"ตัวแทนผู้ป่วยบัตรทอง-มูลนิธิกระจกเงา" สะท้อนปมปัญหา "30 บาทรักษาทุกที่ใน กทม." ทั้งปัญหาโดนเก็บค่าบริการ - การขอใบส่งตัว- สายด่วน 1330-พฤติกรรมหน่วยบริการ  ด้าน มูลนิธิฯ เสนอ ต้องมีมาตรการลงโทษ ชี้ชีวิตคนเป็นเรื่องสำคัญ

เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2567 ที่โรงแรมเดอะบาซาร์ แบงค็อก น.ส.ขนิษฐา อดิเทพสถิต ผู้แทนกลุ่มผู้รับบริการที่ได้รับผลกระทบ กล่าวถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น ในเวทีสภาผู้บริโภคประเด็น “แนวทางแก้ไขปัญหาการส่งต่อผู้ป่วยบัตรทองในกรุงเทพมหานครเพื่อการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค” ว่า ผู้ได้รับผลกระทบร้องเรียนมาโดยตลอด ตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม ไปร้องเรียนตั้งแต่สมัย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว เป็นรมว.สาธารณสุข ครั้งที่ 2 ไปร้องเรียนให้กรุงเทพมหานครเปิดรับลงทะเบียนผู้ป่วยบัตรทองที่ศูนย์บริการสาธารณสุขในสังกัดเพิ่ม ต่อมาไปร้องเรียนรมว.สธ.ท่านใหม่ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม และครั้งที่ 4 ไปร้องเรียนผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสธ. จะเห็นว่าเราร้องเรียนมาตลอด 

โดยภาพรวมของปัญหา อาทิ  1. ปัญหาการขอใบส่งตัว คลินิกชุมชนอบอุ่นหลายแห่งไม่ส่งตัวผู้ป่วยไปโรงพยาบาล มีการกำหนดเงื่อนไขการออกใบส่งตัว เช่น เชียนใบส่งตัวให้ใบละ 1 โรค เขียนให้ระยะสั้น ออกให้วันต่อวัน และกำหนดว่าวันละไม่เกิน 20 ใบ จำกัดเวลาการออกใบส่งตัวเฉพาะเวลา เช่นตั้งแต่บ่ายโมงเท่านั้น เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน ศูนย์บริการสาธารณสุข(หน่วยบริการประจำ)  หรือศบส. ไม่ออกใบส่งตัว ให้ไปขอที่คลินิก เดิมเคยไปรับใบส่งตัวที่ ศบส.ได้ และได้ใบส่งตัวระยะเวลามากสุดถึง 1 ปี แต่พอมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจ่ายเงินของสปสช.ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2567 ก็ทำไม่ได้อีก  นอกจากนี้ รพ.ที่ส่งตัวไม่ตรงตามความต้องการ โดยคลินิกไม่ส่งตัวไปรพ.ที่มีประวัติรักษาเดิม และต้องย้ำว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถใช้โครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ได้  เป็นต้น

ทั้งนี้ ทางกลุ่มผู้ป่วย มีข้อเสนอแนะว่า สปสช.ควรกำหนดบทลงโทษกับคลินิกที่ไม่ออกใบส่งตัวให้ผู้ป่วยที่รักษาไม่ได้ สปสช.ควรดำเนินคดีทางกฎหมายกับหน่วยบริการ หากผู้ป่วยได้รับความเสียหายที่รุนแรง เช่น มีภาวะแทรกซ้อน หรือเสียชีวิต  ที่สำคัญอยากให้รพ.และคลินิกปฏิบัติเป็นมาตรฐานเดียวกัน และควรเพิ่มระบบการขอใบส่งตัวออนไลน์ ให้ให้มีระบบการขอใบส่งตัวอัตโนมัติ โดยผู้ป่วยไม่ต้องเดินทางไปคลินิก เพราะหลายคนทำงานจะไปก็ต้องลางานอีก 

2. ปัญหาโดนเก็บค่าบริการ  โดยคลินิกขอเก็บเงินบริจาคแทนที่จะเก็บเงินค่าบริการ ส่วนรพ.มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งมีการเก็บค่าบริการ 50 บาทเพิ่ม โดยแจ้งว่า สปสช.ปรับลดค่าบริการที่เบิกได้จาก 100 บาทเป็น 50 บาท โดยเก็บค่าส่วนต่าง เช่น ค่าตรวจเลือด ค่า CT Scan เวชภัณฑ์ ค่ายานอกบัญชียาหลัก แม้ว่าไม่ได้ร้องขอแพทย์ เป็นต้น  ทั้งนี้  มีข้อเสนอแนะ โดย สปสช.ควรทำมาตรฐานค่าใช้จ่ายที่เบิกได้จริงในโรงพยาบาล และชี้แจงเรื่องค่ารักษาส่วนต่างให้ชัดเจน และโรงพยาบาลต้องชี้แจงเจ้าหน้าที่หน้างานเรื่องกองทุนต่างๆ และเปลี่ยนบทบาทเจ้าหน้าที่ห้องสิทธิให้สนับสนุนผู้ป่วยให้เข้าถึงสิทธิ ไม่กีดกันการเข้าถึงสิทธิรักษา

3. ปัญหาการจัดหน่วยบริการให้ประชาชน ถือเป็นรากของปัญหา โดยสปสช.เป็นคนจัดหน่วยบริการให้ผู้ป่วยลงสิทธิเองหลักยกเลิกสัญญากับคลินิกเมื่อ 3 ปีก่อน ทำให้รพ.รับส่งต่อหน้าบัตรไม่ตรงกับรพ.ที่เคยรักษาต่อเนื่อง ขณะที่ ศบศ.ไม่เปิดรับลงทะเบียนผู้ป่วยรายใหม่ คลินิกชุมชนอบอุ่นย้ายสิทธิให้ผู้ป่วยไปยังคลินิกอีกแห่ง โดยผู้ป่วยไม่รู้ พอไปขอใบส่งตัวก็เกิดความไม่สะดวก เป็นต้น 4.ปัญหาสายด่วน 1330 ยังพบว่าเจ้าหน้าที่จับประเด็นปัญหาของผู้ป่วยไม่ได้ และตัดสินใจ ณ เวลานั้นไม่ได้ ทำให้ผู้ป่วยต้องรอ จนบางครั้งถอดใจยอมจ่ายค่าบริการหน้างาน อีกทั้ง ยังพบว่า เจ้าหน้าที่เปิดเผยข้อมูลผู้ป่วยที่ร้รองเรียนกับหน่วยบริการโดนร้องเรียน จนผู้ป่วยไม่กล้าไปรับบริการ อีกทั้ง เรื่องโดนเก็บค่าบริการ มีขั้นตอนเอกสารมาก ทำให้ต้องเขียนคำร้องพร้อมแนบหลักฐานส่งกลับไปอีก ข้อเสนอแนะ อยากให้ 1330 ปรับระบบแก้ปัญหาหน้างานให้เร็วขึ้น และขอให้สอบถามความยินยอมผู้ร้องเรียนเรื่องการเปิดเผยข้อมูลผู้ป่วย และลดขั้นตอนเรื่องการยื่นเรื่องร้องเรียน รวมทั้งให้เพิ่มคู่สาย หรือเพิ่มช่องทางการติดต่อมากขึ้น ยิ่งผู้สูงอายุเข้าถึงสมาร์ทโฟนยาก ควรเพิ่มคู่สายในการติดต่อ

5. ปัญหาพฤติกรรมหน่วยบริการ เจอคลินิกแจ้งว่า ไม่มีเงินรักษา ทำให้ไม่อยากส่งตัว ประชาชนรู้สึกเป็นพลเมืองชั้น 2 ใครจ่ายเงินจะให้บริการก่อน ถ้าบัตรทอง ไม่ต้องจ่ายให้เขาเพิ่มก็จะได้รับบริการแตกต่าง ที่สำคัญเจ้าหน้าที่คลินิกเข้าถึงระเบียนประวัติผู้ป่วย โดยไม่ได้รับอนุญาต และโทรมาข่มขู่ฟ้องร้องผู้ป่วย บอกว่าให้เตรียมทนาย ไม่ต้องมาใช้บริการ จึงขอกำหนดมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด 6. ปัญหาการเงิน สปสช.ให้อำนาจไปที่คลินิก จนประชาชนมีอำนาจต่อรองต่ำมาก  ขาดการตรวจสอบเงินที่หน่วยบริการใช้กับประชาชน และการจ่ายเงินแบบปัจจุบันไม่จูงใจให้แข่งกันทำดี ทำให้คลินิกที่ดีๆ มีคนป่วยไปลงทะเบียนและรักษายิ่งขาดทุน การเปลี่ยนโยบายการจ่ายเงินขาดการศึกษาผลกระทบ และไม่ได้มารับฟังความคิดเห็นประชาชน แม้สปสชงมีนโยบายใหม่ๆเพิ่มสิทธิประดยชน์ตลอดเวลา แต่การบริการโรคเรื้อรังที่จำเป็นยังทำไม่ดี  ดังนั้ สปสช.ควรจ่ายเงินให้เกิดการแข่งขันด้านการบริการ และควรรับฟังประชาชนอย่างรอบด้านก่อนจะปรับเปลี่ยนการจ่ายเงิน

ด้าน นายธนเดช ผู้แทนกลุ่มบริการที่ได้รับผลกระทบ กล่าวเพิ่มเติมว่า  อยากจะให้กําหนดบทลงโทษของคลินิกชุมชนอบอุ่นที่ ไม่สามารถรักษาได้หรือเกินศักยภาพแล้วไม่ส่งต่อไปตามสิทธิของผู้ป่วย รวมทั้งอยากให้มีการดําเนินคดีตามกฎหมายกับหน่วยบริการต่างๆที่ไม่ปฏิบัติตามหลักปฏิบัติที่สปสช.ออกหลักเกณฑ์มา และอยากจะให้สปสช.ชี้แจงความก้าวหน้าเรื่องการลงโทษหรือการดําเนินคดีให้แก่ประชาชนทราบเพื่อที่ประชาชนจะได้รับรู้ว่าเรื่องของที่ร้องเรียนไปไม่เงียบ   นอกจากนี้โรงพยาบาลรับส่งต่อควรที่จะกําหนดแนวทางสําหรับผู้ป่วยในกรณีที่ทั้งมีใบส่งตัวและไม่มีใบส่งตัวและชี้แจงเจ้าหน้าที่ให้เป็นแนวปฏิบัติเดียวกัน 

สำหรับข้อเสนอแนะ คือ อยากให้คลินิกมีการปฏิบัติเป็นมาตรฐานเดียวกันที่มีระเบียบปฏิบัติออกมาจากสปสช.และก็อยากจะให้เพิ่มระบบการออกใบส่งตัวออนไลน์หรืออาจจะเป็น Telemedicine เพื่อขอใบส่งตัว เพราะต้องเรียนตามตรงว่า ส่วนใหญ่ประมาณ 70% ในกรุงเทพมหานครเป็นมนุษย์เงินเดือน ถ้าจะไปขอใบส่งตัวก็ต้องมีการลางานบางทีอาจจะไปขอให้ลูกหรือขอให้พ่อแม่หรือขอให้ตัวเอง แล้วยิ่งมันมีขั้นตอนมากขึ้นก็ทําให้ผู้ป่วยต้องลางานมากขึ้นโดยที่ว่าจากเดิมแทบจะไม่กระทบกับงานเลย แต่ปัจจุบันมีการลามากขึ้น และได้รับการรักษาช้าด้วยเพราะว่ามันมีขั้นตอนมากขึ้น แทนที่จะมีการส่งตัวไปในระยะยาว แต่ก็ไม่ได้มีการอํานวยความสะดวกให้กับผู้ป่วยในการเข้าถึงการรักษาทางการแพทย์ได้ดีขนาดนั้น

"สิ่งที่ผู้รับบริการพบเจอก็คือคลินิกขอเก็บเงินบริจาคแทนเก็บเงินค่าบริการ อย่างตัวผมเองที่ไปประจําก็จะเจอคือ ตอนแรกตั้งกล่องรับบริจาคจํานวน 800 บาท เพื่อที่จะแลกกับหนังสือใบส่งตัวที่ได้ ซึ่งพอมันมีเรื่องแดงขึ้นมาก็เปลี่ยนจากคําว่า 800 เป็นตามจิตศรัทธา และสุดท้ายก็ยกเลิกไป อีกทั้งโรงพย่าบาลมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งมีการเก็บค่าบริการเพิ่ม 50 บาท โดยแจ้งว่าสปสช.ปรับลดค่าบริการที่สามารถเบิกได้จาก 100 บาทเป็น 50 บาท ประเด็นต่อมา คือ โดนเก็บค่าส่วนต่าง เช่น ค่าตรวจเลือด ค่าซีทีสแกน หรือค่ายานอกบัญชี โดยเน้นว่าไม่ได้เป็นการร้องขอจากทางผู้ป่วยแต่เป็นการออเดอร์จากแพทย์ และประเด็นต่อมาหากโดนเรียกเก็บเราไม่ยอมจ่ายให้โรงพยาบาลโดยเฉพาะโรงพยาบาลที่สังกัดของมหาวิทยาลัยจะให้ไปคุยกับสังคมสงเคราะห์ซึ่งมีขั้นตอนมากขึ้น แล้วโดนข่มขู่ว่าถ้าเกิดครั้งนี้คุณไม่ชําระเงินครั้งต่อไปคุณก็จะไม่ได้รับการรักษา" นายธนเดช กล่าว

ขณะที่ ดร.ศิวนุช สร้อยทอง มูลนิธิกระจกเงา กล่าวว่า เรื่องน่าเศร้าจากระบบบริการสุขภาพพื้นที่กรุงเทพมหานคร คือ กรณีนายพงษ์ศักดิ์ เยาวชัย  อายุ 42 ปี คนไร้บ้าน  สมาชิกโครงการจ้างวานข้า ทำงานคัดแยกเสื้อผ้ามือสองอยู่ภายในมูลนิธิกระจกเงาช่วงเดือนมกราคม 2567    เสียชีวิตจากระบบการรักษาในพื้นที่ กทม. กล่าวคือ เป็นเคสที่มีปัญหาการมองเห็น บอด 1 ข้าง เข้าการรักษาคลินิกในเดือนกุมภาพันธ์ และมีการส่งใบส่งตัวไปยัง รพ.มงกุฎวัฒนะ และนัดหมายอีกทีต้นเดือนมีนาคม เพื่อเข้าสู่การตรวจวินิจฉัยเชิงลึกว่า เพราะอะไรถึงมองไม่เห็น มีใบนัดจากรพ. ให้ไปตรวจ เราก็ไปขอใบส่งตัวจากคลินิกตามปกติ

แต่ปรากฎว่าวันที่ 7 มีนาคมไปขอใบส่งตัวจากคลินิก แต่ได้รับคำตอบว่า ออกไม่ได้ เพราะมีการกำหนดโควต้า ออกได้แค่วันละ 4 ใบ มีการประสานต่างๆ สุดท้ายไปตามนัดหมอ รพ.ไม่ได้ จนต้องเลื่อนไปจนถึงเมษายน ขณะนั้นสายด่วน 1330 ได้เข้ามาช่วยเหลือเช่นกัน มีการต่อสู้จนออกใบนัดออกมา แต่มาพบว่า เป็นก้อนเนื้อกระทบต่อเส้นประสาท จนรพ.มงกุฎวัฒนะ ส่งต่อไปรพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ 

“ขณะนั้นแพทย์บอกว่า ถ้ามาเร็วกว่านี้จะดี แต่สุดท้ายก็เสียชีวิต เพราะล่าช้าไปแล้ว นี่ไม่ควรเกิดขึ้น เรามีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อเซฟชีวิตคน การเข้าถึงบริการเบื้องต้นเกิดขึ้นได้จริงไม่ใช่หรือ แต่ตรงนี้คืออะไร ต้องกลับมาดูว่าภารกิจตรงนี้คือหายไปหรือไม่ คลินิกต้องคิดถึงความจำเป็นหรือไม่ แบบนี้ก็ต้องบอกว่า บางคลินิกเอาประชาชนเป็นตัวประกัน แบบนี้เป็นการหาประโยชน์กับประชาชนหรือไม่ คลินิกที่ทำแบบนี้ ไม่ควรปล่อยไว้” ดร.ศิวนุชกล่าว 

มูลนิธิกระจกเงา มีข้อเสนอ 4 ข้อ คือ 1. เราต้องเซฟชีวิตคนเป็นสำคัญ  เรื่องระบบจ่ายเงินแก้ไขได้ เพราะเงินพวกนี้ก็ภาษีประชาชนทั้งนั้น แต่ต้องมาดูระบบบริการสุขภาพ การให้บริการที่ได้มาตรฐาน ต้องเอาความปลอดภัย ต้องคิดถึงชีวิตประชาชนเป็นอันดับหนึ่ง 2. จากปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น เพราะขาดการกำกับดูแลอย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ แบบนี้เรายอมให้เกิดขึ้นกับกทม.หรือ หากในจังหวัด แบบนี้ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.) ดำเนินการแล้ว อะไรเกี่ยวกับหมอ แพทยสภาต้องมาจัดการแล้ว และจริงๆเบอร์ 1 อย่าง กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ที่มีหน้าที่ในการกำกับดูแลหน่วยงานที่ให้บริการสาธารณสุข ไม่ว่าจะรัฐหรือเอกชน กระทรวงฯ จะมาปล่อยแบบนี้ไม่ได้ จะบอกว่ามีมาตรฐานพื้นฐานแตกต่างไม่ได้ มาตรฐานพื้นฐานต่อชีวิตคนต้องมี

นอกจากนี้ ในส่วนกรุงเทพมหานคร จะมาบอกว่าข้อบังคับไม่ชัดเจน ก็แก้ไขให้ชัดเจนเสียที เราเป็นข้าราชการ ต้องดำเนินการ  3. ส่วนสปสช. ดูแลบริหารจัดการเงิน ฟังแล้วก็เหมือนอยากแก้ไข ก็ขอให้รีบดำเนินการ ฟิกคอร์ส หรือค่าใช้จ่ายพื้นที่ที่ต้องมีก็ต้องมี ส่วนการเพิ่มกำไรอะไรอย่างไร หากทำได้ก็เพิ่มให้เขาไป อย่างงบส่งเสริมป้องกันโรค ต้องสนับสนุนช่วยเหลือ ไม่ใช่ปล่อยให้เขาคิดเองว่า จะทำอย่างไรให้ได้เงินมากขึ้น เราก็ต้องเข้าใจเขาเหมือนกัน ไม่ใช่ปล่อยให้คลินิกขาดทุนตลอด ตรงนี้ต้องทำให้คลินิกมั่นใจ และเรื่องแพทย์ แพทยสภาก็ต้องมาดูแลไม่ใช่ว่า เมื่ออยู่ในกทม. อยู่ในคลินิกเอกชน จะไม่เกี่ยวข้องกับแพทยสภา ย่อมไม่ได้ เพราะไม่ว่าจะเป็นหมออยู่ที่ไหน แพทยสภาต้องมาดูแลทั้งหมด   รวมไปถึงสภาการพยาบาล ก็ต้องมาดูมากำกับมาตรฐานการให้บริการด้วย 4. ต้องมีมาตรการลงโทษ หากปล่อยให้มีการดำเนินการต่ำกว่ามาตรฐาน ก็ไม่เป็นธรรมกับคลินิกที่ดีๆ คนทำดีก็ถอดใจ ทำดีไป เงินไม่เพิ่ม การลงโทษคนทำไม่ดีต้องเกิดขึ้น สภาองค์กรของผู้บริหาร หากเคสไหนทำไม่ดี เสนอให้ฟ้องร้องเพื่อเป็นตัวอย่าง

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

อปสข.13 เตรียมหารือทางออกจ่ายเงินใหม่ แก้ปม ‘ส่งตัวผู้ป่วยบัตรทอง กทม.’

- เสียง "คลินิกชุมชนอบอุ่น" แลกมาด้วยภาวะขาดทุน ขออย่ามองเป็นมารร้าย