินิกเป็นนางมารร้ายทุกครั้งที่พูดถึงใบส่งตัว
"เรื่องโมเดล ไม่ได้คิดถึงการจ่ายรายหัวหรือจ่ายตามรายการ แต่ต้องการให้แยกงบประมาณให้ชัดเจน ระหว่างงบคลินิกดูแลแบบปฐมภูมิที่ดูแลได้ กับงบที่ส่งโรงพยาบาล ไม่ต้องให้คลินิกตามไปจ่าย ที่ผ่านมาบอกว่ามันเกิน ก็มาหักเงินคลินิก ลดพอยท์คลินิก จริง ๆ ต้องแยกให้ชัด อย่างทุติยภูมิกับตติยภูมิยังไงก็ต่างกัน แพงกว่าอยู่แล้ว ตอนที่หักเงินไม่เคยหักของโรงพยาบาล แต่หักคลินิกอย่างเดียว จะให้คลินิกอยู่กันอย่างไร จึงได้ทำหนังสือส่ง สปสช. ขอยกเลิกสัญญาเดือนกันยายนนี้ เพราะแบกรับไม่ไหว" น.ส.ปอขวัญ กล่าว
ส่วนงบบุคลากรเป็นเรื่องมาตรฐานที่ต้องให้บริการ ให้ทางคลินิกบริหารจัดการรวมทั้งหมดไม่ได้ จริง ๆ ไม่ชอบทั้ง 2 ระบบ จะดีกว่าถ้าแยกงบทั้ง 2 อย่างชัดเจน แยกไปเลย งบของคลินิก งบของโรงพยาบาล ที่ต้องส่งตัว คลินิกจะได้พยายามดำเนินการและให้บริการที่มีคุณภาพสำหรับคนไข้ไม่ต้องส่งตัว
"ตอนนี้คลินิกได้เป็นเหมาจ่าย 64.17 บาท ต่อเดือน จากเดิมที่ต้องได้ 94.17 บาท แต่ถูกหักไว้ก่อน 30 บาท กรณี 800 บาทที่ตามส่งไม่พอ ก็จะหักจากตรงนี้ ถ้าเหลือแล้วจะให้ แต่ไม่เคยเหลือ เพราะมีแต่จะไม่พอ เดือนกรกฎาคมเป็นต้นไปจะหักเพิ่มอีก 25 บาท เหลืออยู่ 39 บาท จะเอาอะไรมารักษาได้" น.ส.ปอขวัญ กล่าวและระบุถึงข้อเสนอ ดังนี้
1.ขอให้ชะลอการหักเงินคลินิกชุมชนอบอุ่น ที่จะเริ่มในเดือนกรกฎาคม 2567 ซึ่งจะหักเพิ่ม 25 บาท จาก 64 บาท เหลือเพียง 39 บาทต่อหัวประชากร ไว้ก่อน เพราะทำให้คลินิกดำเนินงานต่อไปได้ยาก บางคลินิกมีประชากรแค่ 700 คน เหตุจากยังไม่ได้ตรวจสอบข้อมูลการเบิกจ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างผิดปกติ
2.แยกงบประมาณ ผู้ป่วยนอกของหน่วยบริการปฐมภูมิ ออกจากหน่วยบริการรับส่งต่อโดยไม่ต้องตามจ่าย เพื่อให้สามารถจ่ายค่าบริการสาธารณสุขได้ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มาตรา 46 ที่กำหนดเงื่อนไขขั้นต่ำว่า จะต้อง อาศัยราคากลางของโรคที่ได้มาตราฐาน และครอบคลุมเงินเดือนของบุคลากร สำหรับขอเสนอหน่วยบริกาปฐมภูมิ 1,000 บาทต่อหัวต่อปี หรือ 80 บาทขึ้นไป ต่อหัวต่อคนต่อเดือน โรงพยาบาล 2,800 บาทต่อหัวต่อคนต่อเดือน
3.ส่วนคลินิก ขอให้แยกจ่ายงบเป็น บุคลากรหรือ Fix Cost เช่น ค่าจ้างหรือค่าเช่า ออกจาก Variable Cost (ค่ายา ค่าแล็บ) โดยมีความเชื่อมโยงระหว่าง ข้อมูลของแต่ละแห่งเข้าด้วยกัน เพื่อควบคุมคุณภาพตามมาตรา่ฐาน เกณฑ์เวชศาสตร์ครอบครัว
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- อปสข.13 เตรียมหารือทางออกจ่ายเงินใหม่ แก้ปม ‘ส่งตัวผู้ป่วยบัตรทอง กทม.’
- เปิดผลกระทบ ข้อเสนอแนะ "ผู้ป่วยบัตรทอง-มูลนิธิกระจกเงา" ปัญหา "30 บาทฯ กทม."
- 2289 views