สปสช. ประกาศเปิดรับขึ้นทะเบียนองค์กรเอกชน องค์กรภาคประชาชน 9 ด้าน เพื่อรับการคัดเลือกเป็นกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข สมัยวาระ 2567-2571 ตั้งแต่วันที่ 19 ก.พ. - 22 มี.ค. 2567 นี้ กำหนดประกาศผลการขึ้นทะเบียนฯ 1 เม.ย. 67 พร้อมเดินหน้าคัดเลือกระดับประเทศวันที่ 9 พ.ค. 67

 

รศ.ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา สปสช. ได้จัดประชุมเครือข่ายองค์กรเอกชน องค์กรภาคประชาชน เพื่อชี้แจงแนวทางการขึ้นทะเบียนเป็นองค์กรเอกชน องค์กรภาคประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) เพื่อร่วมเป็นองค์กรที่จะใช้สิทธิคัดเลือกกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สมัยวาระ 2567-2571 ในส่วนของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ดหลักฯ) และคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข (บอร์ดควบคุมฯ) ในสัดส่วนผู้แทนองค์กรเอกชน องค์กรภาคประชาชน คณะละ 5 คน ในการทำหน้าที่แทนคณะกรรมการฯ ชุดปัจจุบันที่จะหมดวาระตำแหน่งลงในวันที่ 4 พ.ค. 2567 นี้

 

ทั้งนี้ ตามขั้นตอนองค์กรเอกชน องค์กรภาคประชาชนจะต้องขึ้นทะเบียนองค์กรกับ สปสช. โดยเปิดให้องค์กรเอกชน องค์กรภาคประชาชนที่สนใจสมัครขึ้นทะเบียนในระหว่างวันที่ 19 ก.พ. - 22 มี.ค. 2567 โดยต้องมีคุณสมบัติตามประกาศสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง การรับขึ้นทะเบียนองค์กรเอกชนเพื่อใช้สิทธิคัดเลือกกรรมการ ตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวคือต้องเป็นองค์กรเอกชน องค์กรภาคประชาชนที่มีวัตถุประสงค์มิใช่เป็นการแสวงหาผลกำไร และดำเนินการด้านใดด้านหนึ่ง และสามารถขึ้นทะเบียนได้เพียงด้านเดียวเท่านั้น ดังต่อไปนี้

 

1.งานด้านเด็กหรือเยาวชน 2.งานด้านสตรี 3.งานด้านผู้สูงอายุ 4.งานด้านคนพิการหรือผู้ป่วยจิตเวช

5.งานด้านผู้ติดเชื้อเอชไอวีหรือผู้ป่วยเรื้อรังอื่น 6.งานด้านผู้ใช้แรงงาน 7.งานด้านชุมชนแออัด 8.งานด้านเกษตรกร และ 9.งานด้านชนกลุ่มน้อย

รศ.ภญ.ยุพดี กล่าวต่อว่า นอกจากนี้องค์กรเอกชน องค์กรภาคประชาชนดังกล่าวยังต้องมีที่ตั้งองค์กรและมีรายชื่อกรรมการขององค์กรฯ ที่ชัดเจน เป็นองค์กรเอกชน องค์กรภาคประชาชนที่ดำเนินกิจกรรมในงานด้านที่ขอขึ้นทะเบียนมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี นับถึงวันขอขึ้นทะเบียน มีรายงานผลการดำเนินงาน หรือเอกสาร หรือภาพถ่ายที่แสดงถึงกิจกรรมในงานด้านที่ขอขึ้นทะเบียน และมีหลักฐานการเป็นนิติบุคคล

 

สำหรับกรณีที่ไม่ได้เป็นนิติบุคคลนั้น จะต้องมีหนังสือรับรองของโรงพยาบาลของรัฐที่เป็นหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือสำนักงานสาขาเขตพื้นที่ หรือสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อรับรองการมีอยู่ขององค์กรเอกชน องค์กรภาคประชาชน

 

ส่วนการรับสมัครขึ้นทะเบียนนั้น รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า สามารถยื่นคำขอขึ้นทะเบียนได้ทั้งการยื่นด้วยตนเองที่ฝ่ายสนับสนุนการมีส่วนร่วมและคุ้มครองสิทธิ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เลขที่ 120 หมู่ 3 ชั้น 2 อาคารรัฐประศาสนภักดี ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา หรือ ยื่นทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ ระบุหน้าซองถึง “ฝ่ายสนับสนุนการมีส่วนร่วมและคุ้มครองสิทธิ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 120 หมู่ 3 ชั้น 2  - 4 อาคารรัฐประศาสนภักดี ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ถ.แจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร 10220” โดยถือวันประทับตราไปรษณีย์เป็นวันที่ยื่นคำขอ หรือสามารถยื่นคำขอขึ้นทะเบียนได้ที่ สปสช.เขต ทั้ง 13 เขตพื้นที่ ในวันและเวลาราชการ

 

ทั้งนี้ เมื่อสิ้นสุดวันรับสมัครคือ วันที่ 22 มี.ค. 67 สปสช. จะพิจารณาเอกสารตามคุณสมบัติที่กำหนดและประกาศรายชื่อองค์กรฯ ที่ผ่านเกณฑ์พิจารณาและได้รับการรับรองการขึ้นทะเบียน ในวันที่ 1 เม.ย. 2567 ทาง เว็บไซด์สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ( Link : www.nhso.go.th ) พร้อมกันนี้ สปสช. จะมีหนังสือแจ้งไปยังองค์กรที่ไม่รับลงทะเบียนด้วย โดยองค์กรฯ ที่ไม่ได้รับการรับลงทะเบียนสามารถยื่นอุทธรณ์ได้ และประกาศผลการพิจารณาอุทธรณ์ในวันที่ 22 เม.ย. 2567 จากนั้น สปสช. จะจัดให้มีการผู้แทนองค์กรเอกชน องค์กรภาคประชาชนได้คัดเลือกกันเองในระดับประเทศ วันที่ 9 พ.ค. 2567 และ สปสช. จะมีการประกาศรายชื่อคณะกรรมการบอร์ดหลักฯ และบอร์ดควบคุมฯ ต่อไป

 

“ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นระบบหลักประกันสุขภาพที่เป็นของคนไทยทุกคน โดยได้เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการระบบฯ ได้ โดยผ่านกลไกการเป็นตัวแทนของประชาชนข้าไปทำหน้าที่ในบอร์ดหลักฯ และบอร์ดควบคุมฯ ดังนั้นจึงขอเชิญชวนองค์กรเอกชน องค์กรภาคประชาชนที่ต้องการเป็นเสียงของประชาชนในระบบฯ มาร่วมสมัครขึ้นทะเบียนเป็นองค์กรเอกชน องค์กรภาคประชาชนกับ สปสช. เพื่อรับการคัดเลือกเป็นตัวแทนทั้ง 2 บอร์ดต่อไป” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว