สปสช. เผย "ปมค้างจ่ายคลินิกชุมชนอบอุ่น กทม." กันงบไว้แล้ว! เร่งเคลียร์ให้เร็วที่สุด คาดปลายเดือน ต.ค.นี้ เชิญคลินิกร่วมตรวจสอบปมใบส่งตัว   ส่วนกรณีคลินิกระบุ ไม่ออกใบส่งตัว ไม่จ่ายยาโรคเรื้อรัง ถือว่าผิด! เพราะไม่อำนวยความสะดวกต่อการบริการ ย้ำขออย่าพูดเรื่องกฎหมาย เข้าใจว่ามีปัญหาจริงถึงเรียกร้อง

เมื่อวันที่ 4 ต.ค. ในพิธีเปิดศูนย์ล้างไตทางช่องท้อง เคดีเคซี ณ ศูนย์ล้างไตทางช่องท้อง เคดีเคซี ถ.มไหสวรรย์ แขวงบางคอแหลม เขตบางคอแหลม กทม. นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยถึงเรื่องใบส่งตัว ว่า ในส่วนใบส่งตัวหลังจากที่เปิดโครงการ "30 บาทรักษาทุกที่" จะมี 2 ระบบ 1. คือระบบกระดาษเหมือนเดิม 2. ระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งหากประสงค์จะใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์สามารถใช้ได้เพื่อดูข้อมูล และใช้ในการยืนยันเพื่อเบิกเงินจาก สปสช. 

อย่างไรก็ตาม ยังคงย้ำให้ประชาชนไปใช้บริการหน่วยบริการใกล้บ้าน ถึงแม้จะมีผู้ประสงค์ไปที่อื่นแต่ให้ประเมินอาการว่าบางครั้งหากอาการไม่รุนแรงก็สามารถเข้าใช้หน่วยบริการที่มีสัญลักษณ์ 30 บาทรักษาทุกที่ในหน่วยบริการปฐมภูมิได้  นอกจากนี้สำหรับปัญหาที่มีอยู่ อย่างเรื่องใบส่งตัว ขณะนี้กำลังดูแลอยู่ ซึ่งจริงๆอาจมีระบบการเชื่อมการจ่ายเงินกับ สปสช.อยู่ ตอนนี้กำลังเคลียร์อยู่ เพราะจะเห็นว่าปีที่ผ่านมาไม่ปกติจะเห็นว่ามีการปรับระบบการจ่ายเงิน ซึ่งตอนนี้ยังเคลียร์กันไม่จบ

"ฉะนั้นจะมีการประชุมกันเพื่อย้ำขอให้จบปัญหา และมีการตรวจว่าใครไม่ส่งกันแน่ เพราะบางครั้งคลินิกไม่ได้ส่งตัวแต่มีการเบิกเงิน ซึ่งในทางตรงกันข้ามหน่วยบริการที่รับไปแล้วและคิดว่าคลินิกมีการส่งตัวแต่คลินิกไม่ได้ส่งตัว ซึ่งมีการให้บริการไปแล้วมีการเกิดค่าใช้จ่ายไปแล้ว ค่าใช้จ่ายตรงนี้ สปสช.ต้องดูแล ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ว่าไม่มีงบประมาณ แต่อยู่ที่ว่าจะเอาเงินก้อนไหนไปจ่ายตรงไหนต้องช่วยกันดู" นพ.จเด็จ กล่าว

นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า ในช่วง 5 เดือนแรกที่มีการส่งตัวจำนวนประมาณ 2 ล้านกว่าเคส ที่ตรวจกันอยู่ซึ่งตรวจไปแล้ว ล้านกว่าราย ยังเหลือประมาณ ล้านกว่าราย ต้องคุยกันว่าจะตรวจอย่างไรให้เสร็จ อย่างไรก็ตามงบประมาณของกทม. ทั้งหมดได้กันไว้แล้วไม่ได้เอาเงินไปใช้อะไร ฉะนั้นจะอยู่ที่การเร่งรัดการตรวจโดยเราใช้วิธีให้คลินิกช่วยกันตรวจ เพราะถ้าสปสช.ตรวจอาจจะไม่เชื่อหรือไม่ใช่อีก ซึ่งนี่จะเป็นประเด็นที่ต้องทำการแก้ไข

เข้าใจว่าความรวดเร็วเป็นปัญหาสำคัญที่สุด บางครั้งสำนักงานต้องเร่งไม่ใช่ละเลย  ซึ่งขณะนี้กำลังมีการปรับระบบ คาดว่าปลายเดือนตุลานี้จะเชิญคลินิกให้มาตรวจเรื่องใบส่งตัว ไม่ต้องรอปลายปีเหมือนปีที่แล้ว จะทำให้เร็วขึ้นเพราะต้องทำงานแข่งกับเวลา

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีคลินิกระบุจะไม่ออกใบส่งตัว ไม่จ่ายยาโรคเรื้อรัง เพราะไม่มีเงิน ถือว่าผิดเงื่อนไขสัญญาหรือไม่...

"จริงๆภายใต้พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพฯ นั้น การไม่อำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ตามมาตรา 57 ถือว่าผิด แต่อย่าพึ่งพูดถึงเรื่องกฎหมายเลย เอาเป็นว่าเข้าใจสิ่งที่ท่านพูดเข้าใจว่ามีปัญหาถึงเรียกร้องมาแบบนี้ แต่เราจะขออนุญาตเข้าไปช่วยดูแล เพียงแต่ว่า ไม่ได้เป็นเรื่องของสปสช.เพียงอย่างเดียว การทำมีหลายหน่วยงานเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่อย่างไรก็ตามสปสช.รับผิดชอบอยู่ ไม่ต้องกังวล ยืนยันว่างบประมาณมีเตรียมไว้ เพียงแต่ว่าขั้นตอนการตรวจต่างๆต้องให้เสร็จ" 

ขอให้มั่นใจจะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด เคลียร์ให้เร็วที่สุด เพราะตอนนี้ปี 2568 แล้ว เพราะฉะนั้นเดือนนี้ จะต้องใช้งบประมาณ ปี 68 แล้ว ของเก่าก็ไม่ต้องกังวล หวังว่าจะช่วยแบ่งเบาในการลดภาระของคลินิก

นพ.จเด็จ กล่าวว่า ตอนนี้กำลังพูดคุยกันอยู่ จริงๆต้องเห็นใจคลินิกด้วย เพราะที่มีการเรียกร้องขึ้นมา คลินิกไม่มีทางออกตรงนี้เราต้องเข้าไปดู ซึ่งจะเห็นว่าเราไม่เคยออกมาตอบโต้ข่าว เพราะรู้ว่าเดือดร้อนอยู่ แต่เดือดร้อนไม่ใช่ตัวคลินิกอย่างเดียวว่าทำไมสปสช.ไม่จ่าย ทั้งนี้ต้องบอกว่าไม่ได้มีปัญหาเรื่องไม่มีเงิน ปัญหาคือบางเรื่องไม่จบต้องทำขั้นตอนที่ 1 ก่อน เพราะขั้นตอนที่ 1 ไม่ได้ ขั้นตอนที่ 2 ก็ไปไม่ได้ ตรงนี้เราต้องทำความเข้าใจ 

"เรายังยืนยันว่าคลินิกหลายคลินิกเป็นประโยชน์ต่อระบบฯ เรายังต้องการให้คลินิกเข้ามาร่วมบริการ และเราจะต้องแก้ปัญหาตรงนี้ให้ได้" นพ.จเด็จ กล่าวทิ้งท้าย

 

 

 

อ่านข่าวเกี่ยวข้อง

 

คลินิกชุมชนอบอุ่น กทม. ประท้วง สปสช.งบบัตรทองไม่พอ! ขอไม่เขียนใบส่งตัว รักษาโรคทั่วไป ไม่จ่ายยาโรคเรื้อรัง

สปสช.เพิ่มคลินิกชุมชนอบอุ่น กทม. หลังยกเลิกสัญญา 30 แห่ง แนะวิธีหากถูกปฏิเสธใบส่งตัว

คลินิกบัตรทองกทม. จ่อปฏิเสธร่วม "30 บาทรักษาทุกที่" หาก สปสช.ไม่จ่ายเงิน 30 ก.ย.นี้

นายกฯ คิกออฟ '30 บาท รักษาทุกที่ กทม.' บริการปฐมภูมิ สิ้นปีนี้ครบทั่วประเทศ

สภาผู้บริโภค ค้าน คลินิกบัตรทอง กทม. ขู่ไม่ออกใบส่งตัว ไม่จ่ายยาโรคเรื้อรัง ถ้าไร้เงินสปสช.