กรมอนามัย เผยนโยบายปี 2568 ใช้งบประมาณ 157.84 ล้านบาท ขับเคลื่อนงาน 4 เสาหลัก “โครงการพระราชดำริ -ความรอบรู้สุขภาพ - ส่งเสริมสุขภาพ 4 กลุ่มวัย กับเวชศาสตร์วิถีชีวิต และอนามัยสิ่งแวดล้อม” แบ่งย่อยโครงการอีกเพียบ!  งานกลุ่มแม่และเด็กเยอะสุด ขณะที่บุคลากรกรมฯ เพียง 3,696 คนเท่านั้น กลุ่ม Gen X และ Y มากสุด

 

เมื่อเร็วๆนี้ นายเดชอิศม์ ขาวทอง  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข  เข้าตรวจเยี่ยม พร้อมมอบนโยบายแก่กรมอนามัย เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งมี พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย พญ.นงนุช ภัทรอนันตนพ รองอธิบดีกรมอนามัย นพ.ปองพล วรปาณิ รองอธิบดีกรมอนามัย นพ.ธิติ แสวงธรรม รองอธิบดีกรมอนามัย และผู้บริหาร บุคลากร เจ้าหน้าที่กรมฯ ให้การต้อนรับ

โดย นายเดชอิศม์ ได้เข้าตรวจเยี่ยมจุดสำคัญต่างๆ ของกรมอนามัย ทั้ง พิพิธภัณฑ์ Health Museum  อาคาร DOH Data Center ซึ่งเป็นอาคารสำหรับใช้ติดตามสถานการณ์อนามัยสิ่งแวดล้อม และยังจัดตั้งเป็นศูนย์บัญชาการด้านข้อมูลและศูนย์กลางในการผลิตสื่อสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพของกรมอนามัย ซึ่งได้เปิดใช้งานเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา  นอกจากนี้ ยังเยี่ยมชม บ้านรื่นรมย์ Elderly Day care ศูนย์เด็กเล็กวัลลภไทยเหนือ และ Fitness Center กรมอนามัย

บุคลากรกว่า 3.6 พันคน เตรียมรับ 4 นโยบายปี 68

พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย  กล่าวตอนหนึ่งในการรายงานข้อมูล ว่า ปัจจุบันกรมอนามัยมีบุคลากรรวม 3,696 คน ซึ่งเป็นข้าราชการ 2,021 คน นอกนั้นเป็นพนักงานราชการ ลูกจ้างประจำ พนักงานกระทรวงสาธารณสุข และพนักงานจ้างเหมาบุคคลภายนอก โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม Gen X และ Gen Y สำหรับนโยบายประจำปีงบประมาณ 2568 ประกอบด้วย

1. Healthy Royal Initiatives for sustainable well-being   สืบสานโครงการพระราชดำริ โครงการเฉลิมพระเกียรติฯ เพื่อความเป็นอยู่ที่ดี เช่นราชทัณฑ์ปันสุข สืบสานพระราชปณิธานฯ ต้านภัยมะเร็งเต้านม เป็นต้น

2. Healthy Promotion for stronger future ส่งเสริมสุขภาพประชาชน ลดโรค NCDs เสริมสร้างการดูแลผู้สูงอายุ

3. Healthy Environment thriving communities อนามัยสิ่งแวดล้อมได้มาตรฐาน เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีทุกชุมชน

4. Healthy organization driving innovation เสริมสร้างองค์กรเข็มแข็ง พัฒนาบุคลากรและนวัตกรรมเพื่ออนาคต

 

จากนโยบายดังกล่าวสรุปได้ 4 โครงการหลัก คือ 1.โครงการพระราชดำริ 13.12 ล้านบาท 2.โครงการความรอบรู้สุขภาพ 15.31 ล้านบาท  3.โครงการส่งเสริมสุขภาพ 4 กลุ่มวัย  แบ่งเป็นแม่และเด็ก 44.81 ล้านบาท  วัยเรียนวัยรุ่น 16.78 ล้านบาท วัยทำงาน 7.45 ล้านบาท วัยสูงอายุ 27.96 ล้านบาท และเวชศาสตร์วิถีชีวิต 7.6 แสนบาท และโครงการอนามัยสิ่งแวดล้อม 31.65 ล้านบาท  รวมงบประมาณ 157.84 ล้านบาท

โครงการพระราชดำริ  งบฯ 13.12 ล้านบาท

ด้าน พญ.นงนุช ภัทรอนันตนพ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า  สำหรับโครงการปี 2568  ยกตัวอย่าง   การขับเคลื่อนโครงการพระราชดำริ ในปี 2568 ใช้งบดำเนินงาน 13.12 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการย่อยๆดังนี้

1. โครงการควบคุมและป้องกันภาวะโลหิตจาง งบ 1.41 ล้านบาท กลุ่มเป้าหมายคือ หญิงเจริญพันธุ์ ในช่วงอายุ 15-49 ปี เป็นกลุ่มสำคัญเป็นต้นน้ำของการดูแลสุขภาพของแม่ไม่ให้เกิดภาวะฉีด  ซึ่งกรมฯได้ผลักดันยาเม็ดเสริมธาตุเหล็ก อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์เรียบร้อยแล้ว และปีงบประมาณ 2568 จะสนับสนุนให้สถานประกอบการทุกแห่งสนับสนุนการเข้าถึงชุดสิทธิประโยชน์ให้หญิงเจริญพันธุ์ทุกคน  โดยเป้าหมายต้องมีสถานประกอบการสาวไทยแก้มแดงต้นแบบ 250 แห่ง หญิงวัยเจริญพันธุ์เข้าถึงชุดสิทธิประโยชน์ร้อยละ 20 

2.โครงการควบคุมและป้องกันสารไอโอดีนแห่งชาติ 2.03 ล้านบาท เป้าหมายให้ชุมชนเกิดหมู่บ้านไอโอดีน  58,079 แห่ง สนับสนุนยาเม็ดเสริมไอโอดีนหญิงตั้งครรภ์ร้อยละ 90

3.ส่งเสริมการดูแลและเฝ้าระวังตนเองจากโรคมะเร็งเต้านม 2 ล้านบาท เป้าหมายให้มีจังหวัดขับเคลื่อนเรื่องนี้ 76 จังหวัด หญิงสามารถคัดกรองมะเร็งด้วยตนเองร้อยละ 70

4.ส่งเสริมโภชนาการและสุขภาพอนามัยเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร(กพด.) ใช้งบฯ 2.63 ล้านบาท เป้าหมายให้เกิดภาคีเครือข่ายเข้าถึงสิทธิส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค หรือPP  700 แห่ง เด็กและเยาวชนมีทักษะจัดการตนเองร้อยละ 60

5.เฝ้าระวังน้ำบริโภค งบ 2.73 ล้านบาท เป้าหมายเกิดโรงเรียน กพด.  โดยเป้าหมายต้องให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงน้ำสะอาดร้อยละ 50 มีต้นแบบโรงครัว 203 แห่ง  อีกทั้ง ล่าสุดกรมอนามัย ยัง MOU ร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์บริการของ กระทรวง อว. และกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน ทำเครื่องกรองน้ำเอาไปใช้ในโรงเรียน กพด.

6.โครงการราชทัณฑ์ปันสุข 2.32 ล้านบาท ปัญหาที่พบส่วนใหญ่คือ ทันตสุขภาพ ที่ผ่านมากรมอนามัยได้อบรมอาสาสมัครสาธารณสุขเรือนจำ หรือ อสรจ. เพื่อให้มีความรู้ในเรื่องการส่งเสริมสุขภาพช่องปาก รวมถึงอาหาร สุขอนามัยในเรือนจำ ทั้งนี้ ตั้งเป้าให้มีเรือนจำต้นแบบครบวงจร 4 แห่ง และเรือนจำจัดการสุขาภิบาลฯ ระดับดีร้อยละ 80

งบฯรอบรู้ด้านสุขภาพ 15.31 ล้านบาท

“นอกจากนี้ ปี 2568 ยังมีโครงการความรอบรู้ด้านสุขภาพ ใช้งบฯ 15.31 ล้านบาท แบ่งเป็น 2 โครงการย่อย คือ โครงการยกระดับการพัฒนาองค์กร และชุมชนรอบรู้ ใช้งบ 2.68 ล้านบาท และโครงการสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพประชาชน ใช้งบฯ 12.63 ล้านบาท ซึ่งจะส่งเสริมกิจกรรมด้านสุขภาพที่เรียกว่า ENDO Anamai  ทั้งการออกกำลังกาย โภชนาการที่ดี ฯลฯ” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว

ขณะที่ นพ.ปองพล วรปาณิ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงโครงการอื่นๆในปี 2568 ว่า  เป้าหมาย ต้องการให้คนไทยมีอายุขัยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันเฉลี่ยที่ 74.3 ปี ต้องเพิ่มเป็น 85 ปี ส่วนอายุคาดเฉลี่ยของการมีสุขภาพดีเพิ่มขึ้น ปัจจุบันเฉลี่ย  67.8 ปี เพิ่มเป็น 75ปี  ตอนนี้ผู้หญิงมีอายุยืนกว่าผู้ชาย  ซึ่งการจะดำเนินการตามเป้าหมายให้คนไทยมีอายุขัยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 85 ปี  กรมอนามัยมีโครงการขับเคลื่อนงานส่งเสริมสุขภาพ 4 กลุ่มวัย ดังนี้

แม่และเด็กมี 3 โครงการ รวมงบ 44.81 ล้านบาท 

1.โครงการมหัศจรรย์ 1,000 วัน Plus สู่ 2,500 วัน ใช้งบฯ 25.63 ล้านบาท  โดยดำเนินการต่างๆ เช่น ขับเคลื่อนตำบลมหัศจรรย์ 1,000 วันฯ ตั้งเป้าให้เพิ่มขึ้นร้อยละ 10  หญิงตั้งครรภ์ตรวจสุขภาพช่องปากเพิ่มเป็นร้อยละ 70  อัตราทารกเกิดไร้ชีพต้องไม่เกิน 5 ต่อพัน ทารกคลอดก่อนกำหนดไม่เกินร้อยละ 8  และทารกแรกเกิดจนถึง 6 เดือนกินนมแม่อย่างเดียวร้อยละ 65 

2.โครงการแก้ปัญหาภาวะเตี้ย ผอม และอ้วนในเด็ก งบ 3.71 ล้านบาท โดยดำเนินการพัฒนา การสื่อสารแบบบูรณาการระดับท้องถิ่น พัฒนาระบบบริการส่งเสริมโภชนาการและการเข้าถึงอาหารตามวัย  เด็กมีภาวะเตี้ยไม่เกินร้อยละ 9 เด็กมีภาวะผอมไม่เกินร้อยละ 5 และเด็กมีภาวะเริ่มอ้วนและอ้วนไม่เกินร้อยละ 8

3.โครงการส่งเสริมการมีบุตรอย่างมีคุณภาพ ใช้งบฯ 15.46 ล้านบาท มีการดำเนินการทั้งการส่งเสริมการจัดบริการคลินิกส่งเสริมการมีบุตร ยกระดับการเข้าถึงบริการให้คำปรึกษาทางเลือก และบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย ตั้งเป้าประชากรวัยเจริญพันธุ์ใช้ชีวิตคู่และต้องการมีบุตรเข้าถึงบริการคลินิกฯ 12,000 คน หญิงตั้งครรภ์ไม่พร้อมเข้าถึงบริการให้คำปรึกษาทางเลือกฯ 10,000 คน และกลุ่มเปราะบางที่ได้รับบริการการวางแผนครอบครัวและคุมกำเนิดตามความสมัครใจ 2,000 คน

วัยเรียนวัยรุ่น มี 2 โครงการ ใช้งบ 16.78 ล้านบาท

1.โครงการสร้างเสริมสมรรถนะสุขภาพเด็กและเยาวชนในศตวรรษที่ 21 วงเงิน 15.74 ล้านบาท โดยผลักดันและขับเคลื่อนการส่งเสริมสุขภาพเด็กและเยาวชนในศตวรรณที่ 21

2.โครงการ พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559 วงเงิน 1.04 ล้านบาท ผลักดันขับเคลื่อนกลไกการดำเนินงานตามพ.ร.บ.ป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559 โดยเป้าหมาย ดังนี้ อัตราคลอดมีชีพในหญิงอายุ 10-14 ปี ไม่เกิน 0.6 ต่อพัน อัตราคลอดมีชีพในหญิงอายุ 15-19 ปี ไม่เกิน 19 ต่อพัน และร้อยละของการตั้งครรภ์ซ้ำหญิงอายุน้อยกว่า 20 ปีต้องไม่เกินร้อยละ 12.5

วัยทำงาน มี 2 โครงการ ใช้งบ 7.45 ล้านบาท 

1.โครงการวัยทำงานมีสุขภาพและสุขภาวะที่ดีด้วยเวชศาสตร์วิถีชีวิต   

2.โครงการก้าวท้าใจ  Long Life Thai Fit

 

วัยสูงอายุ มี 4 โครงการ ใช้งบ 27.96 ล้านบาท 

1.โครงการผู้สูงอายุชีวายืนยาว งบ 7.50 ล้านบาท

2.โครงการคุ้มครองสุขภาพผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียง 12.97 ล้านบาท

3.โครงการพัฒนาผู้นำทางศาสนา 3.02 ล้านบาท

4.โครงการเสริมสร้างพลังชุมชน(ผู้สูงอายุฟันดี) 3.70 ล้านบาท

เวชศาสตร์วิถีชีวิต 7.6 แสนบาท

นอกจากนี้ การขับเคลื่อนงานส่งเสริมสุขภาพยังมี “เวชศาสตร์วิถีชีวิต” 1 โครงการ เป็นเงิน 7.6 แสนบาท เน้น 6 เสาหลัก คือ กินดี ออกกำลังกายดี นอนดี ห่างไกลสิ่งเสพติด ผ่อนคลาย และมีความสัมพันธ์ที่ดี

พญ.อัมพร กล่าวเสริมว่า สำหรับการส่งเสริมสุขภาพ อย่างโครงการก้าวท้าใจ  Long Life Thai Fit ซึ่งเป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติฯ เบื้องต้นได้หารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีดำริถึงการจัดงานครั้งยิ่งใหญ่ที่กระทรวงสาธารณสุข และอาจเชิญนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน คาดว่าจะมีคนร่วมงาน 10,000 คน

 

โครงการอนามัยสิ่งแวดล้อม งบ  31.65 ล้านบ.

นพ.ธิติ แสวงธรรม รองอธิบดีกรมอนามัย รายงานว่า ในเรื่องอนามัยสิ่งแวดล้อม มี 5 โครงการรวมงบ 31.65 ล้านบาท  คือ

1.โครงการเมืองสุขภาพดี งบ 2.7 ล้านบาท  ตั้งเป้าเมืองสุขภาพดี 192 แห่ง

2.โครงการพัฒนาการเมืองท่องเที่ยวสุขภาพดี 2.9 ล้านบาท

3.โครงการเพิ่มประสิทธิภาพระบบบริหารจัดการมูลฝอยติดเชื้อ 2.05 ล้านบาท

4.โครงการเฝ้าระวังมลพิษทางอากาศ 3.87 ล้านบาท

5.โครงการพัฒนาคุณภาพน้ำบริโภคประปาหมู่บ้าน 20.12 ล้านบาท

 

ข่าวเกี่ยวข้อง : “เดชอิศม์” ชู จ.สงขลา นำร่องทวงคืนเอกราชสวล. ชงตรวจคุณภาพประปาหมู่บ้าน-เพิ่มโทษรง.ปล่อยน้ำเสีย