บอร์ด สปสช. มีมติเห็นชอบ “ข้อเสนอหลักเกณฑ์บริหารกองทุนบัตรทอง ปี 2568” จัดสรรงบขาลง 1.67 แสนล้าน ดูแลประชาชนใช้สิทธิบัตรทองอย่างต่อเนื่อง ปรับการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น พร้อมเพิ่มงบบริการการแพทย์แผนไทย เป็น 31.90 บาท/ประชากร เพิ่มบริการ Home ward เป็น 14 กลุ่มโรค

เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2567  นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช) เป็นประธานการประชุม บอร์ด สปสช. ครั้งที่ 7/2567 โดยมีวาระพิจารณา (ร่าง) หลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารจัดการงบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2568 ซึ่งที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบ

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้รับจัดสรรงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) ปีงบประมาณ 2568 จากรัฐบาลจำนวน 235,842.80 ล้านบาท หรืออัตราเหมาจ่ายจำนวน 3,844.55 บาทต่อประชากร ในจำนวนนี้เป็นเงินเดือนบุคลากรภาครัฐจำนวน 68,089.63 ล้านบาท และเป็นงบประมาณที่ สปสช. นำมาบริหารจัดการจำนวน 167,753.17 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2567 จำนวน 15,014.93 ล้านบาท

ทั้งนี้ ในการจัดสรรงบเพื่อลงสู่บริการประชาชนในแต่ละปีนั้น จะมีการจัดทำหลักเกณฑ์การดำเนินการและการบริหารจัดการงบประมาณ และออกประกาศรองรับก่อน ซึ่งปีงบประมาณ 2568 สปสช. ก็ได้ดำเนินการเช่นกัน มีการระดมความคิดเห็นภาคส่วนต่างๆ ทั้งผู้ให้บริการและผู้รับบริการ รวมถึงคณะกรรมการชุดที่เกี่ยวข้อง และนำเสนอ (ร่าง) หลักเกณฑ์ฯ ต่อบอร์ด สปสช. ซึ่งให้ความเห็นชอบในวันนี้ ในกรณีที่งบประมาณรายจ่ายตาม ร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร์ ในวาระ 2 และ 3  ไม่มีการแก้ไข

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับปีงบประมาณ 2568 มีรายการใหม่ต่อเนื่องจากปี 2567 ที่ต้องมีงบประมาณเพิ่มเติมจำนวน 12 รายการ รวมเป็นงบประมาณจำนวน 2,145.23 ล้านบาท อาทิ บริการที่สถานชีวาภิบาล การรักษาภาวะมีบุตรยาก การตรวจวินิจฉัยโรคหยุดหายใจขณะหลับ บริการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ และยาในบัญชี จ.2 เป็นต้น นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญต่อบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค โดยเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์รายการใหม่ของปี 2567 และตามนโยบายรัฐบาล 11 รายการ อาทิ ตรวจคัดกรองพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีด้วยปัสสาวะ บริการสิทธิประโยชน์ผู้ต้องขับเพิ่มเติม วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก HPV เป็นต้น

และมีบริการสิทธิประโยชน์ใหม่ของปี 2568 ที่บอร์ด สปสช. เห็นชอบในวันนี้อีกจำนวน 5 รายการ ได้แก่ บริการมิตรภาพบำบัด บริการสายด่วนวัยรุ่น/สายด่วนท้องไม่พร้อม ศูนย์ให้คำปรึกษาจิตเวช บริการสุขภาพสำหรับกลุ่มคนข้ามเพศ และบริการคัดกรองวัณโรคระยะแฝง latent TB 

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2568 ยังได้ปรับปรุงการบริหารจัดการ อาทิ บริการผู้ป่วยนอก โดยกันงบประมาณจากอัตราเหมาจ่ายรายหัวบริการเพื่อจ่ายสำหรับนโยบาย “บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่” บริการกรณีเฉพาะในส่วนบริการปฐมภูมิไปที่ไหนก็ได้ ปรับระบบการจ่ายจากเดิมจ่ายตามรายการบริการ (Fee schedule) เป็นการจ่ายที่เหมาะสม เช่น แบบ pervisit และการปรับการจ่ายบริการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ (UCEP) ภาครัฐ จากจ่ายตามรายการบริการเป็นจัดสรรแบบ Grant รายปี เพื่อพัฒนาระบบบริการวิกฤตฉุกเฉินให้มีคุณภาพและจ่ายตั้งแต่ต้นปี ทั้งนี้ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ สปสช. กำหนด 

นอกจากนี้ยังมีบริการสาธารณสุขร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัด โดยขยายขอบเขตบริการจากเดิมครอบคลุมแค่บริการฟื้นฟู เป็นครอบคลุมบริการรักษาและป้องกันได้ด้วยงบท้องถิ่น รวมถึงปรับการจ่ายค่าบริการสร้างเสริมสุขภาพฯ โดยเพิ่มการจ่ายตามรายการบริการจาก 22 รายการ เป็น 28 รายการ  เช่น ค่าฉีดวัคซีนพื้นฐาน (EPI) อัตรา 20 บาท เป็นต้น

“ในวันนี้ บอร์ด สปสช. ยังได้เห็นชอบให้ปรับเพิ่มเติมงบบริการแพทย์แผนไทยจาก 20.37 บาทต่อประชากร เป็น 31.90 บาทต่อประชากร โดยขอให้ดำเนินการแปรญัตติงบประมาณเพิ่มเติมที่ระหว่างนี้อยู่ในการพิจารณาของทางสภาผู้แทนราษฎร์ ทั้งนี้เพื่อเป็นการสนับสนุนการพัฒนาการแพทย์แผนไทย และการใช้ยาสมุนไพรของประเทศ” นายสมศักดิ์ กล่าว

  
ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า การออกแบบการจ่ายภายใต้งบประมาณที่คาดกว่าจะได้รับนี้ สปสช. ยึดหลักการดำเนินการตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พ.ศ. 2561 กฎหมาย ระเบียบ และมติครม.ที่เกี่ยวข้อง ประกอบการเสนองบประมาณ การขยายบริการที่สนับสนุนการดูแลสุขภาพประชาชน การสนับสนุนบริการนวัตกรรมเพื่อลดความแออัดและเพิ่มการเข้าถึงบริการ ตามนโยบายรัฐบาล “30บาทรักษาทุกที่” การปรับหลักเกณฑ์การจ่ายชดเชยค่าบริการสอดคล้องกับระบบบริการและประชาชนเข้าถึงบริการได้อย่างเหมาะสม

การปรับระบบการจ่ายตามรายการบริการที่เหมาะสมขึ้นและควบคุมงบประมาณได้  สนับสนุนการจ่ายเพื่อเพิ่มคุณภาพบริการล้างไต การปรับการจ่ายเพื่อพัฒนาระบบบริการ บูรณาการจ่าย UCEP ภาครัฐ รวมกับ ER คุณภาพ ขยายขอบเขตบริการสาธารณสุขระดับจังหวัดให้คลอบคลุมการบริการประชาชนมากขึ้น คำนึงถึงการบริหารงบกรณีบริการสิทธิประโยชน์ใหม่ต่อเนื่องจากปี 2567 ที่ไม่ได้ของบไว้ในปี 2568 เน้นการจัดสรรดูแลกลุ่มเปราะบางหรือบริการที่ขาดแคลน สนับสนุนให้เกิดบริการด้านแพทย์แผนไทย และบูรณาการการมีส่วนร่วมจากท้องถิ่นในงบประมาณ 3 ส่วน ได้แก่ กองทุนฟื้นฟูฯ ระดับจังหวัด กองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับตำบล (กปท.) และกองทุนดูแลผู้ที่มีภาวะพึงพิงด้านสาธารณสุข 

“ตัวอย่างประเด็นที่ปรับปรุงในร่างประกาศปีนี้ อาทิ ปรับอัตราเหมาจ่ายต่อผู้มีสิทธิ รองรับนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคฯ เพิ่มบริการ Home ward ตาม DRG จาก 10 กลุ่มโรคเป็น 14 กลุ่มโรค ปรับการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองโดยใช้งบกองทุนมาตรา 47 การเพิ่มรายการ Fee Schedule สมุนไพรตามข้อเสนอกรมการแพทย์ สนับสนุนการจ่ายที่เพิ่มคุณภาพสำหรับบริการล้างไต เพิ่มวัคซีน IPV เข็มที่สอง บริการสาธารณสุขร่วมกับท้องถิ่นให้ครอบคลุมบริการผู้ป่วยจิตเวชในชุมชน เป็นต้น” นพ.จเด็จ กล่าว

นพ.จเด็จ กล่าวว่า หลังจากนี้ สปสช. จะปรับปรุงประกาศและระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับ สอดคล้องกับประกาศหลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริการจัดการกองทุนฯ ปีงบประมาณ 2568 ในกรณีที่งบประมาณรายจ่าย ร่าง พ.ร.บ.งปบะมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ไม่มีการแก้ไข