ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

บอร์ด สปสช. เห็นชอบ “แผนปฏิบัติการด้านพัฒนาดิจิทัล 10 ข้อ ประจำปีงบประมาณ 68” ในระบบบัตรทอง มุ่งสร้างระบบที่มีประสิทธิภาพ สะดวก รวดเร็ว และมีความปลอดภัยสูง พร้อมใช้ AI ตรวจสอบข้อมูลเบิกจ่าย

เมื่อวันที่ 12 ก.ย. นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เปิดเผยว่า ในการประชุมบอร์ด สปสช. เมื่อวันที่ 2 ก.ย. 2567 ที่ผ่านมา ได้มีการพิจารณาและเห็นชอบ “แผนปฏิบัติการด้านพัฒนาดิจิทัล ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568” ที่นำเสนอโดย พล.อ.อ.ทวีพงษ์ ปาจรีย์ ผู้ทรงคุณวุฒิ ฝ่ายสนับสนุนนโยบายด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ สปสช.

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ตามแผนปฏิบัติราชการของ สปสช. ฉบับที่ 5 พ.ศ. 2566-2570 มีส่วนที่มุ่งเน้นเพิ่มศักยภาพสู่องค์กร ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ขับเคลื่อนการทำงานอย่างเต็มที่ในหลายด้าน รวมทั้งนโยบายการบริการจัดการข้อมูลของ สปสช. โดยมีเป้าหมายหลักในการเพิ่มประสิทธิภาพระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) และปฏิรูปพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศ เพื่อช่วยลดภาระงานที่มีอยู่ เพิ่มประสิทธิภาพของระบบ และเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานต่างๆ

ดังนั้น จึงเป็นที่มาของข้อเสนอแผนปฏิบัติการด้านพัฒนาดิจิทัล พ.ศ. 2568 ทั้งหมด 10 ข้อด้วยกัน โดยประกอบด้วย 1. การนำข้อมูลขึ้นสู่ระบบคลาวด์ โดยในปีนี้ ทาง สปสช. ย้ายข้อมูลเข้าสู่ระบบคลาวด์แล้วทั้งสิ้น 25% คาดการณ์ว่าภายในปี 2568 ข้อมูลจะถูกบันทึกเข้าสู่ระบบคลาวด์ทั้งหมด 2. ความปลอดภัยข้อมูล โดย สปสช. ได้จัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังภัยทางไซเบอร์ ที่จะทำหน้าที่ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อพร้อมรับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์ต่างๆ 

3. การสร้างมาตรฐานการดูแลข้อมูล จัดทำระบบข้อมูล สปสช. ให้เป็นไปตามมาตรฐานธรรมาภิบาลข้อมูลและเปิดเผยข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ 4. พัฒนาระบบติดตามของ สปสช. เพื่อพัฒนาระบบกำกับติดตามเฝ้าระวังสถานะการทำงานของระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีดิจิทัลของ สปสช. 5. พัฒนาระบบเบิกจ่ายที่มีความซับซ้อน ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นด้วยการพัฒนาระบบโปรแกรมเบิกจ่ายร่วมกับ KTB และ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) 

6. พัฒนาสายด่วน สปสช. 1330 ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นรวมทั้งนำระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาช่วยในด้านการบริหารจัดการทรัพยากรและการกรอกข้อมูลในอนาคต 7. ข้อเสนอการคืนข้อมูลสุขภาพให้กับประชาชน เพื่อให้ประชาชนได้ใช้สิทธิประโยชน์และรับรู้ประวัติการรับบริการรายบุคคลผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ เช่น หมอพร้อม หรือ เป๋าตัง 

8. การนำ AI เข้ามามาสนับสนุนการปฏิบัติงานและบริการประชาชน เช่น ภายในปีนี้จะมีการนำ AI เข้ามาช่วยตรวจสอบระบบเบิกจ่าย และภายในปีหน้าคาดว่าจะเพิ่มประสิทธิภาพให้มากยิ่งขึ้น 9. การพัฒนาระบบเพื่อรองรับบุคลากรภายในและภายนอกในการใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่มีความสะดวกและปลอดภัยภายในปี 2568 และ10. การปรับปรุงกระบวนการต่างๆ ใน สปสช. เพื่อรองรับกระบวนการทำงานให้สูงที่สุดทั้งออนไลน์ และออนไซต์

ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ทั้ง 10 ด้านที่มีการเสนอในแผนปฏิบัติการด้านพัฒนาดิจิทัล จะสร้างประโยชน์ในหลายด้านให้กับหน่วยบริการ เช่น หน่วยบริการสามารถเชื่อมโยงข้อมูลการเบิกจ่ายค่าชดเชยได้สะดวกปลอดภัย รวดเร็วถูกต้อง และติดตามเบิกการชดเชยได้สะดวกมากยิ่งขึ้น รวมทั้งได้รับข้อมูลคืนกลับไปเพื่อพัฒนาคุณภาพการบริการของตนเองได้

นอกจากนี้ ในส่วนของ สปสช. เองก็จะได้รับประโยชน์ในด้านที่มีระบบที่มีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น มีความปลอดภัย รวมทั้งมี AI เข้ามาช่วยเหลือในการปฏิบัติงานและบริหารจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนการพัฒนาระบบดิจิทัลจะทำให้ระบบการเบิกจ่ายชดเชย มีความรวดเร็วครบถ้วน ถูกต้อง และลดค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาระบบได้

“ในส่วนของภาคประชาชนจะได้รับประโยชน์ในส่วนนี้ชัดมากที่สุด คือ สามารถเข้าถึงสิทธิบัตรทองได้สะดวกมากยิ่งขึ้นผ่านแอปพลิเคชัน เช่น เป๋าตังค์ ทางรัฐ และหมอพร้อม หรือผ่านระบบสายด่วน สปสช. 1330 เพื่อการดูสิทธิประโยชน์รายบุคคล ประวัติการรักษา การจองคิวการนัดหมาย และมีระบบ AI เข้ามาช่วยเหลือ รวมถึงทำให้ข้อมูลสุขภาพมีความปลอดภัยสูงมากยิ่งขึ้นอีกด้วย” นพ.จเด็จ กล่าว

นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ในแผนพัฒนาระบบดิจิทัล ยังมีส่วนที่จะกลับไปปรับปรุงเพิ่มเติม หรือ สร้างทางเลือกอื่นๆ เพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มเข้าถึงระบบได้ ไม่ว่าจะเป็นผู้ไม่สามารถเข้าถึงระบบดิจิทัลได้สะดวก หรือ กลุ่มผู้พิการเอง ต้องมีทางเลือกให้ประชาชนกลุ่มนี้สามารถเข้าถึงระบบต่างๆ ของทาง สปสช. ได้เช่นกัน