เริ่มแล้ว ระดมความคิดเห็นร่วมบริหารงบประมาณ 1.67 แสนล้านบาท ผ่าน“เวทีรับฟังความคิดเห็นจากผู้ให้บริการต่อ (ร่าง) ประกาศกองทุนบัตรทอง ปีงบประมาณ 2568” ทั้ง Onsite และ Online  

เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2567  นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธานเปิด “การรับฟังความคิดเห็นจากผู้ให้บริการต่อ (ร่าง) ประกาศการดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข ปีงบประมาณ 2568” ดำเนินการผ่านทาง Onsite และ Online จัดโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อให้ผู้ให้บริการหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บ าท) ทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมแสดงความคิดเห็น โดยมีคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) และคณะกรรมการควบคุมมาตรฐานและบริการสาธารณสุข (บอร์ดควบคุมคุณภาพฯ) ร่วมรับฟังทาง Onsite ณ โรงแรมเบสต์ เวสเทิร์น พลัส แวนดา  

นพ.สุพรรณ ศรีธรรมา ประธานกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่ได้ในวันนี้คือความคิดเห็นที่ได้รับจากผู้ให้บริการ เพื่อนำไปสู่การจัดบริการที่มีคุณภาพ โดยเราได้รับทราบปัญหาในแต่ละระดับว่า การให้บริการในระบบฯ มีปัญหาอะไรบ้าง เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงและกำหนดประกาศหลักเกณฑ์ฯ ปีงบประมาณ 2568 ซึ่งได้มีผู้ให้บริการร่วมให้ความคิดทุกระดับ ทั้งที่อยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัดและ กทม. โดยทั้ง 2 พื้นที่อาจมีปัญหาต่างกัน นอกจากนี้ยังมีนวัตกรรมบริการใหม่ที่เพิ่งเริ่มโครงการและยังเป็นระยะเริ่มต้น ดังนั้นจึงอยากรับทราบความเห็นต่างๆ และนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการฯ ในระบบต่อไป 

นพ.จเด็จ กล่าวว่า การดำเนินงานกองทุนบัตรทองฯ ที่มุ่งดูแลประชาชนผู้มีสิทธิให้เข้าถึงสิทธิและบริการสาธารณสุขได้นั้น ผู้ให้บริการสุขภาพทุกระดับทั้งในส่วนสถานพยาบาลภาครัฐและเอกชน ล้วนเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการเข้าถึงบริการ และเพื่อให้การให้บริการสาธารณสุขนี้เป็นไปอย่างทั่วถึงและครอบคลุม มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ตอบสนองการดูแลกลุ่มเป้าหมายได้ตามเจตนารมณ์ พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 จำเป็นที่ สปสช. ต้องมีข้อมูลอันนำไปสู่การบริหารจัดการและการจัดสรรงบประมาณที่เหมาะสม ดังนั้น มาตรา 46 จึงกำหนดให้การจัดทำหลักเกณฑ์กำหนดค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข ต้องผ่านการรับฟังความคิดเห็นฯ ตามมาตรา 18(13) เป็นประจำทุกปี และในปีงบประมาณ 2568 ที่จะถึงนี้ สปสช. จึงได้ดำเนินการจัดการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ให้บริการต่อ (ร่าง) ประกาศการดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุนฯ ในวันนี้  

 นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า งบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำปี 2568 สปสช. ได้รับการจัดสรรที่จำนวน 235,842.80 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นเงินเดือนบุคลากรภาครัฐในระบบ จำนวน 68,089.63 ล้านบาท และเป็นงบประมาณที่ สปสช. นำมาบริหารจัดการจำนวน 167,753.16 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2567 จำนวน 15,014.92 ล้านบาท 

อย่างไรก็ตาม ในปีนี้มีรายการใหม่ที่ต่อเนื่องปี 2567 ที่ต้องมีงบประมาณเพิ่มเติมจำนวน 12 รายการ เป็นงบประมาณรวมจำนวน 2,145.23 ล้านบาท อาทิ บริการที่สถานชีวาภิบาล การรักษาภาวะมีบุตรยากการตรวจวินิจฉัยโรคหยุดหายใจขณะหลับ บริการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ และยาในบัญชี จ.2 เป็นต้น
 
นอกจากนี้ยังมีบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค โดยปีนี้ สปสช. ได้เน้นให้ความสำคัญ ซึ่งเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์รายการใหม่ปี 2567 และตามนโยบายรัฐบาล รวม 11 รายการ อาทิ การตรวจคัดกรองพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีด้วยปัสสาวะ บริการสิทธิประโยชน์ผู้ต้องขับเพิ่มเติม วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก HPV เป็นต้น  และมีบริการสร้างเสริมสุขภาพฯ ที่เป็นสิทธิประโยชน์ใหม่ ปี 2568 จำนวน 5 รายการ อาทิ บริการมิตรภาพบำบัด บริการสายด่วนวัยรุ่น/สายด่วนท้องไม่พร้อม ศูนย์ให้คำปรึกษาจิตเวช บริการด้านสุขภาพสำหรับกลุ่มคนข้ามเพศ และบริการคัดกรองวัณโรคระยะแฝง latent TB  

 นพ.จเด็จ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของการปรับปรุงการบริหารจัดการ อาทิ บริการผู้ป่วยนอก มีการกันงบประมาณจากอัตราเหมาจ่ายรายหัวบริการเพื่อจ่ายสำหรับนโยบาย “บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่” บริการกรณีเฉพาะ ในส่วนบริการปฐมภูมิไปที่ไหนก็ได้ (OP anywhere) ปรับระบบการจ่ายจากเดิมจ่ายตามรายการบริการ (Fee schedule) เป็นการจ่ายที่เหมาะสม เช่นแบบ pervisit และการปรับการจ่ายบริการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ (UCEP) ภาครัฐ จากจ่ายตามรายการบริการ เป็นจัดสรรแบบ Grant รายปี เพื่อพัฒนาระบบบริการวิกฤตฉุกเฉินให้มีคุณภาพ และจ่ายตั้งแต่ต้นปี ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ สปสช. กำหนด 

นอกจากนี้ยังมีบริการสาธารณสุขร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัด โดยได้ขยายขอบเขตบริการจากเดิมครอบคลุมแค่บริการฟื้นฟู เป็นครอบคลุมบริการรักษา ป้องกันได้ด้วยงบท้องถิ่น รวมถึงการปรับการจ่ายค่าบริการสร้างเสริมสุขภาพฯ โดยเพิ่มการจ่ายตามรายการบริการจาก 22 รายการ เป็น 28 รายการ  เช่น ค่าฉีดวัคซีนพื้นฐาน (EPI) อัตรา 20 บาท เป็นต้น 

 “จาก (ร่าง) ประกาศการดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุนฯ นี้ วันนี้ทางผู้ให้บริการ จะได้ร่วมให้ความคิดเห็น ซึ่งขณะนี้การจัดทำงบประมาณกองทุนฯ ประจำปี 2568 ยังไม่แล้วเสร็จ ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร์ในวาระ 2 และ 3 ซึ่งผลสรุปความคิดเห็นที่รับฟังจากผู้ให้บริการในวันนี้ สปสช. จะนำไปประกอบการพิจารณาเพื่อดำเนินการต่อไป” เลขาธิการ สปสช. กล่าว