เริ่มแล้ว สรรหาบอร์ด สปสช.- บอร์ดควบคุมฯ ชุดใหม่ วาระ 2567-2571 คัดเลือกภาคประชาชน 9 ด้าน ร่วมขับเคลื่อน “กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” ต่อเนื่อง 
 
วันที่ 21 ก.พ. 2567 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) กล่าวว่า ในการประชุมฯ วันนี้ บอร์ด สปสช. ได้รับทราบความดำเนินการตามกระบวนการคัดเลือกและสรรหาคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ดหลักฯ.) และคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข (บอร์ดควบคุมคุณภาพฯ) โดย ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ในมาตรา 15 กำหนดให้ทั้งบอร์ดหลักฯ. และบอร์ดควบคุมคุณภาพฯ มีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปี โดยคณะกรรมการฯ ทั้ง 2 ชุด ซึ่งทำหน้าในปัจจุบัน จะหมดวาระตำแหน่งในวันที่ 4 พฤษภาคม 2567 โดยในมาตรา 13 และมาตรา 48 กำหนดให้มีการดำเนินการคัดเลือกและสรรหากรรมการชุดใหม่ ในสมัยวาระ 2567-2571 เพื่อทำหน้าที่ต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้ได้เข้าสู่กระบวนของการดำเนินการแล้ว 

ทั้งนี้ บอร์ดหลักฯ. มีอำนาจหน้าที่สำคัญ คือกำหนดมาตรฐานให้บริการสาธารณสุขของหน่วยบริการและเครือข่ายหน่วยบริการ และกำหนดมาตรการดำเนินงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ การกำหนดประเภทและขอบเขตบริการสาธารณสุข การกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุนฯ และส่งเสริมและสนับสนุนการมีหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่น รวมถึงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้มีสิทธิฯ ที่ได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาล 

โดยบอร์ดหลักฯ. จะประกอบด้วยกรรมการจำนวน 30 คน มี รมว.สาธารณสุข เป็นประธาน และมีกรรมการโดยตำแหน่ง 9 คน ได้แก่ ปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงพาณิชย์ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงแรงงาน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ นอกจากนี้จะเป็นการคัดเลือกและสรรหา ประกอบด้วย 

- ผู้แทนเทศบาล อบจ. อบต. และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบอื่น (พัทยา กทม.) 4 คน 
- ผู้แทนองค์กรเอกชน 9 ด้าน 5 คน  
- ผู้แทนแพทยสภา สภาการพยาบาล สภาเภสัชกรรม ทันตแพทสภา สมาคมโรงพยาบาลเอกชน 5 คน
- ผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญ ด้านประกันสุขภาพ การแพทย์และสาธารณสุข การแพทย์แผนไทย การแพทย์ทางเลือก การเงินการคลัง กฎหมายและสังคมศาสตร์ 7 คน 

นพ.จเด็จ กล่าวว่า ขณะที่ บอร์ดควบคุมคุณภาพฯ มีอำนาจและหน้าที่สำคัญ คือควบคุมคุณภาพและมาตรฐานหน่วยบริการและเครือข่ายหน่วยบริการ, กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการร้องเรียนการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้มีสิทธิฯ ที่ถูกละเมิดสิทธิจากการใช้บริการ, สนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชนชนในการตรวจตราและควบคุมกำกับหน่วยบริการและเครือข่ายหน่วยบริการ และสนับสนุนการเผยแพร่ข้อมูลแก่ประชาชนในการเข้ารับบริการสาธารณสุข

โดยบอร์ดควบคุณคุณภาพฯ จะประกอบด้วยกรรมการจำนวน 35 คน ดังนี้ 

- อธิบดีกรมการแพทย์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ประธานสถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล และผู้อำนวยการกองการประกอบโรคศิลปะ 4 คน
- ผู้แทนแพทยสภา ผู้แทนสภาการพยาบาล ผู้แทนทันตแพทยสภา ผู้แทนสภาเภสัชกรรม และผู้แทนสภาทนายความ 5 คน
- ผู้แทนโรงพยาบาลเอกชนที่เป็นสมาชิกของสมาคมโรงพยาบาลเอกชน 1 คน
- ผู้แทนเทศบาล ผู้แทน อบจ. ผู้แทน อบต. และ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบอื่น (พัทยา,กทม.) 4 คน
- ผู้แทนผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและผดุงครรภ์ ทันตกรรม เภสัชกรรม 3 คน
- ผู้แทนราชวิทยาลัยแพทย์เฉพาะทางสาขาสูตินรีเวช ศัลยกรรม อายุรกรรม กุมารเวชกรรม 4 คน
- ผู้ประกอบวิชาชีพโรคศิลปะสาขาแพทย์แผนไทยประยุกต์ สาขากายภาพบำบัด สาขาเทคนิคการแพทย์ สาขารังสีเทคนิค สาขากิจกรรมบำบัด สาขาเทคโนโลยีหัวใจและทรวงอก สาขาการแก้ไขความผิดปกติของการสื่อความหมาย 3 คน
- ผู้แทนองค์กรเอกชน 9 ด้าน 5 คน
- ผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญ ด้านเวชศาสตร์ครอบครัว จิตเวช แพทย์แผนไทย อื่นๆ 6 คน

ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ในส่วนขั้นตอนของการสรรหาและคัดเลือก ขณะนี้ สปสช. ได้เริ่มดำเนินการแล้ว โดยเมื่อวันที่ 19 ก.พ. ที่ผ่านมา สปสช. ได้ส่งหนังสือประชาสัมพันธ์และขอความร่วมมือคัดเลือกผู้แทนระดับจังหวัด ทั้งในส่วนผู้แทน อปท. ผู้แทนประกอบวิชาชีพ ผู้แทนประกอบโรคศิลปะ และจะมีการดำเนินการคัดเลือกระดับจังหวัดให้แล้วเสร็จในวันที่ 11 เม.ย. 67 เพื่อเข้ารับการคัดเลือกระดับประเทศในวันที่ 7-9 พ.ค. 2567 เช่นเดียวกับผู้แทน รพ.เอกชน ที่จะมีการเสนอชื่อและคัดเลือกระดับประเทศในวันที่ 8 พ.ค. 2567  

สำหรับกรรมการสัดส่วนผู้แทน NGOs. นั้น ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการรับขึ้นทะเบียน NGOs. ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และจะประกาศรายชื่อองค์กรที่รับขึ้นทะเบียนในวันที่ 1 เม.ย. และจะมีการเปิดให้ยื่นอุทธรณ์ในวันที่ 19 เม.ย. จากนั้นจะประกาศผลการอุทธรณ์ในวันที่ 22 เม.ย. หลังจากนั้นจะดำเนินการจัดการคัดเลือกผู้แทน NGOs ระดับประเทศในวันที่ 9 พ.ค. 67

นอกจากนี้ในส่วนกรรมการผู้แทนราชวิทยาลัย เมื่อวันที่ 21 ก.พ. สปสช. ได้มีหนังสือแจ้งเพื่อประชาสัมพันธ์และขอความร่วมมือราชวิทยาลัยจัดการคัดเลือกผู้แทนแล้วเช่นกัน ซึ่งทางราชวิทยาลัยจะมีการดำเนินการสรรหาและส่งรายชื่อผู้แทนแต่ละสาขา เข้าร่วมเป็นกรรมการภายในวันที่ 11 เม.ย. 2567 

นพ.จเด็จ กล่าวว่า ส่วนกรรมการสัดส่วนผู้ทรงคุณวุฒินั้น ทั้งในส่วนของบอร์ดหลักฯ. จะมีการสรรหาคัดเลือกในวันที่ 13 พ.ค. 67 และในส่วนของบอร์ดควบคุมคุณภาพฯ จะมีการสรรหาคัดเลือกในวันที่ 14 พ.ค. 67 ทั้งนี้หลังจากที่ได้รายชื่อของกรรมการชุดใหม่ทั้งหมดแล้ว สปสช. จะได้ดำเนินการเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติแต่งตั้งต่อไป.