ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

"วงเสวนาปฐมภูมิ" ระดมความคิดเห็นต่อ (ร่าง) ประกาศกองทุนบัตรทองปี 67 เสนอปี 68 ปรับ "งบเหมาจ่ายโอนตรงสู่ รพ.สต." หนุนงานสร้างเสริมป้องกันฯ เพิ่มประสิทธิภาพบริการปฐมภูมิในพื้นที่ ด้าน "พญ.นันทวัน" ขอนำงบสร้างเสริมสุขภาพฯ เพิ่มเติมงบผู้ป่วยนอกแก้ปัญหาคลินิกฯ ใน กทม.ขาดทุน 

เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา ในเวทีรับฟังความคิดเห็นจากผู้ให้บริการต่อ (ร่าง) ประกาศการดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2568 จัดโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)  โดยมีเวทีอภิปราย “ระดมความเห็นพัฒนาการดำเนินงานและบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ เพื่อประชาชนสุขภาพดี เจ้าหน้าที่มีความสุข ระบบสุขภาพยั่งยืน” ในส่วนผู้ให้บริการระดับปฐมภูมิ โดยมี พ.ต.ทพ.ธนศักดิ์ ถัมภ์บรรฑุ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ดำเนินการประชุม

นพ.ประวิตร วณิชชานนท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลละงู จ.สตูล ในฐานะประธานชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) กล่าวว่า ร่างประกาศฯ นี้ ที่ได้มีการปรับปรุงระเบียบค่าบริการทางการแพทย์ ให้เบิกจ่ายในลักษณะงบลงทุน (งบค่าเสื่อม) มองว่าอาจสร้างความยุ่งยากให้กับ รพช. ขนาดเล็กในการจัดการได้ ที่ในปัจจุบันทิศทางการลงทุนของ รพช. จะเน้นที่เทคโนโลยีการแพทย์ขั้นสูงมากขึ้น เพื่อมุ่งสร้างรายได้จากการรักษา แต่การลงทุนเพื่อดูแลผู้ป่วยกลุ่มอื่นก็สำคัญ ดังนั้นต้องเอื้อให้การจัดทำได้อย่างครอบคลุม จึงอยากให้ สปสช. ปรับระเบียบมีความง่ายมากขึ้นในส่วน รพช. เพื่อประโยชน์ของผู้รับบริการนั่นคือประชาชน 

ย่างไรก็ดี ประเด็นที่อาจมีผลโดยตรงต่อระบบปฐมภูมิ คือในส่วนโรงพยาบาล่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ทำอย่างไรให้เกิดความเข้มแข็งและมีศักยภาพในการดูแลประชาชนในชุมชน ซึ่งกลไกการจ่ายงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวให้กับ รพ.สต. จากแต่เดิมจะรับจัดสรรจาก รพ.แม่ข่าย แต่เมื่อโอนถ่ายไปที่องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) แล้ว ก็อยากให้ชัดเจนว่า รพ.สต. จะได้รับงบเท่าไหร่ เพื่อที่ รพช. จะได้หนุนเสริมทำงานร่วมกับ รพ.สต. นอกจากนี้ยังมีประเด็นเบิกจ่ายชดเชยค่าบริการ ที่ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ใช้ระบบ Financial Data Hub (FDH) บันทึกข้อมูลการให้บริการ และ สปสช. ก็ใช้เป็นข้อมูลเบิกจ่ายให้กับหน่วยบริการ ซึ่งเป็นหลักการที่ดี แต่ก็ยังมีปัญหาการปฏิบัติ เพราะหน่วยบริการส่วนใหญ่ยังติดปัญหาลงข้อมูลการให้บริการ ทำให้เบิกจ่ายไม่ได้ นอกจากนี้เดิมที สปสช. จะมีส่วนงานเฉพาะที่ดูแลงานปฐมภูมิ ทำให้มีช่องทางนำเสนอแนวทางการบริหารจัดการระบบสุขภาพปฐมภูมิที่สร้างสรรค์ได้ จึงอยากให้พิจารณาในส่วนนี้ 

นางอรดา เจริญสุข ผู้อำนวยการ รพ.สต.บ้านบัว จ.ชัยภูมิ สังกัด สธ. กล่าวว่า อยากให้เพิ่มค่าบริการคุ้มครองป้องกันและรักษาโรคเรื้อรัง ให้อยู่ใน (ร่าง) ประกาศหลักเกณฑ์ฯ นี้ เพราะงบเหมาจ่ายรายหัวก่อนที่ รพ.สต. จะได้รับจะไปอยู่กับ รพ.แม่ข่าย ซึ่งเป็น รพช. แล้วจึงกระจายให้ รพ.สต. โดยพิจารณาตามผลงานและส่งต่อ ดังนั้นอยากให้ สปสช. โอนงบส่วนนี้ตรงไปที่ รพ.สต. ซึ่งจะทำให้ รพ.สต. บริหารจัดการงบนี้ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย และทำให้บริการเข้าถึงประชาชนเพิ่มขึ้น รวมถึงจะเชื่อมโยงมายังบุคลากรมีความสุขในการทำงาน 

"ตอนนี้ รพ.แม่ข่ายจัดสรรงบให้เท่าไหร่ เราก็ต้องรับเท่านั้น ส่วนใหญ่ รพ.สต. มีบุคลากรมากสุดไม่เกิน 10 คน หรือบางแห่งมี 4 คน แต่ภาระงานปฐมภูมิก็มีจำนวนมาก หากจัดสรรงบตรงมาที่รพ.สต. ก็เป็นอีกหนึ่งแรงขับให้กับบุคลากรในพื้นที่ ได้ดูแลสุขภาพประชาชนเต็มรูปแบบ" อรดา ย้ำ

 

ด้าน นางสมคิด ปานบุญ ผู้อำนวยการ รพ.สต.บางขะแยง จ.ปทุมธานี สังกัด อบจ. กล่าวว่า รพ.สต. ที่ถ่ายโอนไป อบจ. ถึงอย่างไรก็ยังต้องทำงานกับ รพ.แม่ข่าย ที่เป็น รพช. ในสังกัด สธ. เพื่อบูรณาการดูแลสุขภาพปฐมภูมิให้ประชาชน แต่หลายพื้นที่ยังติดขัดการจัดสรรงบจาก รพ.แม่ข่าย ไปสู่ รพ.สต. ที่ถ่ายโอน เพราะเจอเหตุผลว่าอยู่คนละสังกัด ซึ่งหากปรับเปลี่ยนโอนตรงไปที่ รพ.สต. ตามจำนวนประชากรได้ ก็จะทำให้บุคลากรทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และส่งผลให้ระบบปฐมภูมิเข้มแข็ง นอกจากนี้ในส่วนการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค หาก สปสช. ปรับการเบิกจ่ายเป็นตามรายการที่กำหนด (Fee schedule) ก็จะทำให้ประชาชนได้รับบริการเพิ่มขึ้น 

ขณะที่ พญ.นันทวัน ชอุ่มทอง นายกสมาคมคลินิกชุมชนอบอุ่น กล่าวว่า ปัญหาคลินิกชุมชนอบอุ่น กำลังเผชิญ คือการแบกหนี้ที่ไม่ได้ก่อ ซึ่ง 2 ปีมานี้ สะสมไปแล้วกว่า 1,500 ล้านบาท เกิดจากนโยบายที่เปิดช่องให้ผู้ป่วยไป รพ. ได้ไม่ต้องผ่านหน่วยบริการประจำอย่างคลินิกชุมชนอบอุ่น โดยเมื่อ รพ. จะให้การรักษา ก็จะแนะนำผู้ป่วยกลับมาเอาใบส่งตัวที่คลินิกฯ เพื่อตามจ่าย ทำให้บางคลินิกไม่ส่งผู้ป่วยเพราะด้วยมีศักยภาพที่จะให้การดูแลได้ หรือบางส่วนเนื่องจากภาระหนี้สินที่สะสม เลยจำกัดจำนวนครั้งส่งต่อ จนเป็นผลกระทบทำให้ผู้ป่วยอาจไม่ได้รับการดูแลต่อเนื่อง

ดังนั้น อยากให้ สปสช. ปรับปรุงระบบการส่งตัว ให้ถือว่าใบนัดที่ รพ. ได้นัดหมายถือเป็นความสำคัญสูงสุดที่ รพ. จะเบิกชดเชยค่าบริการจาก สปสช. ได้ตามมาตรฐานแม้ไม่มีใบส่งตัว รวมไปถึงเพิ่มการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่าง รพ. และคลินิกชุมชนอบอุ่น เพื่อให้คืนข้อมูลการส่งต่อทุกๆ วัน เพื่อให้คลินิกชุมชนอบอุ่น ตามเยี่ยมบ้าน หรือให้บริการการแพทย์ทางไกล เพราะต้องดูแลผู้ป่วยให้ต่อเนื่องตามหลักเวชศาสตร์ครอบครัว 

"กรณีที่เงินกองทุนคลินิกชุมชนอบอุ่นหมดลง ให้นำเงินกองทุนสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเพิ่มเติม เพราะกองทุนสร้างเสริมสุขภาพฯ ใน กทม. ยังมีงบเหลือกว่า 1,300 ล้านบาท แต่กองทุนผู้ป่วยนอกกลับขาดทุน จึงอยากให้มีความสมดุล เพื่อให้ผู้ให้บริการอยู่ได้" นายกสมาคมคลินิกชุมชนฯ กล่าว 

รศ.ภญ.ดร.สุณี เลิศสินอุดม สภาเภสัชกรรม กล่าวว่า ร่างประกาศฉบับนี้มุ่งเน้นการเข้าถึงบริการของประชาชน แต่การหยิบยื่นให้ทุกอย่างมากเกินไปอาจไม่ใช่คำตอบสุขภาพดี ทั้งการเข้าถึงบริการที่ดียังต้องรวมถึงหน่วยบริการที่มีคุณภาพและมาตรฐาน รวมถึงการเป็นนโยบายที่ได้ประโยชน์จริงๆ อย่างร้านยาที่ร่วมเป็นหน่วยบริการกับ สปสช. เพื่อช่วยให้ประชาชนได้รับดูแลที่สะดวกใกล้บ้าน แต่การให้บริการของร้านยาต้องคำนึงถึงประชาชนที่เข้าไม่ถึงบริการด้วย เช่น มีบริการส่งยาที่บ้าน แต่หากผู้ป่วยอยู่ในรัศมีที่เดินทางไปหน่วยบริการเพื่อรับยาได้ ก็ไม่ต้องให้บริการนี้ แต่หากประชาชนที่อยู่ไกลจริงๆ ที่เข้าลำบากก็ควรได้รับการใส่ใจอย่างจริงจัง 

สำหรับชุดสิทธิประโยชน์ของ สปสช. จะมีคุณภาพได้ ต้องมีสภาวิชาชีพมาช่วยกันและร่วมกันสร้างมาตรฐานวิชาชีพการบริการสุขภาพ หากประชาชนได้รับการดูแลที่ดี ก็จะลดการเข้ารับการรักษาที่ รพ. ได้ อีกทั้งงานสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคที่ต้องให้ความสำคัญ คือทำอย่างไรให้ประชาชนเริ่มสนใจสุขภาพ และตรวจสุขภาพของตัวเอง ซึ่งจะทำให้การเข้าถึงบริการสุขภาพ มีคุณภาพต่อประชาชนอย่างยั่งยืน