ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ส.ว.วีระพันธ์ ห่วง รพ.ขาดทุน ถูกหั่นงบฯผู้ป่วยในเหลือ 7,000 บาท ปชช.เสียหาย หากเป็นอย่างนี้ต่อไป โรงพยาบาลจะตรวจน้อยลง อาจวินิจฉัยโรคผิดเยอะขึ้น วอนปีหน้าของบฯสาธารณสุขเพิ่มขึ้น

จากกรณีชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป(รพศ./รพท.) นำเสนอปัญหาโรงพยาบาลขาดสภาพคล่อง จนเสี่ยงเข้าภาวะ รพ.ขาดทุน จากปัญหาสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ลดการจ่ายเงินกองทุนผู้ป่วยในลง (สปสช.คิดอัตราการจ่ายแบบDRGs หรือ ระบบการวินิจฉัยโรคร่วมและคิดเป็นค่าน้ำหนักสัมพัทธ์แบบ adjRW ตามความรุนแรงของโรคคิดเป็นแต้มหรือต่อหนึ่งหน่วย) โดยปรับลดจาก 8,350 บาทต่อหน่วย (adjRW)  เหลือเพียง 7,000 บาทต่อหน่วย 

ล่าสุด เมื่อวันที่ 9 กันยายนที่ผ่านมา นพ.วีระพันธ์ สุวรรณนามัย สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวอภิปรายร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ตอนหนึ่งว่า ในฐานะที่ตนเป็นแพทย์ ขอพูดถึงสาธารณสุข ในปีนี้เข้าใจว่า ไม่สามารถขอเพิ่มงบประมาณด้านสาธารณสุขได้แล้ว แต่ว่า ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา งบประมาณที่จ่ายค่าหัวผู้ป่วยในของแพทย์ จากเดิมที่รัฐจ่ายให้ 8,350 บาทต่อหน่วย (adjRW) ถูกตัดเหลือ 7,000 บาท และได้ข่าวว่า 1-2 เดือนที่ผ่านมาอาจเหลืออยู่ 5,000 บาท ถ้าคิดเป็นหน่วยผู้ป่วยใน 1 ราย จะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 13,000 บาท เพราะฉะนั้น โรงพยาบาลจะขาดทุนไปเรื่อย ๆ 

"จริง ๆ แล้วโรงพยาบาลไม่เจ๊งหรอกครับ เพราะโรงพยาบาลเป็นโรงพยาบาลรัฐ แต่คนที่เสียหายคือ พวกเราทุกคนจะเสียหายมาก ยกตัวอย่าง ผมเองเป็นหมอผ่าตัดสมอง เวลาผมผ่าตัดสมองคนไข้ที่มีเลือดออกในสมองสักคน  ผมทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์คนไข้ 1 ครั้ง ก่อนผ่าตัด ระหว่างที่ผ่าตัดทำเรียบร้อยดี ปิดกะโหลกเสร็จเห็นเลือดเอ่อมาเล็กน้อย มีทางที่ทำได้อยู่ 3 ทาง 1.เปิดกะโหลกเข้าไปดูใหม่ 2.ปิดไปก่อนแล้วไปเอกซเรย์ 3.สังเกตคนไข้ว่าอาการจะแย่ลงหรือไม่" นพ.วีระพันธ์ กล่าวและว่า  

ถ้างบประมาณเป็นอย่างนี้ เชื่อมั่นว่า วิธีที่ 2 การนำคนไข้ไปเอกซเรย์ซ้ำจะไม่เกิดขึ้น หมอจะดูคนไข้ก่อนจนคนไข้มีอาการที่แย่ลงจึงไปเอกซเรย์ สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นกับพวกเรา ญาติ ๆ ของเรา เครื่องมือที่ใช้ในการตรวจจะลดลง จะตรวจน้อยที่สุดเท่าที่จำเป็นจริง ๆ การวินิจฉัยโรคผิดมีเยอะขึ้น ยาฆ่าเชื้อที่มีคุณภาพสูงมีราคาแพง วันละเป็นหมื่นบาท ให้หน่วยละ 8,350 บาท ไม่มีทางพอ การนอนโรงพยาบาลยิ่งเพิ่มค่าใช้จ่ายในโรงพยาบาล แทนที่จะนอน 10 วัน ก็ตัดเหลือ 7 วัน

"เห็นไหมครับว่า ปัญหาสาธารณสุขตกอยู่กับชีวิตของพวกเรา ครอบครัวของพวกเรา สุดท้าย ปีหน้าของบประมาณสาธารณสุขเพิ่มขึ้น และเพื่อสร้างโอกาสให้คนไทย อย่างที่นายกรัฐมนตรี พูดอยู่เสมอว่า มีกิน มีใช้ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ไปพร้อม ๆ กัน" นพ.วีระพันธ์ ทิ้งท้าย
 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

- พรรคประชาชน ค้านสารพัดโครงการผลิตแพทย์ หมอครอบครัว หากไม่มีอัตรากำลัง

สส.กิตติศักดิ์ฝาก สมศักดิ์ แก้ปม รพ.ขาดทุน ชู อสม. เสาหลักของสาธารณสุข

"ครูมานิตย์" วอนงบปี 68 ขอเพิ่มค่าตอบแทน "บุคลากรทางการแพทย์"