ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผู้ช่วย รมต.ประจำ สธ.ลุยตรวจสอบมาตรฐาน ‘คลินิกบัตรทอง’ กทม. หลังผู้ป่วยร้องปมใบส่งตัว เบื้องต้นผิดเรื่องปรับปรุงสถานที่โดยไม่แจ้งให้ทราบ พร้อมกำชับการไม่ออกใบส่งตัว ทั้งที่จำเป็นมีผลต่อผู้ป่วย เป็นความผิดตามกฏหมาย เผยการบริการเป็นสิ่งสำคัญถ้าที่ใดไม่พร้อมก็บอกเลิกสัญญากับ สปสช. ทยอยเดินหน้าตรวจสอบอีก 100 กว่าแห่ง

ตามที่กลุ่มผู้ป่วยบัตรทอง จำนวนหนึ่งได้ยื่นหนังสือถึง กระทรวงสาธารณสุข เพื่อร้องเรียน “คลินิกบัตรทอง” ใน กทม.แห่งหนึ่งกรณีมาตรฐานและปมปัญหาใบส่งตัวนั้น  (อ่านข่าวเพิ่มเติม: ผู้ป่วยคลินิกบัตรทอง กทม. แนบ 361 รายชื่อร้อง "สมศักดิ์" ช่วยเหลือหลังรับผลกระทบปมใบส่งตัว(คลิป)

ล่าสุดเมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 2567 นายกองตรี ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์  ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข พร้อมกับ พญ.ลลิตยา กองคำ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และ นายชาตรี พินใย นิติกรชำนาญการพิเศษกองกฎหมาย ตัวแทนกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบคลินิกใน กทม. บางแห่งแล้ว 

นายกองตรี ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์  ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะกำกับดูแลศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า เนื่องจากได้รับการร้องเรียนจากผู้ที่เข้ารับการรักษาตามคลินิกปฐมภูมิ เรื่องการออกเอกสารใบส่งตัวไปยังโรงพยาบาลโดยที่ไม่ได้รับความสะดวก จึงมีความจำเป็นต้องสอบถามไปยัง สปสช. ซึ่งได้รับการร้องเรียนประเด็นดังกล่าวด้วยเช่นกัน ฉะนั้นคิดว่าการบริการสาธารณสุขเป็นเรื่องสำคัญ พี่น้องประชาชนเมื่อเจ็บไข้ได้ป่วยก็อยากได้รับการรักษาที่รวดเร็ว  

ตนจึงได้เรียนท่านรัฐมนตรีและปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมทั้งได้ส่งผู้อำนวยการกองกฎหมาย กรมสนับสนุนบริการบริการสุขภาพ (สบส.) และ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อทำความเข้าใจเบื้องต้นก่อนว่า จากนี้ต่อไปอยากให้คลินิกเร่งรัดในการส่งตัวผู้ป่วย ถ้าหากผู้ป่วยไม่ประสงค์ที่จะรักษาในคลินิก เพราะด้วยอาการจำเป็นต้องส่งตัวก็อยากให้ดำเนินการส่งตัว ถ้าหากไม่ทำเรื่องนี้มีการร้องเรียนซ้ำเข้ามาอีก เราจะมีมาตรการจากเบาไปหาหนัก โดยมีมาตรการทางกฎหมาย  

“ไม่ได้หมายความว่าวันนี้มาแล้วจะไม่มีการตรวจสอบอะไร เพราะผู้อำนวยการทางกองกฎหมาย ท่านชาตรี พินใย ก็มีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการดำเนินคดีในส่วนหนึ่ง เช่น เรื่องการปรับปรุงสถานที่โดยไม่แจ้งให้ทราบก่อน  วันนี้ก็ต้องนำตัวไปปรับ เพราะมีเรื่องของโทษปรับ" ผู้ช่วยรมต.ประจำ สธ. กล่าว

อย่างไรก็ตาม ต้องฝากเตือนว่าการที่ไม่ออกใบส่งตัวผู้ป่วยทั้งที่จำเป็น เป็นความผิดตามกฏหมายและมีโทษจำคุก 2 ปีปรับ 50,000 บาท ต้องฝากคลินิกที่อยู่ในระบบว่าหากท่านมีความประสงค์ที่จะทำงานร่วมกันกับ สปสช. หรือ กระทรวงสาธารณสุข ก็ควรที่จะต้องตระหนักในเรื่องของการบริการเป็นสิ่งสำคัญ ต้องคำนึงถึงสภาพร่างกายของพี่น้องประชาชนเป็นหลัก ดังนั้น ถ้าที่ใดไม่พร้อมก็แจ้งความประสงค์ในการที่จะบอกเลิกสัญญาที่จะให้บริการในลักษณะดังกล่าวได้ 

ทั้งนี้อีกประมาณ 100 กว่าแห่ง เราจะดำเนินการในเรื่องของการตรวจสอบลักษณะอย่างนี้ต่อไปอีก เพราะถ้าพบว่าที่ไหนที่ให้บริการลักษณะดังกล่าว แล้วทำให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชนที่นั่นต้องรับผิดชอบ

เมื่อถามว่ามีเรื่องของผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่  นายกองตรี ธนกฤต กล่าวว่า อย่าไปมองไกลขนาดนั้นเลย มองเป็นเรื่องของแต่ละคนก็คงมีเหตุผล คุณหมอเขาเก่งอยู่แล้วเขาคงพิจารณาได้ ก็ให้พิจารณาว่าเอาสิ่งที่ควรจะเป็น ให้คํานึงถึงผู้ป่วยเป็นหลักทุกอย่างมันจะเรียบร้อย 

เมื่อถามว่าจากที่เข้ามาตรวจสอบโดยสรุปแล้วจะต้องดําเนินการอะไรบ้าง นายกองตรี ธนกฤต กล่าวว่า  ต้องสร้างความเข้าใจให้กับคุณหมอ ซึ่งเข้าใจแล้วว่าจากนี้ไปคุณหมอจะพยายามส่งตัวผู้ป่วย ส่วนในกรณีที่เป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสถานพยาบาลผิดตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล ก็ต้องดําเนินคดีในเรื่องของการนําไปปรับ โดยมีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท วันนี้ก็จะมีข้อหานี้ที่อาจจะต้องมีการดําเนินคดีไป ส่วนเรื่องไม่ส่งตัวตอนนี้ก็ยังอยู่ในระหว่างพิจารณา แต่เบื้องต้นวันนี้ต้องมาทําความเข้าใจก่อน เพราะกว่าจะพิจารณาเอกสารเสร็จ คนป่วยจะมีปัญหามากขึ้น

ด้านพญ.ลลิตยา กองคำ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ในช่วงมีนาคมที่ผ่านมามีการปรับวิธีการจัดสรรงบประมาณซึ่งเป็นข้อเสนอต่อทางคลินิกเอง แต่ว่าภายหลังจากการปรับจะมีข้อร้องเรียนที่ประชาชนแจ้งไปที่สปสช. คือความไม่สะดวกในการรับใบส่งตัวจึงได้รับเรื่องตรงนี้มา โดยพระราชบัญญัติสถานพยาบาลก็จะอยู่ที่กองกฎหมายของทางกระทรวงจะต้องดูแลจึงเป็นการทํางานร่วมกัน 

สำหรับการเปลี่ยนการจัดสรรงบประมาณ คือ จากเดิมคลินิกถ้ารักษาก็จะเรียกมาตามราคาที่เรากําหนดเป็นรายการเรียกเก็บ แต่เมื่อเจอปัญหาช่วงที่ผ่านมาก่อนที่จะปรับเปลี่ยน ก็คือมีการส่งตัวค่อนข้างเยอะ ทําให้เงินที่ทางโรงพยาบาลรับส่งต่อหรือเรียกเก็บมาเป็นจํานวนมากแล้วก็ทําให้คลินิกได้รับงบประมาณลดลง คลินิกจึงขอเป็นว่าให้งบประมาณทั้งหมดมาอยู่ที่คลินิกและจะเป็นผู้พิจารณาส่งผู้ป่วยตามความเหมาะสม  พอปรับตรงนี้ก็เกิดประเด็นขึ้นมาว่า ความเหมาะสมก็เป็นประเด็นเพราะว่าบางครั้งก่อนหน้านั้นคนไข้เคยไปโรงพยาบาลด้วยความสะดวกก็จะเกิดความไม่สะดวกในการส่งตัว จึงเป็นประเด็นของที่ไปที่มาในการร้องเรียนเข้ามา

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง