บอร์ด สปสช. เห็นชอบ “ข้อเสนอโอนค่าบริการเหมาจ่ายผู้ป่วยนอก-สร้างเสริมสุขภาพฯ ปี 2568” ใช้หลักเกณฑ์ปี 67 ระหว่างรอปรับหลักเกณฑ์จ่ายใหม่ ตามมติ ครม. และข้อสังเกตสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
เมื่อวันที่ 11 พ.ย. 67 นพ.ดุสิต ขำชัยภูมิ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เมื่อวันที่ 4 พ.ย. 67 ที่ผ่านมา โดยมีนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานบอร์ด สปสช. ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม ได้มีมติเห็นชอบในหลักการ “ข้อเสนอการโอนค่าบริการผู้ป่วยนอก (OP) และค่าบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (PP) แบบเหมาจ่าย โดยใช้หลักเกณฑ์การจัดสรรของปีงบประมาณ 2567 ระหว่างการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) และความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์)”
ทั้งนี้ ข้อเสนอดังกล่าวสืบเนื่องจากทางสภาพัฒน์ฯ มีข้อสังเกตต่อการจัดสรรค่าบริการ OP และ PP ภายใต้นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ถึงคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยระบุว่าการที่ประชาชนผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง 30 บาท ไปรับบริการที่หน่วยบริการอื่นที่ไม่ได้ลงทะเบียนสิทธิไว้ หรือที่หน่วยบริการสาธารณสุขพื้นฐานใกล้บ้าน ขณะที่หน่วยบริการตามสิทธิไม่ต้องจัดบริการแก่ประชาชนผู้มีสิทธิรายนั้นๆ ขณะที่ยังได้รับงบประมาณค่าเหมาจ่ายรายหัวในอัตราเดิม อาจทำให้เกิดความซ้ำซ้อนของการสนับสนุนงบประมาณในการจัดบริการได้
ดังนั้นจึงควรให้ สปสช. พิจารณาหาแนวทางการจัดสรรงบประมาณที่เป็นการรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการจัดบริการร่วมกัน ระหว่างหน่วยบริการที่ประชาชนลงทะเบียนสิทธิไว้ และหน่วยงานอื่นภายใต้ระบบบัตรทอง ซึ่งในการประชุม บอร์ด สปสช. เมื่อวันที่ 23 ก.ย. 2567 ก็ได้มอบให้ สปสช. รับข้อสังเกตจากสภาพัฒน์ พร้อมกับดำเนินการออกหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขให้เป็นไปตามมติ ครม. ด้วย
นพ.ดุสิต กล่าวว่า อย่างไรก็ดี ระหว่างรอดำเนินการตามมติ ครม. และ ความเห็นของสภาพัฒน์ รวมถึงมติบอร์ด สปสช. ข้างต้น เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบสภาพคล่องทางการเงินของหน่วยบริการ ดังนั้น จึงขอเสนอใช้เกณฑ์การจัดสรรเงินค่าบริการ OP และ PP แบบเหมาจ่ายของปีงบประมาณ 2567 ไปพลางก่อน ดังนี้
- สปสช. จะโอนเงินค่าบริการ OP และ PP ให้หน่วยบริการสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) ทั้งที่เป็นหน่วยประจำและหน่วยบริการปฐมภูมิในเครือข่าย ไม่เกิน 20% ของเงื่อนไขข้อตกลงในปี 2567
- หน่วยบริการสังกัดอื่น เช่น กรุงเทพมหานคร (กทม.) โรงพยาบาลรัฐสังกัดอื่น โอนเงินตามจำนวนประชากรที่ลงทะเบียนในอัตราเบื้องต้น เพื่อให้หน่วยบริการมีงบประมาณจัดบริการให้กับผู้มีสิทธิ
“ทั้งนี้ สปสช. จะประสานกองเศรษฐกิจสุขภาพฯ กระทรวงสาธารณสุขเร่งรัดการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีและความเห็นของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติให้แล้วเสร็จตามกรอบเวลาที่กำหนด” นพ.ดุสิต ระบุ
- 1634 views