ความร่วมมือ “สภาองค์กรของผู้บริโภค” และ “สปสช.” แก้ปัญหาประชาชนสิทธิบัตรทองถูกเรียกเก็บค่ารักษาเพิ่ม ย้ำหาก รพ. มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม ให้หารือและเรียกเก็บจาก สปสช.แทน ไม่ต้องเรียกเก็บจากผู้ป่วย พร้อมจัดตั้งกลไกกลางดูแลการเบิกจ่ายชดเชยค่าบริการให้กับหน่วยบริการ
เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 สภาองค์กรของผู้บริโภค และ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมแถลงข่าว ความร่วมมือในการแก้ปัญหาประชาชนสิทธิบัตรทองถูกเรียกเก็บค่ารักษา ดูแลรักษาผู้ป่วยบัตรทอง “หาก รพ. มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม ย้ำให้เรียกเก็บจาก สปสช. แทน ไม่ต้องเรียกเก็บจากผู้ป่วย”
น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า จากข้อมูลการร้องเรียนด้านบริการสุขภาพที่สภาองค์กรของผู้บริโภคได้รับปี 2564 พบว่า เป็นการร้องเรียนกรณีของผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ “บัตรทอง 30 บาท” มากที่สุด จำนวน 686 กรณี หรือร้อยละ 38.58 จากเรื่องร้องเรียนทั้งหมด 1,778 กรณี โดยมีกรณีหน่วยบริการเรียกเก็บค่าบริการโดยไม่มีสิทธิที่จะเรียกเก็บ หรือเรียกเก็บเกินกว่าอัตราที่กำหนด (Extra Billing) สาเหตุหนึ่งของปัญหาคือเกิดจากความไม่เข้าใจของหน่วยบริการ หรือเข้าใจไม่ตรงกัน หรือมีข้อมูลไม่เพียงพอ รวมถึงการพัฒนาของเทคโนโลยีทางการแพทย์ ทำให้มีการเรียกเก็บค่ารักษาเพิ่มเติมจากผู้ป่วย เรื่องนี้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ต้องทำความเข้าใจกับหน่วยบริการว่า สิทธิประโยชน์ในระบบได้ครอบคลุมการรักษาผู้ป่วยเกือบทั้งหมดแล้ว ตามประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง ประเภทและขอบเขตของบริการสาธารณสุข พ.ศ. 2565 พร้อมให้ความมั่นใจด้วยว่า หน่วยบริการจะสามารถส่งเรื่องเบิกจ่ายมายัง สปสช. ได้และจะได้รับการจ่ายชดเชย
ทั้งนี้ กรณีการเรียกเก็บเพิ่มเติม ส่วนใหญ่จะเป็นกรณีการใช้ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ต่างๆ ซึ่งต้องบอกว่า หาก รพ.แจ้งว่าผู้ป่วยต้องรักษาโดยวิธีนี้ ใช้ยา และใช้อุปกรณ์ต่างๆ จะเก็บเงินกับผู้ป่วยไม่ได้ ดังนั้นอยากฝากไปยังผู้ป่วยให้รับรู้สิทธิเหล่านี้ และ รพ. เองก็ไม่ควรเรียกเก็บเงินจากผู้ป่วย เนื่องจากสามารถเบิกจ่ายจาก สปสช. ได้ และการเรียกเก็บเงินในลักษณะนี้ยังทำให้เกิดหลายมาตรฐานในการรักษาพยาบาล ทั้งที่บริการรักษาพยาบาลควรเป็นมาตรฐานเดียวกัน
น.ส.สารี กล่าวว่า ขอยก 2 กรณีตัวอย่าง คือ กรณีที่ 1 เป็นผู้ป่วยหญิงอายุ 53 ปี รับการักษาด้วยอาการปวดท้อง อาเจียน และมีไข้สูง ที่ รพ.แห่งหนึ่งในจังหวัดนนทบุรี แพทย์ตรวจและวินิจฉัยว่าเป็นภาวะท่อน้ำดีอักเสบ ต้องรับการผ่าตัด โดยผู้ป่วยขอรับการผ่าตัดแบบธรรมดา แต่แพทย์ระบุว่าต้องเป็นการผ่าตัดส่องกล้องเพื่อไม่ให้เป็นอันตราย ทำให้ถูกเรียกเก็บค่ารักษาเพิ่มจำนวน 32,442 บาท เมื่อเข้าสู่คณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข ของ สปสช. เห็นว่าเป็นภาวะที่ผู้ป่วยต้องรับการรักษาด้วยวิธีส่องกล้อง จึงมีมติให้คืนเงินพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 และอีกกรณีหนึ่งเป็นผู้ป่วยหญิงอายุ 81 ปี พลัดตกเก้าอี้ ผ่านมา 1 สัปดาห์ผู้ป่วยลุกเกินไม่ได้ จึงเข้ารักษาที่ รพ.แห่งหนึ่งใน กทม. ทั้งนี้ผู้ร้องขณะนั้นไม่ทราบว่าผู้ป่วยมีสิทธิส่งต่อรักษาที่ รพ. ดังกล่าว โดย รพ.ได้เรียกเก็บเงินค่ารักษาเป็นจำนวน 6,070 บาท ดังนั้นคณะกรรมการควบคุมคุณภาพฯ จึงมีมติให้ รพ.ดังกล่าวคืนเงินค่ารักษาพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ให้กับผู้ร้องเช่นกัน
ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า กรณีหน่วยบริการเรียกเก็บค่าบริการโดยไม่มีสิทธิที่จะเรียกเก็บฯ เบื้องต้นต้องชี้แจงว่าตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 หน่วยบริการสามารถเรียกเก็บค่าบริการได้ตามที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) กำหนด ด้วยสิทธิประโยชน์ในระบบที่ถูกกำหนดอย่างครอบคลุม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในระบบบริการได้
อย่างไรก็ตามยอมรับว่าปัญหาการเรียกเก็บค่าบริการโดยไม่มีสิทธิเรียกเก็บฯ นี้ยังคงเกิดขึ้น ข้อมูลปี 2565 ได้จำแนกเรื่องร้องเรียนตาม “กลุ่มประเภทบริการที่ถูกจัดเก็บ” ปรากฏว่า กรณีถูกเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลทั้งบิลใบเสร็จ มีจำนวนสูงสุด 282 เรื่อง รองลงมาเป็นค่าตรวจคัดกรองความเสี่ยงโรคโควิด 19 จำนวน 108 เรื่อง ค่ายานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ 46 เรื่อง ค่าตรวจวินิจฉัยทางเทคนิคการแพทย์และพยาธิวิทยา 34 เรื่อง ค่ายาในบัญชียาหลักแห่งชาติ 21 เรื่อง เป็นต้น เมื่อจำแนกการร้องเรียนตาม “กลุ่มอาการและโรคที่เข้ารับบริการ” ปรากฏว่า เป็นกรณีถูกเรียกเก็บค่าบริการโรคระบบทางเดินหายใจมากที่สุด 221 เรื่อง รองลงมาเป็นบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ 53 เรื่อง ตั้งครรภ์และการคลอด 37 เรื่อง โรคระบบประสาทและสมอง 32 เรื่อง โรคระบบย่อยอาหาร 32 เรื่อง เป็นต้น
นพ.จเด็จ กล่าวว่า คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) รับทราบปัญหานี้ และมอบให้ สปสช. เร่งแก้ไขปัญหาโดยเร็ว ซึ่ง สปสช. ได้มีการขับเคลื่อน อาทิ จัดสิทธิประโยชน์บริการสุขภาพอย่างครอบคลุม ออกประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่องประเภทและขอบเขตของบริการสาธารณสุข พ.ศ. 2564 เป็นการปรับปรุงจากประกาศฉบับเดิม เพื่อให้เกิดความชัดเจนในบริการสุขภาพ การจัดทำคู่มือ Extra Billing อะไรทำได้ ทำไม่ได้ เพื่อทำความเข้าใจกับหน่วยบริการ
นอกจากนี้ได้จัดกลไกเพื่อให้เกิดหารือร่วมกันอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่การมี Provider center หรือศูนย์บริการสำหรับหน่วยบริการเพื่อรับเรื่องจากหน่วยบริการ โดยขณะนี้อยู่ในระหว่างพัฒนาสายด่วน สปสช. 1330 เพื่อรับเรื่องจากหน่วยบริการและประสานงานที่รวดเร็ว ซึ่งหากรายการบริการนั้นอยู่ในรายการที่ สปสช.จ่ายได้ หน่วยบริการก็จะได้สบายใจ ไม่ต้องเรียกเก็บจากผู้ป่วย เพราะ สปสช.จ่ายให้แน่นอน แต่หากไม่มีอยู่ในรายการ เป็นต้นว่าเป็นยาใหม่ ยาราคาแพง หรือเป็นเทคโนโลยีการรักษาใหม่ ก็จะมีกลไกหารือร่วมกันต่อไป
“สปสช. เตรียมที่จะจัดการชี้แจงและทำความเข้าใจเรื่องนี้ต่อหน่วยบริการในระบบท ซึ่งค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ป่วยบัตรทองทั้งหมดไม่ต้องเรียกเก็บจากหน่วยบริการ และขอให้ส่งเรื่องเบิกจ่ายกับ สปสช. แทน ในกรณีที่ไม่แน่ใจขอให้หารือมาที่ สปสช.แทน ทั้งนี้ สปสช.จะจ่ายให้ตามอัตราที่ตกลงร่วมกัน ขอย้ำว่าวันนี้ สปสช.ไม่ได้โยนความรับผิดชอบไปให้ เราไม่ได้แค่บอกว่าห้ามเก็บค่าบริการเพิ่มแล้วปล่อยให้ปัญหาผ่านไป แต่จะจัดระบบเพื่อให้มีช่องทางพูดคุยร่วมกันว่าบริการไหนจำเป็นและดีจริง ซึ่ง สปสช. ยังไม่ได้กำหนดการจ่ายให้ ก็จะเข้าไปเพิ่มเติมในส่วนนี้” เลขาธิการ สปสช. กล่าว
นพ.จเด็จ กล่าวว่า สำหรับประชาชนผู้ใช้สิทธิบัตรทอง หากถูกเรียกเก็บค่าบริการเพิ่ม ก่อนที่จะชำระเงินสามารถโทรสอบถามได้ที่สายด่วน สปสช. 1330 หรือติดต่อผ่านไลน์ออฟฟิเชียลของ สปสช. ไลน์ไอดี @nhso และทราฟฟี่ ฟองดูว์ (Traffy Fondue) ได้ในทันที ซึ่ง สปสช.จะมีเจ้าหน้าที่ดำเนินการเพื่อเจรจากับทางสถานพยาบาล
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
1.สายด่วน สปสช. 1330
2.ช่องทางออนไลน์
• ไลน์ สปสช. พิมพ์ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6
• Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ https://www.facebook.com/NHSO.Thailand
- 2988 views