สส.การณิก พรรคประชาชน ชี้บุคลากรในโรงพยาบาลทำงานหนักเกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน แต่ค่าตอบแทนน้อย ค้านโครงการผลิตแพทย์ หมอครอบครัว หากไม่มีอัตรากำลัง สุดท้ายผลิตออกมาก็กระจุกตัว รพ.ศูนย์ หรือออกไปอยู่เอกชน แนะจัดสรรงบฯให้สอดคล้องกับการพัฒนาศักยภาพของโรงพยาบาลชุมชน หรือโรงพยาบาลอำเภอ

เมื่อวันที่ 5 กันยายนที่ผ่านมา น.ส.การณิก จันทดา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เชียงใหม่ พรรคประชาชน กล่าวในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร  ครั้งที่ 22 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) เป็นพิเศษ ว่า ปัจจุบันนี้ บุคลากรหน้างานในโรงพยาบาลต่าง ๆ ที่ต้องให้บริการประชาชน ทั้งแพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ เภสัชกร ตลอดจนผู้ช่วย เวรเปล แม่บ้าน ทุกองคาพยพในโรงพยาบาลที่ต้องทำงานหนักเกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน แต่ได้รับค่าตอบแทนที่น้อย

ที่สำคัญ เพื่อนร่วมงานมาไม่ได้ ต้องการที่จะลาหยุด ก็ต้องมาทำงานแทน เพราะไม่สามารถขาดคนในแต่ละเวร แต่ละวันได้ เพราะข้อจำกัดด้านกรอบงาน หลายครั้งจะได้ยินข่าวอุบัติเหตุของพยาบาล แพทย์ ที่ขับรถหลับในได้รับอุบัติเหตุก่อนถึงที่พัก โดยแพทย์จบใหม่เป็นธรรมเนียมที่จะเข้าเวรตั้งแต่ 8 โมงเช้าออกเวรอีกทีหลัง 4 โมงเย็นของอีกวัน หมอที่ต้องขึ้นเวร พยาบาลที่ต้องควบเวร แล้วต้องตรวจ ดูแลคนไข้จะเหนื่อยขนาดไหน

"ไม่ค่อยเห็นด้วยกับโครงการต่าง ๆ โดยเฉพาะโครงการที่เป็นเงินอุดหนุนสำหรับผลิต พัฒนาอาจารย์แพทย์ และแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว หรือแม้แต่โครงการผลิตแพทย์เฉพาะทางต่าง ๆ โดยที่กระทรวงสาธารณสุขยังไม่ได้วางแผนสำหรับการขยายโอกาสการรับแพทย์เฉพาะทางเหล่านี้ คนที่ไปเรียนต่อกลับเข้าสู่โรงพยาบาลชุมชน ไม่มีกรอบอัตรากำลัง ไม่มีตำแหน่งเฉพาะทางในโรงพยาบาลรอบนอก สุดท้ายผลิตออกมา แพทย์ พยาบาล เฉพาะทาง มีความเชี่ยวชาญ ก็กลับไปกระจุกตัวที่โรงพยาบาลศูนย์หรือโรงพยาบาลใหญ่ ๆ หรือผลิตแล้วก็ลาออกไปอยู่เอกชน" น.ส.การณิก กล่าว

น.ส.การณิก กล่าวด้วยว่า ตนเชื่อว่า การช่วยกันพัฒนาศักยภาพของโรงพยาบาลประจำอำเภอ หรือโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) ให้มีแพทย์เฉพาะทางพื้นฐาน สูตินรีแพทย์ ศัลยแพทย์ แพทย์อายุรกรรม กุมารแพทย์ ให้ครบในโรงพยาบาลทุติยภูมิแต่ละแห่ง ค่อย ๆ จัดสรรงบประมาณลงไปจะช่วยในการรองรับผู้ป่วยไม่ให้ไปกระจุกตัวในโรงพยาบาลใหญ่ ๆ และช่วยกระจายงานให้บุคลากรภายในโรงพยาบาลทำงานได้ดียิ่งขึ้น

การที่สาธารณสุขจังหวัดจัดลำดับโรงพยาบาลตามขนาดเตียงกับเฉพาะทางบางชนิดให้กับโรงพยาบาลชุมชน ไม่ว่าจะเป็นแบบ A แบบ S M1 M2 F1 F2 มีผลต่ออัตรากำลังเจ้าหน้าที่ ซึ่งจะส่งผลต่อการได้รับเงินค่าหัวจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โรงพยาบาลอำเภอหลายที่ถูกจำกัดการพัฒนาศักยภาพ ไม่สามารถรับการรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคเฉพาะทางหรือโรคยาก ๆ ได้ 

ขอยกตัวอย่าง โรงพยาบาลชุมชนหลายที่ไม่สามารถผ่าตัดคลอดได้ ทำอย่างไร คนไข้ก็ต้องถูกส่งตัว เมื่อคนไข้มาแล้วแต่ไม่อาจคลอดแบบธรรมชาติได้ อาจจะเป็นเพราะว่า ตรวจแล้วเด็กกลับหัวแต่ไม่สามารถคลอดปกติได้ คนไข้ก็ต้องถูกส่งตัวไปโรงพยาบาลอื่น โรงพยาบาลอำเภอที่ถูกยกระดับไปแล้ว หรือส่งต่อโรงพยาบาลศูนย์ ทำให้คนไข้ทั้งแม่และลูกเสี่ยงต่อความปลอดภัยตลอดการเดินทาง ทั้งช่องว่างเรื่องระยะเวลาในการเดินทาง และความปลอดภัยหากคลอดระหว่างทาง

เมื่อแพทย์ที่ต้องเติบโตในหน้าที่การงาน พยาบาลที่อยากเก่งเฉพาะด้าน การเรียนต่อเฉพาะทางใช้งบประมาณที่สูงในการผลิตคน แต่ว่ากลับไม่มีตำแหน่งงานในโรงพยาบาลอื่น ๆ ให้กับพวกเขา

ส่วน 30 บาทพลัส ก็ไม่รู้ว่าจะเกิดปัญหาคนไข้ล้นในโรงพยาบาลใดโรงพยาบาลหนึ่งหรือไม่ ก็อยากให้ช่วยพิจารณาจัดสรรงบประมาณให้สอบคล้องกับการพัฒนาศักยภาพของโรงพยาบาลชุมชน หรือโรงพยาบาลอำเภอ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

- สส.กิตติศักดิ์ฝาก สมศักดิ์ แก้ปม รพ.ขาดทุน ชู อสม. เสาหลักของสาธารณสุข

- "ครูมานิตย์" วอนงบปี 68 ขอเพิ่มค่าตอบแทน "บุคลากรทางการแพทย์"