สปสช. ร่วมรณรงค์ วันเบาหวานโลก ปี 2567 “สุขกาย สุขใจ โลกสดใส ใส่ใจเบาหวาน” พร้อมหนุน อสม. ร่วมควบคุมโรคเบาหวานในชุมชน หนุนนโยบายรัฐบาล ป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง พร้อมแนะประชาชนตระหนักภัยร้ายสุขภาพ หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงเบาหวาน และออกกำลังกายสม่ำเสมอ 

เมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2567 นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า วันที่ 14 พฤศจิกายนของทุกปี สหพันธ์เบาหวานนานาชาติและองค์การอนามัยโลก กำหนดให้เป็น “วันเบาหวานโลก” เริ่มตั้งแต่ปี 2534 เป็นต้นมา และในปี 2567 ได้กำหนดประเด็นการรณรงค์ภายใต้คำขวัญ “สุขกาย สุขใจ โลกสดใส ใส่ใจเบาหวาน” (Diabetes and Well-Being) มุ่งเน้นให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี แม้จะต้องอยู่ร่วมกับโรคเบาหวาน

ทั้งนี้ โรคเบาหวาน เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่เกิดจากความผิดปกติของร่างกายในการผลิตฮอร์โมนอินซูลินไม่เพียงพอ หรือร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลไปใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง และหากเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานานจะส่งผลให้อวัยวะต่างๆ ในร่างกายเสื่อมสมรรถภาพและทำงานล้มเหลวได้ นับเป็นปัญหาสาธารณสุขสำคัญ ซึ่งทั่วโลกมีผู้ป่วยเบาหวานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงประเทศไทย ซึ่งจากข้อมูลกระทรวงสาธารณสุขมีรายงานผู้ป่วยเบาหวานในประเทศราว 6.5 ล้านคน

จาก “รายงานการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2566” ของ สปสช. ได้มีรายงานข้อมูลโรคที่ประชาชนใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) เข้ารับบริการผู้ป่วยนอกมากที่สุด พบว่า 3 อันดับแรกล้วนเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โดยเบาหวานไม่พึ่งอินซูลินมีจำนวนการเข้ารับบริการสูงเป็นอันดับ 2 ของบริการผู้ป่วยนอก เป็นจำนวน 11,309,503 ครั้ง 

อย่างไรก็ดี ตามนโยบายของรัฐบาลในการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง รวมถึงโรคเบาหวาน ในการประชุม บอร์ด สปสช. เมื่อวันที่ 4 พ.ย. ที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบสนับสนุนงบประมาณรองรับการดำเนินกิจกรรมของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในรูปแบบแพ็คเกจบริการ (Service Packages) สำหรับ อสม. เพื่อลดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในชุมชนในทุกหมู่บ้านทั่วประเทศจำนวน 75,142 แห่ง 

ทั้งนี้ มติบอร์ด สปสช. ดังกล่าวยังเห็นชอบให้จัดชุดเครื่องมือให้บริการ (Service Packages) ให้กับ อสม. เพื่อลดโรคเบาหวานในชุมชน ประกอบด้วย 1.เครื่องชั่งน้ำหนักและสายวัดรอบเอว 2.เครื่องวัดความดันโลหิตแบบพกพา 3.เครื่องวัดความเค็ม (Salt Meter) 4.เครื่องตรวจวัดระดับน้ำตาลปลายนิ้วพร้อมแผ่นตรวจ 5.การลงข้อมูลใน App SMART อสม. เพื่อให้ความรู้กลุ่มเสี่ยงและติดตามเพื่อควบคุมผู้ป่วยตามแผนการรักษาของแพทย์ และ 6.แนะนำผู้ป่วยและประชาชนใช้ Food4Health App. ในการควบคุมอาหาร ทั้งนี้อยู่ระหว่างดำเนินการภายหลังจากที่บอร์ด สปสช. ได้เห็นชอบแล้ว

นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ปีงบประมาณ 2568 นี้ สปสช. ได้จัดสรรงบประมาณค่าบริการควบคุมป้องกันรักษาโรคเรื้อรัง ซึ่งรวมถึงโรคเบาหวานนี้ เป็นจำนวน 1,299 ล้านบาท ครอบคลุมการดูแลทั้งการดูแลผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 หญิงตั้งครรภ์ที่ถูกวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวาน และหญิงตั้งครรภ์ที่พบเป็นโรคเบาหวานก่อนการตั้งครรภ์ 

“โรคเบาหวานนับเป็นวาระแห่งชาติที่ต้องใช้กลยุทธ์ เครื่องมือต่างๆ รวมถึงความร่วมมือจากทุกๆ ฝ่าย ทุกๆ ภาคส่วนในการลดจำนวนผู้ป่วยโรคเบาหวานรายใหม่ รวมทั้งการควบคุมผู้ที่เป็นโรคเบาหวานแล้วไม่ให้สู่ภาวะที่รุนแรง และเนื่องในโอกาสวันเบาหวานโลกในวันนี้ สปสช. ขอร่วมรณรงค์ โดยเฉพาะประชาชนขอให้ตระหนักต่อโรคเบาหวานที่เป็นภัยร้าย โดยเป็นสาเหตุของโรครุนแรงตามมาได้ ในการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง และดูแลสุขภาพโดยออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ” นพ.จเด็จ กล่าว