เริ่มแล้ว! มหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ 3-7 ก.ค.นี้ ที่อิมแพค เมืองทองธานี ชูศักยภาพนวดไทย สปาไทย สมุนไพร เผยไฮไลท์งาน 7 โซน อภัยภูเบศร ชูมะระขี้นก สู้เบาหวาน พร้อมแจกกล้าพันธุ์สมุนไพรสู้โรคทุกวัน วันละ 300 ต้น และหนังสือควรรู้สู้เบาหวานอีกวันละ 200 เล่ม
เริ่มแล้ว “มหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ” ครั้งที่ 21 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 3 – 7 กรกฎาคม ที่ ฮอลล์ 11 – 12 อิมแพคเมืองทองธานี โดยปีนี้ชูประเด็น “นวดไทย สปาไทย สมุนไพรไทยสู่เวทีโลก”
(ข่าวเกี่ยวข้อง : กรมพระศรีสวางควัฒน เสด็จฯ เป็นองค์ประธานเปิดงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่ 21)
โดย นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เผยว่า ตลอด 5 วันของการจัดงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ คาดว่าจะมีเงินสะพัดมากกว่า 300 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่อยู่ที่ราว 250 ล้านบาท เป็นไปตามเป้าหมายของแผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2566 –2570 ในปี 2570 ตลาดของผลิตภัณฑ์สมุนไพรของประเทศไทยจะมีมูลค่าสูงถึง 104,000 ล้านบาท
ภาครัฐได้ส่งเสริมพัฒนาสมุนไพรอย่างครบวงจร โดยในส่วนของต้นน้ำ มีการขยายพื้นที่เพะปลูกสมุนไพรจาก 18,000 ไร่ เป็น 1,059,818 ไร่ เกษตรกรปลูกสมุนไพรเพิ่มขึ้นจาก 5,400 ราย เป็นกว่า 360,000 ราย กลางน้ำ มีโรงงานภาคเอกชนผลิตยาสมุนไพร ประมาณ 1,000 แห่ง โรงงานสกัด 11 แห่ง และโรงพยาบาลที่ผลิตยาสมุนไพรตามมาตรฐาน WHO GMP ทั่วประเทศ 46 แห่ง คิดเป็นมูลค่าการใช้ยาสมุนไพรในระบบบริการสุขภาพทั่วประเทศ เฉลี่ยปีละ 1.5 พันล้านบาท และปลายน้ำ ในปี 2566 ผลิตภัณฑ์สมุนไพรภายในประเทศมีมูลค่า 56,944 ล้านบาท มีการส่งเสริมด้านการวิจัยและพัฒนาสมุนไพรมากขึ้น โดยพัฒนาต่อยอดสมุนไพรแชมเปี้ยน 12 รายการ มีผลงานวิจัยมากกว่า 141 โครงการ เพิ่มมูลค่าการส่งออกได้กว่า 6,604 ล้านบาท และยังเพิ่มการลงทุนเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมเป็น 3,631 ล้านบาท
ในเรื่องการนวดไทย สปาไทย ยังเป็นอีกโครงการที่ต้องขับเคลื่อนต่อเนื่อง เพราะไทยเรามีศักยภาพ ขณะที่ประเทศไทยยังขาดหมอนวดปีละ 4 หมื่นคน ดังนั้น หากสามารถสนับสนุนฝึกอบรมทักษะดังกล่าว จะเป็นการเสริมรายได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันมีสถาบันฝึกอบรมกว่า 400 แห่งทั้งรัฐและเอกชน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ของกระทรวงแรงงาน มีการดำเนินการ ซึ่งทางกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข สามารถร่วมมือตรงนี้ในการขับเคลื่อนได้ ซึ่งหลักสูตรยอดนิยมที่เป็นที่ต้องการคือ นวด 150 ชั่วโมงก็สามารถสร้างอาชีพได้
(ข่าว : ‘ยาอดยาบ้าเม็ดฟู่’ รับรางวัลเจนีวา - จ่อขยายสเกลบำบัดผู้เสพยา หลังใช้ใน CBTx 35 แห่ง)
ไฮไลท์ 7 โซน
สำหรับไฮไลท์ของงานได้แบ่งออกเป็นโซนกิจกรรม 7 โซน ดังนี้
1.โซน Service มีคลินิกให้คำปรึกษา ตรวจรักษาโรคด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้แก่ คลินิก 5 โรค สะเก็ดเงิน, โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ประกอบด้วย โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หลอดเลือดสมอง, โรคปวดเรื้อรังและนอนไม่หลับ, การดูแลคุณแม่หลังคลอด และคลินิกบำบัดยาเสพติด
2.โซน Wisdom พบหมอไทยดีเด่นแห่งชาติ นวดผู้มีบุตรยาก หมอพื้นบ้าน 4 ภูมิภาค นวดอัตลักษณ์ไทย อาทิ เหยียบเหล็กแดง นวดน้ำมันลังกาสุกะ นวดนักกีฬา สมุนไพรอัตลักษณ์จาก 76 จังหวัด ซึ่งบางต้นเป็นสมุนไพรหายาก ใกล้สูญพันธุ์มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม
3.โซน Product ให้คำปรึกษาเรื่องการส่งออก และภาพรวมตลาดสมุนไพร จัดแสดงนิทรรศการการวิจัยเกี่ยวกับสมุนไพรและการพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพร ผลิตภัณฑ์ Premium Product
4.โซน Wellness ให้บริการนวดไทย ในการสร้างเสริมสุขภาพ เช่น นวดเท้า คอบ่าไหล่ โชว์โมเดลการจัดสปาเพื่อสุขภาพ แหล่งผลิตภัณฑ์ชุมชน การให้คำปรึกษาเพื่อยกระดับสถานประกอบการแหล่งท่องเที่ยวอัตลักษณ์ไทย อาหารเพื่อสุขภาพ อาหารสมุนไพร 4 ภาค สวนสมุนไพรและตรวจรักษาโรคเมตาบอลิกซินโดรม
5.โซน Innovation ให้คำปรึกษา นวัตกรรม และวิจัยพัฒนา การจัดแสดงผลิตภัณฑ์นวัตกรรมต้นแบบของกองพัฒนายาแผนไทยและสมุนไพร และมหาวิทยาลัย เครือข่ายนักวิจัย การสาธิตการทำผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร บริการให้คำปรึกษาโดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน
6.โซนจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรคุณภาพ ชิม ชม ช้อป ผลิตภัณฑ์และสินค้าคุณภาพจากสมุนไพรโดยผู้ประกอบการกว่า 400 ร้าน
7.เวทีหลัก กิจกรรมเสวนาสาธิต และการแสดงศิลปวัฒนธรรม และศิลปิน นักแสดง
แจกสมุนไพร 5 วัน 6 ชนิด วันละ 300 ต้น
อีกทั้ง ภายในงานบริเวณบูธอภัยภูเบศร ยังแจกฟรี! กล้าพันธุ์สมุนไพรสู้เบาหวาน เป็นทั้งอาหารและยา วันละ 300 ต้น โดยวันแรก (3 ก.ค.) แจกไปแล้วมะขามเทศแดง
วันที่ 4 ก.ค. แจกมะระขี้นก ผลและใบลดน้ำตาลในเลือด ผลต้านอนุมูลอิสระ
วันที่ 5 ก.ค. แจกฝรั่งขี้นก ใบต้านเบาหวาน ต้านอนุมูลอิสระ
วันที่ 6 ก.ค. แจกหว้าใหญ่ ช่วงเช้า และช่วงบ่าย แจก หญ้าหวาน
วันที่ 7 ก.ค. แจกกำแพงเจ็ดชั้น ลดการดูดซึมน้ำตาลจากลำไส้ ต้านเบาหวาน ต้านการอักเสบ เป็นต้น
แจกหนังสือสมุนไพร วันละ 200 เล่ม
นอกจากนี้ ยังแจกหนังสือสมุนไพร บันทึกของแผ่นดิน 14 สมุนไพรควรรู้ สู้เบาหวาน ลงทะเบียนรับหนังสือที่งานมหกรรมสมุนไพร ครั้งที่ 21 วันละ 200 เล่ม แบ่งการแจกรอบละ 100 เล่ม
ภญ.ผกากรอง ขวัญข้าว ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านการแพทย์แผนไทย รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี กล่าวว่า ปีนี้อภัยภูเบศร เน้นการดูแลสุขภาพฟื้นฟูจากภายใน เพื่อสู้เบาหวาน อย่างมะระขี้นก พบว่าช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดี นอกจากนี้ ในเรื่องการจัดการความเครียดก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะคนไข้ที่เป็นเบาหวาน หากมีความเครียดจะยิ่งกระตุ้นให้น้ำตาลในเลือดสูง เครียดมากก็กินเพิ่มอีก การจัดการความเครียดก็เป็นสิ่งสำคัญ โดยจะมีเวทีให้ความรู้เรื่องนี้ภายในงาน
อภัยภูเบศร ชี้ "มะระขี้นก" ควบคุมน้ำตาล-เบาหวาน
ภญ.ผกากรอง ยังให้ความรู้ถึง "มะระขี้นก" ช่วยควบคุมเบาหวานได้อย่างไร ว่า มะระขี้นเป็นผักที่หาได้ง่ายมาก หลักๆ มะระขี้นกออกฤทธิ์ได้ 5 กลไกสำคัญในเรื่องของเบาหวาน คือ
1.ฟื้นฟูตับ ทำให้การสร้างการดึงน้ำตาลไปใช้มีประสิทธฺภาพมากขึ้น
2.ตับอ่อน ทำให้การหลั่งอินซูลินลดน้ำตาลได้ดีขึ้น
3.เนื้อเยื่อไขมัน ทำให้ไขมันอักเสบน้อยลง เพราะเวลาน้ำตาลเยอะๆ จะทำให้ไขมันอักเสบและทำงานผิดเพี้ยน และทำให้เพิ่มการหลั่งฮอร์โมนความอิ่ม ทำให้อิ่มมากขึ้น รับประทานน้อยลง
4.ลำไส้เล็ก ช่วยลดการดูดซึมน้ำตาล
5.ในเลือด คือ ช่วยลดน้ำตาลในเลือด
"มะระขี้นกเป็นสมุนไพรที่ปลอดภัย เพราะมีประสบการณ์การเป็นอาหาร ออกฤทธิ์ได้กว้างขวาง ไปเสริมฤทธิ์กับการใช้ยาได้ตามปกติ หากหาได้ก็เอามาปรุงเป็นอาหารได้ เช่น ส้มตำ ผัดใส่ไข่ แต่สิ่งที่ประชาชนควรรู้คือ มะระขี้นกถ้าตัวผลไม่ได้สุกจากการอายุมาก หรือไม่ได้ผ่านความร้อน เมล็ดต้องเอาทิ้งเพราะเมล็ดที่ไม่สุกมีความเป็นพิษได้" ภญ.ผกากรองกล่าว
หากจะกินเป็นอาหารแนะนำว่า ต้องกินอย่างหลากหลาย สลับไปมา และหลากสี เพาะสารในแต่ละพืชสมุนไพรก็ให้สีที่ต่างกัน เพราะฉะนั้น ยิ่งสีต่างๆ สารสำคัญต่าง ทำให้ร่างกายแข็งแรงมากขึ้น ส่วนใครที่ต้องการใช้เป็นยาหรือผลิตภัณฑ์ ดังนั้น ต้องดูความจำเป็นด้วย เช่น กินยาแผนปัจจุบันอยู่แล้วควบคุมอาการได้ ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องใช้ หรือหากใช้ยาลดน้ำตาลอยู่แต่ควบคุมไม่ได้ การใช้มะระขี้นกเสริมก็มีความเป็นไปได้
ช่วงหลังๆ มีการศึกษาในผู้ป่วยที่มีภาวะก่อนเป็นเบาหวาน คือ ยังไม่เป็นเบาหวาน แต่น้ำตาลในเลือดสูง ต้องควบคุมอาหาร ก็สามารถใช้มะระขี้นกร่วมกับการควบคุมอาหาร
ส่วนกลุ่มเสี่ยงที่ควรระมัดระวังการรับประทานมะระขี้นกนั้น ภญ.ผกากรองกล่าวว่า จะมีกลุ่มที่ค่าการกรองของไตไม่ดี ค่าการทำงานตับไม่ดี สูงกว่าค่าปกคติ 3 เท่า หรือมีโรคตับที่แอคทีฟไม่ควรกิน แต่ถ้ากินรูปแบบเม็ด กลุ่มเปราะบาง เช่น หญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร เด็ก ไม่ควรใช้ แต่ถ้าใช้รูปแบบอาหาร คุณแม่จะกินผัดมะระขี้นกใส่ไข่ก็ทำได้ในปริมาณไม่เยอะ และหลากหลาย
ทั้งนี้ ใครอยากรู้ข้อมูลสมุนไพรอื่นๆ ติดตามได้ภายในงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ 3-7 ก.ค.นี้ ที่ฮอลล์ 11-12 อิมแพค เมืองทองธานี
- 2783 views