ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช. แจงชัดผ่านออนไลน์ ไขปมปัญหา ทั้งบัตรทองในกทม. การปรับรูปแบบการจ่าย การเพิ่มหน่วยบริการส่งต่อ รวมถึงการเข้าร่วม 30 บาทรักษาทุกที่ของคลินิกในกทม. ชี้พร้อมรับข้อเสนอ สภาองค์กรของผู้บริโภคกรณีการจัดสรรงบฯ กทม. หวังปฏิรูปการจ่ายเงินรูปแบบใหม่ไม่เหมือนกันทุกพื้นที่

เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2567 นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พูดคุยถึงเรื่อง  "30 บาทรักษาทุกที่เพื่อคนไทยสุขภาพดีถ้วนหน้า" ผ่านทางออนไลน์ หลายคนเข้ามาแสดงความคิดเห็นและตั้งคำถามประเด็นปัญหาต่างๆ  อาทิ  ปัญหาบัตรทองในกทม.จะมีการปรับรูปแบบการจ่ายหรือไม่อย่างไร การเพิ่มหน่วยบริการส่งต่อ  รวมถึงการเข้าร่วมโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ของคลินิกบัตรทองในกทม. ฯลฯ

นพ.จเด็จ กล่าวว่า  วัตถุประสงค์ของโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ คือ ลดความแออัดในรพ.โดยการเพิ่มหน่วยนวัตกรรมใกล้บ้าน อาทิ คลินิกเวชกรรม คลินิกกายภาพบำบัด คลินิกแล็บ คลินิกแพทย์แผนไทย เป็นต้น ซึ่งขณะนี้ทั่วประเทศมีประมาณเกือบ 10,000 แห่ง ใน 42 จังหวัดที่นำร่อง นอกจากนั้นยังมีบริการที่มีอยู่แล้ว เช่น เทเลเมดิซีน ที่สามารถเข้ามาเสริมทําให้พี่น้องประชาชนเข้าถึงบริการมากขึ้น อีกทั้ง สปสช.เองจะปรับระบบในการที่จะเชื่อมข้อมูลกับทุกๆหน่วยบริการให้เชื่อมกันได้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและเป็นประโยชน์ในเรื่องการเบิกจ่ายงบประมาณ ที่อาจจะเบิกได้เร็วขึ้น 

"ซึ่งล่าสุดมีการประกาศ กรุงเทพมหานคร ถามว่าทําไมเราต้องไปประกาศกรุงเทพฯในช่วงที่ผ่านมาด้วย เพราะต้องเรียนว่าขณะนี้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้มีมติให้กรุงเทพมหานครสามารถ เริ่มตามความพร้อมได้เลย ดังนั้น สปสช.เราก็ไปเริ่มระดมว่ามีหน่วยนวัตกรรมอะไรจะเข้ามา เพื่อว่าให้มีหน่วยนวัตกรรมเข้ามารองรับในบริการกรุงเทพมหานคร  อีกส่วนหนึ่งในเรื่องการไปรับบริการของพี่น้องประชาชน ในส่วนของหน่วยนวัตกรรมต่างๆตอนนี้เมื่อขึ้นทะเบียนแล้ว เราก็ต้องจ่ายเงินให้คลินิก ดังนั้นก็ต้องประกาศในราชกิจจาฯ เพื่อจะได้จัดงบประมาณไปให้คลินิกได้" นพ.จเด็จ กล่าว

นพ. จเด็จ กล่าวต่อว่า ตอนนี้พยายามจะดูว่าจุดไหนที่พี่น้องประชาชนยังขาดระบบบริการ อย่างเช่น  พื้นที่ชุมชนแออัดต่างๆ ซึ่งจะจัดบริการเชิงรุกเข้าไป อาทิ โมบายตรวจสุขภาพป้องกันโรค โมบายทันตกรรมโดยให้บริการในโรงเรียน ซึ่งในโรงเรียนอาจจะเปิดเทเลเมดิซิน ตอนนี้ได้ประสานกับทาง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) เพื่อช่วยกันในการที่จะเปิดบริการตรงนี้ในโรงเรียน นอกจากนั้น เชื่อว่าในบริการที่พี่น้องประชาชนไปรวมตัวกันหนาแน่น ไม่ว่าจะเป็น สถานีรถไฟฟ้า ตรงนี้อาจจะเปิดหน่วยนวัตกรรมต่างๆขึ้นมา ซึ่งถ้าเปิดได้จริงพี่น้องประชาชนเจ็บป่วยเล็กน้อยก็สามารถใช้บัตรประชาชนใช้การพิสูจน์ตัวตนไปขอรับบริการได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หรืออาจจะเป็นเรื่องของการไปให้บริการในเชิงรุกในชุมชน ตรงนี้เป็นสิ่งที่กรุงเทพมหานครมีความแตกต่างกับพื้นที่อื่น เรื่องนี้คงมีการสื่อสารออกไปว่าจะขยายบริการอย่างไรในส่วนของ กทม.

***เมื่อถามว่า 30 บาทรักษาทุกที่ในกทม.จะมีการเลือก รพ.หรือไม่ เช่น คนเลือกไปโรงเรียนแพทย์มากขึ้น  นพ.จเด็จ กล่าวว่า จริงๆเดิมเรามีระบบส่งต่อ เชื่อว่าในอนาคตแม้ไม่ต้องระบุโรงพยาบาลถ้ามีความจําเป็นก็ไปได้ เพียงแต่ว่าในเบื้องต้น อยากให้มีใกล้ๆบ้านจํานวนเยอะมากๆก่อน หากติดตามข่าวจะเห็นว่าทางโรงเรียนแพทย์เราเป็นห่วง เพราะหลายท่านเป็นห่วงว่าถ้าเราไปประกาศนโยบายอย่างนี้ คนจํานวนมากจะไปโรงเรียนแพทย์จนกระทั่งไม่สามารถให้บริการได้หรือไม่ คิดว่าต้องเห็นใจทางอาจารย์หรือหมอที่ปฏิบัติงาน จริงๆอุดมการณ์เราอยากให้เป็นการให้บริการในโรคที่ร้ายแรงหรือโรคที่มีความสลับซับซ้อน แต่ถ้าเป็นไข้หวัดเป็นเบาหวาน ถ้าไปโรงเรียนแพทย์พูดตรงๆว่านอกจากจะเสียเวลาแล้วก็ทําให้คนที่จําเป็นกว่าไม่ได้รับบริการด้วย เพราะฉะนั้นตรงนี้เป็นความท้าทาย

***เมื่อถามว่า ขณะนี้แก้ปัญหาบัตรทองกทม.ได้หรือไม่ หรือต้องเปลี่ยนรูปแบบการจ่ายหรือไม่   นพ.จเด็จ กล่าวว่า จริงๆรูปแบบการจ่าย เปลี่ยนมาตั้งแต่ 1 มีนาคม เปลี่ยนแล้วก็ยังมีปัญหาบางส่วนอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีคลินิกที่ได้เงินเหมาไปแล้วยังต้องตามจ่ายซึ่งเท่าที่เราดูตามจ่ายเยอะ สปสช.เองคิดว่าต้องมีการปรับปรุง แต่ต้องเรียนว่ากลไกในการเปลี่ยนไม่เปลี่ยนนั้นไม่ได้อยู่ที่สปสช.พูดแล้วจะเปลี่ยนได้เลย กลไกที่จะต้องเปลี่ยนก็จะมี อปสข. ช่วยพิจารณา รวมทั้งมีการระดมความเห็นของทั้งคลินิก คนรับบริการ ดังนั้นขออนุญาตนําเสนอกับทางผู้ที่เกี่ยวข้องอีกที ซึ่งจริงๆเรามีข้อเสนอจะปรับปรุงเพื่อให้มันดีขึ้น ตอนนี้เราพยายามส่งเสริมให้ทําสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค อย่างเช่น คลินิกถ้าออกไปในพื้นที่ไปสํารวจชุมชนเราก็มีงบประมาณให้ ตอนนี้บางคลินิกรายงานว่า เดือนนึงได้งบประมาณค่าสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคสามารถอยู่ได้เลย

***เมื่อถามว่า ก่อนหน้านี้ที่สภาองค์กรของผู้บริโภคเคยเสนอ สปสช.ไม่ควรจัดสรรเหมือนกันทั้งประเทศ ควรจัดสรร กทม.ไม่เหมือนที่อื่นเพราะบริบทไม่เหมือนกัน นพ.จเด็จ กล่าวว่า อันนี้กําลังให้ทีมเชิญคนที่เสนอมาคุยอีกครั้ง เพราะว่าข้อเสนอมีเป็นเอกสารมาแล้ว และทางสปสช.ได้สั่งการให้กับรองเลขาฯ ท่านหนึ่งได้ลงไปศึกษาให้ละเอียด แล้วเตรียมทําข้อเสนอ ช่วงนี้เผอิญอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนบอร์ด สปสช.ด้วย อาจจะรอจังหวะนิดนึง เห็นด้วยว่ากรุงเทพมหานครบริบทอาจจะไม่เหมือน แต่ทั้งหลายทั้งปวงเราควรจะจัดงบประมาณเพื่อให้ทุกคนอยู่ได้ และพี่น้องประชาชนไม่เดือดร้อน ถ้าโจทย์เป็นอย่างนี้ส่วนตัวคิดว่ามีทางออก และขอรับประเด็นนี้ไว้ เรียนว่าไม่ได้ละเลยในข้อเสนอของสภาผู้บริโภคอยากจะขอประชาสัมพันธ์ว่าคลินิกหลายแห่งที่เราจะขอเชิญมาคุยถ้าเป็นไปได้กรุณาบอกเราจะได้รู้ว่ามันติดตรงไหนอีก อย่างไรก็ตามขอรับเป็นประเด็นไว้