ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เริ่มแล้ว ! สธ.เปิดให้แสดงความคิดเห็นต่อ "ร่างพ.ร.บ.อสม." ก่อนจะส่งครม.เห็นชอบ  ด้าน “รมว.สมศักดิ์” เร่งให้ออกเป็นกฏหมายโดยเร็ว หวังยกระดับ อสม.ทั้งประเทศ เพื่อ สิทธิ-สวัสดิการ-ค่าป่วยการ ใหัมีเกียรติศักดิ์ศรีและยั่งยืน  

เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2567  น.ส.ตรีชฎา ศรีธาดา โฆษกกระทรวงสาธารณสุขฝ่ายการเมืองเปิดเผยว่า ขณะนี้ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณะสุข (สธ.) ได้เริ่มเปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ผ่านทางออนไลน์ กูเกิ้ลฟอร์ม โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 27 มิถุนายน ไปจนถึงวันที่ 11 กรกฎาคม 2567 รวมเวลา 15 วัน ทั้งนี้ เป็นไปตามนโยบายของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่ต้องการให้ อสม. ซึ่งมีจำนวน 1.07 ล้านคน มีกฎหมายมารองรับเพื่อสร้างหลักประกันในการได้รับค่าป่วยการ สิทธิ สวัสดิการช่วยเหลือต่างๆ การพัฒนาส่งเสริม การวางระบบและโครงสร้างของ อสม. ได้เร่งรัดให้ปลัดกระทรวง สธ.ดำเนินการยกร่างพ.ร.บ.ด้วยตระหนักว่า อสม.ในฐานะ ‘นักรบด่านหน้า’ในการดูแลสุขภาพของพี่น้องประชาชน  

สธ.เปิดให้แสดงความคิดเห็นต่อ "ร่างพ.ร.บ.อสม."

น.ส.ตรีชฎา กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ. อสม. ที่เผยแพร่ต่อสาธารณะเพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องได้แสดงความเห็นตอบคำถามต่างๆผ่านกูเกิ้ลฟอร์ม ซึ่งเป็นเรื่องสะดวกและง่ายนั้น มีทั้งสิ้น 53 มาตรา สาระสำคัญ ได้แก่ การกำหนดโครงสร้างให้มีคณะกรรมการระดับประเทศ ระดับเขตและระดับจังหวัด กำหนดองค์ประกอบและ อำนาจหน้าที่ของแต่ละระดับ,  สิทธิประโยชน์ต่างๆ สวัสดิการช่วยเหลือในการรักษาพยาบาล เช่นค่าห้อง ค่าอาหารพิเศษ รวมถึงคู่สมรสและบุตรของ อสม. เบิกค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติหน้าที่โดยเบิกได้เทียบเท่าข้าราชการระดับปฏิบัติการ ได้รับเงินค่าป่วยการในการปฏิบัติหน้าที่ ปัจจุบันได้ปรับเพิ่มจากเดือนละ 1,000 บาทเป็น 2,000 บาท, การได้รับประโยชน์จากกองทุนสนับสนุนการปฏิบัติงาน, ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์, ได้รับการประกาศเกียรติคุณเป็น อสม.ดีเด่น,  คุณสมบัติ และบทบาทหน้าที่และมาตรฐานทางจริยธรรม เป็นต้น 

น.ส.ตรีชฎา กล่าวต่อว่า การรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพ.ร.บ. อสม.เป็นขั้นตอนแรกของกระบวนตรากฏหมายออกมาบังคับใช้ หลังผ่านขั้นตอนแรกนี้แล้ว ทาง สธ.จะประมวลความเห็นนำมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงร่างพ.ร.บ. เสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบก่อนจะส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปพิจารณา หลังจากนั้นจะส่งกลับมาให้คณะรัฐมนตรีเพื่อเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเป็นลำดับถัดไป