ผ่าข้อเสนองานวิจัย : ปลดล็อก "กลไกงบประมาณ"  สร้างศักยภาพชุมชนรับมือวิกฤตสุขภาพ ชี้การสร้างเสริมสุขภาพที่ดีอย่างต่อเนื่องจากนวัตกรรมที่มีในชุมชน จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยได้จริง

ความช่วยเหลือจากส่วนกลางและการสนับสนุนจากภาครัฐ อาจไม่ทันท่วงที เมื่อเทียบกับอัตราความเร็วและจังหวะการเข้าจู่โจมอย่างฉับพลันของโรคร้าย ซึ่งทุกคนได้ผ่านประสบการณ์ร่วมกันมาแล้วจากวิกฤตสุขภาพครั้งประวัติศาสตร์ อย่างโควิด-19

 ในระหว่างที่ส่วนกลางหรือภาครัฐกำลังตั้งหลัก วิกฤตการณ์ได้รุกคืบและขยายวงกว้างออกไปโดยไม่รีรอ มีคนจำนวนไม่น้อยถูกโรคร้ายบ่อนเซาะ นำไปสู่ความสูญเสียที่ไม่มีใครอยากให้เกิด

ทว่าในบางชุมชน-บางพื้นที่ ภัยสุขภาพเหล่านั้นกลับไม่สามารถย่างกรายเข้าไปได้เลย หรือถ้ามีหลุดรอดเข้าไปบ้าง มันก็ไม่อาจสำแดงโทษออกมาได้อย่างเต็มฤทธิ์เต็มเดช ส่วนหนึ่งเพราะคนในชุมชนมีศักยภาพ เป็น ‘พลเมืองตื่นรู้’ (Active Citizen) และมีการใช้กระบวนการการมีส่วนร่วมในการป้องกันและควบคุมโรค โดยอาศัย ‘ทุนทางสังคม’ เป็นฐานสำคัญ

 

ผศ.ดร.พรฤดี นิธิรัตน์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี หนึ่งในทีมวิจัยโครงการ “ยกระดับศักยภาพการรับมือกับภาวะวิกฤตด้านสุขภาพด้วยนวัตกรรมการจัดการระบบสุขภาพปฐมภูมิโดยชุมชน: กรณีศึกษาชุมชนพื้นที่กรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด” ที่ดำเนินการโดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) อธิบายว่า ทุนทางสังคมจะเกี่ยวข้องโดยตรงกับการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมของสมาชิกในชุมชน และเป็นทุนที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า

ตัวอย่างทุนทางสังคม อาทิเช่น ความรู้สึกไว้เนื้อเชื่อใจที่มีให้ต่อกันในชุมชน ความรู้สึกว่าเราสามารถพึ่งพาอาศัยกันได้ ความรู้สึกว่าเราต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อให้ชุมชนของเราดี หรือต้องมาร่วมกันทำอะไรเพื่อแก้ไขปัญหาของชุมชน ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะส่งเสริมให้เกิดการปฏิบัติให้คนในชุมชนเข้ามาทำอะไรร่วมกัน

หลายชุมชนมีการทำงานอย่างเป็นระบบ ภายใต้ความยืดหยุ่นและคล่องตัว มีการประสานการทำงานทั้งภายในและภายนอกชุมชน จนเกิดเป็น ‘มาตรการชุมชน’ และ ‘นวัตกรรมทางสังคม’ ที่เหมาะสมและสอดคล้องกับบริบทตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น ศูนย์แยกกักหรือศูนย์พักคอยในชุมชน ระบบการจัดการอาหารสนับสนุนการแยกกักหรือกักตัวในชุมชน ระบบอาสาสมัครช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง ระบบการประสานดูแลและส่งต่อผู้ป่วย ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ มีส่วนสำคัญในการหนุนเสริมมาตรการป้องกันและควบคุมโรคของส่วนกลางหรือภาครัฐ ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

นอกเหนือจากทุนทางสังคมและการประสานเครือข่าย ที่นำไปสู่มาตรการชุมชนและนวัตกรรมทางสังคมแล้ว ‘กลไกทางการเงิน’ คืออีกปัจจัยในสมการความสำเร็จ ที่มาช่วยหมุนฟันเฟืองชุมชนให้เคลื่อนไปข้างหน้า

ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ รองผู้อำนวยการ สวรส. ในฐานะหน่วยงานสนับสนุนทุนการวิจัยฯ บอกว่า จากผลการวิจัยที่ได้ลงไปศึกษาพื้นที่ 17 ชุมชน ทั้งใน กทม. และในจังหวัดอื่นๆ ที่เคยมีนวัตกรรมสังคมในจัดการสถานการณ์โควิด-19 พบว่า แม้ชุมชนทั้งหมดต่างมีทุนทางสังคมที่สำคัญที่จะต่อยอดได้ไปสู่ความยั่งยืนและมั่นคงได้ แต่ปัจจัยที่เป็นองค์ประกอบของความสำเร็จชุมชนนั้น นอกจาก ‘โหนดพี่เลี้ยง’ หรือภาคประชาสังคมที่เข้ามาดูแลชุมชนและทำงานร่วมกันแล้ว องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ก็มีส่วนสำคัญ โดยสามารถสนับสนุนผ่านเครื่องมือที่ชื่อว่า ‘กองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่’ หรือที่คุ้นกันในชื่อ กปท. หรือ กองทุนสุขภาพตำบล

ผศ.ดร.จรวยพร ยกตัวอย่างจากผลการวิจัย ที่พบว่า 8 ชุมชนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ กทม. ต่างได้รับงบประมาณจากกองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพมหานคร หรือ กปท. ของ กทม. เพื่อนำมาใช้สนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค รับมือกับภัยสุขภาพในช่วงวิกฤตการณ์ ซึ่งในอดีตเงินก้อนนี้เคยค้างท่ออยู่เฉยๆ เกือบ 2,000 ล้านบาท โดยที่ชุมชนไม่สามารถเข้าถึงได้ เนื่องจากมีข้อติดขัดในเรื่องระเบียบและเงื่อนไข จนกระทั่งผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เข้ามาช่วยปลดล็อกอุปสรรค เงินจึงไหลออกมาสู่ชุมชนและเกิดประโยชน์กับประชาชนได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

“ตรงนี้สะท้อนว่านโยบายของผู้นำท้องถิ่นสำคัญอย่างมาก ซึ่งจากงานวิจัยที่ สวรส. ได้สนับสนุนพบว่า งบประมาณเป็นส่วนสำคัญที่ชุมชนอยากนำออกไปใช้เพื่อทำงาน โดยเฉพาะกับการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ดังนั้นในวันนี้่ หน่วยงานภาครัฐจะต้องช่วยกันปลดล็อกข้อจำกัดนี้ให้ชุมชน หากมีการปลดล็อกระเบียบและเงื่อนไขการขอรับงบประมาณสนับสนุนให้เป็นมิตรกับชุมชนมากขึ้น ก็จะทำให้ชุมชนสามารถเข้าถึงเงินทุนในการรับมือกับภาวะวิกฤตด้านสุขภาพได้ ขณะเดียวกันทางชุมชนก็ต้องยอมให้ถูกตรวจสอบการใช้งบประมาณตามกฎหมาย เพื่อให้เกิดความโปร่งใสด้วย” ผศ.ดร.จรวยพร ระบุ

สำหรับโครงการ “ยกระดับศักยภาพการรับมือกับภาวะวิกฤตด้านสุขภาพด้วยนวัตกรรมการจัดการระบบสุขภาพปฐมภูมิโดยชุมชน: กรณีศึกษาชุมชนพื้นที่กรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด” ที่ดำเนินการโดย สช. ภายใต้การสนับสนุนของ สวรส. นั้น ว่าด้วยข้อเสนอของการยกระดับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ เพื่อสนับสนุนชุมชนให้เกิดความเข้มแข็ง ซึ่งในมุมมองของนักวิชาการด้านระบบสุขภาพแล้ว ปัจจุบันทุกชุมชนในประเทศไทยมีระเบิดเวลาด้านสุขภาพที่รออยู่ 2 ลูก คือสถานการณ์โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs และสถานการณ์ผู้สูงอายุ ดังนั้นทุกชุมชนต้องเตรียมพร้อม อปท. หรือท้องถิ่น ต้องกำหนดแนวทางการสนับสนุน เพื่อพัฒนานวัตกรรมเพื่อดูแลสุขภาพ

“ภาคส่วนท้องถิ่น ทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กทม. รวมไปถึงภาครัฐ อย่างกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ก็ควรต้องแก้ระเบียบ ประกาศ คำสั่ง ที่เกี่ยวกับกองทุนสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค เพื่อให้ชุมชนเข้าถึงได้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพชุมชนที่จะนำไปสู่การมีระบบสุขภาพของชุมชนบนหลักฐานเชิงประจักษ์และหลักฐานทางข้อมูล และการเกิดขึ้นของนวัตกรรมทางสังคมที่จะเข้ามายกระดับคุณภาพชีวิตคนในชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล” ผศ.ดร.จรวยพร เน้นย้ำ

 

สอดคล้องกับ นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย ที่ระบุว่า งบประมาณเป็นปัจจัยสำคัญที่จะสนับสนุนทุนทางสังคมของชุมชนให้เข้มแข็ง ซึ่งเป็นบทบาทของ อปท. ที่จะเข้าไปหนุนเสริมได้ผ่านกองทุนสร้างเสริมสุขภาพต่างๆ ในระดับพื้นที่ อาทิ กองทุน กปท. กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัด รวมไปถึงกองทุน LTC หรือกองทุนระบบการดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง และหากมีการปลดล็อกให้ชุมชนที่รวมกลุ่มกันสามารถเข้าถึงงบประมาณของของท้องถิ่นได้ ก็จะเป็นการสนับสนุนให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนา และส่งเสริมสุขภาพของคนในชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดศักยภาพสำหรับการเผชิญกับวิกฤติสุขภาพของชุมชนในอนาคต

อย่างไรก็ดี งบประมาณอย่างเดียวอาจไม่ใช่คำตอบสุดท้าย สิ่งที่จะช่วยปลดล็อกให้ชุมชนเข้มแข็งขึ้นมาได้ผ่านทุนทางสังคมที่พวกเขามี คือการหนุนเสริมให้เกิดรูปแบบความร่วมมือของคนในชุมชนอย่างมีศักยภาพ

“หากท้องถิ่นสามารถออกข้อบัญญัติ ระเบียบ หรือมีนโยบายส่งเสริมรูปแบบการจัดทำโครงสร้างการทำงานอย่างเป็นทางการหรือไม่เป็นทางการ โดยให้ชุมชน หน่วยงานภาครัฐ-เอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาชน ได้ร่วมกันขับเคลื่อนในประเด็นที่เห็นตรงกันก็จะเกิดการทำงานเชิงระบบของชุมชนโดยมีทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม และหากมีงบประมาณท้องถิ่นและกองทุนต่างๆ ที่เข้าไปหนุนเสริม จะยิ่งสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน และทำให้ชุมชนเผชิญกับวิกฤตด้านสุขภาพได้อย่างเป็นระบบ” นพ.ปรีดา กล่าว

เพื่อให้ข้อเสนอเกิดขึ้นจริง ‘นพ.ปรีดา’ บอกว่า หน่วยงานระดับนโยบาย อาทิ กรม กอง กระทรวงที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงมหาดไทย (มท.) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) รวมถึงสำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) ต้องพิจารณาในเรื่องการปรับข้อบัญญัติเพื่อเอื้อให้ท้องถิ่นมีศักยภาพในการหนุนเสริมชุมชนให้เข้มแข็ง ขณะที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ สปสช. ก็ต้องจัดระบบสนับสนุน หรือปรับปรุงกฎระเบียบเพื่อช่วยให้เกิดความเข้มแข็งของชุมชน และเปิดช่องให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการผลักดันการดำเนินงานต่างๆ มากกว่าแค่การรับการช่วยเหลือจากภาครัฐ

อนึ่ง จากผลการวิจัย 17 ชุมชน สะท้อนออกมาค่อนข้างชัดเจนว่า ปัญหาวิกฤตสุขภาพที่ชุมชนจะเผชิญในอนาคตนั้น หากมีการจัดการร่วมกัน ใช้ทุนทางสังคมที่เข้มแข็ง และประสานการทำงานร่วมกันกับหน่วยงานนอกพื้นที่ที่ทำงานด้านสุขภาพ-สุขภาวะ ก็จะสามารถก้าวผ่านทุกปัญหาไปได้ ส่วนแนวทางการดูแลสุขภาพของประชาชนที่ดีคือการใช้หลักการ ‘สร้างนำซ่อม’ หมายถึงการให้น้ำหนักความสำคัญที่การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเป็นหลัก เพื่อปกป้องไม่ให้คนเจ็บป่วยถึงขั้นล้มหมอนนอนเสื่อจนต้องเข้ารับการรักษา หรือ ‘ซ่อม’

การสร้างเสริมสุขภาพที่ดีอย่างต่อเนื่องจากนวัตกรรมที่มีในชุมชน จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยได้จริง