ปลัดสธ.เผยสาธารณสุขจะยั่งยืนได้ต้องมี “คน เงิน” เพียงพอ! เติมบุคลากรในทุกสาขาวิชาชีพ ร่วมแก้ปัญหา รพ.ขาดทุน ชี้ปัญหาหนักเริ่มมีเงินไม่พอบริหารจัดการ ย่อมกระทบหลายส่วน บุคลากรจะได้รับค่าตอบแทนน้อยลง เหลือเงินบำรุงเป็นเงินสดเพียง 2 หมื่นล้านบาท เผยเป้าหมายกระทรวงสาธารณสุข
สธ.จะยั่งยืนได้ต้องมี เงิน คน เพียงพอ!
เมื่อวันที่ 12 กันยายน ที่มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล จ.นครราชสีมา นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวตอนหนึ่งในการประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ปี 2567 ถึงสถานการณ์รพ.ขาดทุน และโอกาสความยั่งยืนของสาธารณสุขไทย ว่า กระทรวงสาธารณสุข มีข้าราชการในระบบ 4-5 แสนคน ดูแลประชาชนในการบริการผู้ป่วยนอกประมาณ 1 ล้านคน ผู้ป่วยในวันละ 1 แสนคน แต่ละวันกระทรวงฯ ปฏิสัมพันธ์กับคนอย่างต่ำวันละ 2-3 ล้านคน ซึ่งไม่ห่วงเรื่องความสามารถ แต่สิ่งที่องค์กรขนาดใหญ่ต้องดำเนินการคือ ความยั่งยืน เราจะดีใจว่าระบบสาธารณสุข เราดีไม่ได้ ดีใจว่าคนต่างชาติคนในประเทศชื่นชมอย่างเดียวคงไม่ได้ ความยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้อย่างไร จึงต้องไปดูว่ามีจุดไหนพัฒนาได้ ความยั่งยืนจะเกิดอย่างไร คือ เป้าหมายสามารถทำได้สำเร็จ ภายใต้ทรัพยากรเพียงพอ มีการพัฒนาต่อยอด ปรับตัวกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง ยกตัวอย่าง ดิจิทัล แต่ยังมีจุดที่เป็นปัญหา และต้องการสนับสนุน คือ ทรัพยากรให้เพียงพอ อย่างบุคลากร หมองานหนักเกินไปหรือไม่ พยาบาลพอหรือไม่ แม้ไม่ขาดมากเหมือนอดีต แต่ก็ไม่เพียงพอ ดังนั้น หากเติมบุคลากรในทุกสาขาวิชาชีพก็จะช่วยให้ระบบสาธารณสุขยกระดับได้อีกระดับ และอีกอย่างคือ เงิน
รพ.ขาดทุน ปัญหาหนักเริ่มมีเงินไม่พอบริหารจัดการ
“เงิน จากปัญหารพ.ขาดสภาพคล่องทางการเงิน อย่างเมื่อก่อนเรียกว่า รพ.วิกฤติการเงินระดับ 7 อย่างสมัยนพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ และนพ.โสภณ เมฆธน เป็นปลัดสธ. มีเรื่องนี้และเชิญ CFO มาหารือทางการเงิน คนอาจไม่สนใจ และพอเปลี่ยนเป็นรพ.ขาดทุน คนสนใจ หลายคนคิดว่า ทำไมรพ.ต้องคิดกำไร ขาดทุน จริงๆ เราไม่ได้คิด แต่รพ.ขาดทุน ก็เพราะว่า เริ่มจะมีเงินไม่เพียงพอในการบริหารจัดการ ท่านผู้อำนวยการรพ.จะทราบปัญหา เพราะหากงบไม่พอ สิ่งที่ตามมาคืออะไร บุคลากรก็จะได้รับค่าตอบแทนน้อยลง” นพ.โอภาส กล่าว
เหลือเงินบำรุงเป็นเงินสดเพียง 2 หมื่นล้านบาท
ปลัดสธ. กล่าวอีกว่า บางคนมองว่าเงินบำรุงเอาไปเยอะๆทำไม ต้องบอกว่า รพ.เรามีพันกว่าแห่ง มีค่าที่ต้องบริหารจัดการ ทั้งค่าตอบแทน ค่ายา ค่าน้ำค่าไฟ ค่าซ่อมแซมต่างๆ ต้องใช้เงินหมด เราใช้เงินสำหรับการจัดการปรับปรุงซ่อมแซมประมาณ 1 หมื่นล้านบาท เดิมเราไม่ค่อยคำนวณมาบอกใคร และการบริหารในองค์กร อย่างเงินสดสำรองต้องมีอย่างต่ำ 3-6 เดือน ซึ่งตัวเลขที่องค์กรขนาดใหญ่ใช้กันคือ 6 เดือน แสดงว่าต้องมีเงินอย่างต่ำ 6 หมื่นล้านบาท ถามว่ากระทรวงฯมีเท่าไหร่ เดิมไม่มีใครบอกได้ เพราะรพ.ต่างคนต่างทำ แต่เมื่อมีระบบ Financial Data Hub ทำให้ทราบว่า ขณะนี้มีเงินบำรุงอยู่ 4 หมื่นล้านบาท แต่ในนั้นกลายเป็นเงินสดเพียง 2 หมื่นล้านบาท อีก 2 หมื่นล้านบาทเป็นตัวเลขทางบัญชี อย่างหนี้สินระหว่างกัน สรุปว่ามีเหลือ 2 หมื่นล้านบาท
นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า จะทำอย่างไรให้ระบบสาธารณสุขเข้มแข็ง หากเราสามารถจัดการเรื่องบุคลากร ทรัพยากรอย่างเพียงพอ เราก็จะเจอปัญหา อย่างงบลงทุน แต่ละเขตสุขภาพได้ 500 ล้านบาท บางคนบอกเยอะ แต่จริงๆ ไม่เยอะ จำนวนนี้สร้างตึกไม่ได้ แต่ยังมีรายจ่ายครุภัณฑ์ต่างๆ อย่างรพ.อุ้มผาง ก็มีค่าซ่อมแซมมากมาย และส่วนใหญ่รักษาคนที่เราไม่สามารถเบิกเงินได้ งบบัตรทองไม่ให้เพราะไม่ใช่คนไทย ดังนั้น ความยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้คือ เงินพอ คนพอ และ process เพียงพอ โดยการปรับโครงสร้างการบริหารงานสาธารณสุขให้เหมาะสมด้วย
เล็งปรับโครงสร้างสสจ. เขตสุขภาพ มอบอำนาจผู้ตรวจฯ
นอกจากนี้ ที่ต้องชื่นชมคือ สาธารณสุขมีระบบการบริการเขตสุขภาพ ที่เรียกว่า Service Plan เป็นการบริหารกลุ่มพื้นที่ กระจายอำนาจจากส่วนกลางไปส่วนภูมิภาค ตรงนี้ช่วยในการบูรณาการจัดการทรัพยากรได้ และในอนาคตปี 2568 สธ.จะปรับโครงสร้าง ซึ่งไม่ง่าย แต่จะทำมีการนำร่องในอนาคต โดยการปรับโครงสร้างนั้น ในส่วนของเขตสุขภาพ มีผู้ตรวจราชการกระทรวง เหมือนเป็นปลัดอยู่ในเขตนั้น สามารถบูรณาการ เรื่องคน เรื่องเครือข่ายทำงานร่วมกัน ทำให้เกิดความเข้มแข็ง ต่อไปจะปรับเขตสุขภาพให้คล้ายๆกรม คล้ายๆผู้ตรวจขยับเป็นอธิบดี ซึ่งจริงๆตอนนี้ก็บริหารสูงอยู่แล้ว โดยจะทำยังไงให้ส่วนกลางอำนาจลดลง ไปเพิ่มความเข็มแข็งในส่วนภูมิภาค เป็นการบริหารทรัพยากรให้พวกเขา แต่ละบริบทแตกต่างกันไป เหนือ ใต้ อีสานก็จะแตกต่างกันไป ทั้งหมดจะทำประโยชน์แก่ประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น มากกว่ามารวมศูนย์ที่ส่วนกลาง
“สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดก็จะมีการปรับโครงสร้างเช่นเดียวกัน แต่ขอไม่พูดรายละเอียด จะมีทีมไปดำเนินการ ทั้งหมดไม่ได้ทำเร็วเพราะเป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งต้องมีพื้นที่นำร่องในปีหน้า ส่วนสถานที่ไหนจะมีการเปิดเผยอีกครั้ง” นพ.โอภาส กล่าว
เป้าหมายระบบสาธารณสุข
นอกจากนี้ เรื่องสำคัญอีกเรื่องคือ เป้าหมายของระบบสาธารณสุข คืออะไร เดิม เป้าหมายเราคือการดูแลประชาชนในประเทศ จัดเป็นประเทศกำลังพัฒนา ปัจจุบันเป็นประเทศที่มีรายได้ระดับกลางถึงระดับสูง แต่ยังไม่สามารถไต่เป็นประเทศร่ำรวยได้ อย่างไรก็ตาม ระบบสาธารณสุขเดิมตอบสนองความต้องการประชาชน จึงมีการขยายสร้างรพ.ระดับตั้งๆ ทั้งรพ.จังหวัด รพ.อำเภอ รพ.สต. และมีอสม.ในการดูแลประชาชนทั่วประเทศ ซึ่งระบบสาธารณสุขสามารถ ตอบสนองการให้บริการพื้นฐานได้อย่างดี ทั้งปริมาณ และคุณภาพ
“ถ้าพัฒนาระบบสาธารณสุขไปอีกขั้น นอกจากเรื่องของทรัพยากรที่เพียงพอ เป้าหมายต้องเปลี่ยนไปด้วย ถึงเวลาแล้วที่จะต้องปรับเป้าหมายของกระทรวงสาธารณสุข เพิ่มยกระดับการบริการให้ประชาชนในประเทศ และเพิ่มศักยภาพในเชิงเศรษฐกิจ ดึงเม็ดเงินจากต่างประเทศ โดยปัจจุบันหลายประเทศ อยากส่งคนมารักษาในประเทศไทย เพราะเชื่อในศักยภาพ คุณภาพ และราคา เป็นครั้งแรกที่มียุทธศาสตร์กำลังคนด้านสุขภาพของประเทศ ที่มีนพ.ภูวเดช สุระโคตร ผู้ตรวจเขตสุขภาพที่ 9 เป็นแม่งาน ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีแผนกำลังคนด้านสุขภาพ สอดรับนโยบายรัฐบาล”นพ.โอภาสกล่าว
- 8264 views