ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“สมศักดิ์” ปลื้มผลโพลพบชาวบ้านพอใจใช้สิทธิบัตรทอง ร้อยละ 93 ส่วนร้อยละ 75.80 ใช้สิทธิโดยไม่เสียค่าบริการเพิ่มเติม  ขณะที่ร้อยละ 71.31 รู้ข้อมูลเจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาที่ไหนก็ได้ 

เมื่อวันที่ 8 ต.ค. 67 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เปิดเผยว่า ในการประชุมบอร์ด สปสช.เมื่อวันที่ 7 ต.ค. ที่ผ่านมา ที่ประชุมได้รับทราบผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ต่อการดำเนินงานในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทองของปี 2567 จาก 10,156 ตัวอย่าง อายุ 15 ปีขึ้นไป และมีสิทธิบัตรทอง ใน 39 จังหวัด กระจายตามพื้นที่ทั้ง 13 เขตสุขภาพ เป็นเพศหญิงร้อยละ 56.97 และมีอายุเฉลี่ยที่ 51 ปี ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร และมีรายได้เฉลี่ยครัวเรือนที่ จำนวน 13,502 บาทต่อเดือน

โดยเมื่อสอบถามถึงความพึงพอใจของผู้ใช้สิทธิในรอบ 6 เดือน พบว่า คะแนนความพึงพอใจต่อภาพรวมการดำเนินงานอยู่ที่ร้อยละ 93.13 รองลงมาเป็นบริการกรณีเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 กลุ่มอาการที่ร้านยา ร้อยละ 88.9 บริการที่คลินิกเอกชน ร้อยละ 88.88 บริการผู้ป่วยมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ ร้อยละ 88.02 บริการกรณีจำเป็นต้องเข้ารับบริการที่ไม่ใช่หน่วยบริการตามสิทธิ ร้อยละ 87.39 และบริการสาธารณสุขทางไกล ร้อยละ 85.28 

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับประเด็น ที่ได้ทำการสำรวจความคิดเห็น มีดังนี้ ช่องทางบริการข้อมูลที่รับรู้และต้องการรับรู้ พบว่าประชาชนส่วนใหญ่รับรู้ช่องทางบริการข้อมูลเฉลี่ย 4 ช่องทาง ศูนย์บริการในหน่วยบริการเป็นช่องทางที่รับรู้มากที่สุดและเคยใช้ อยู่ที่ร้อยละ 27.58 ส่วน TikTok เป็นช่องทางรับรู้ข้อมูลและเคยใช้น้อยที่สุด ร้อยละ 2.58 ซึ่งข้อมูลที่ประชาชนรับรู้สูงสุด 3 อันดับแรก คือ เจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาที่ไหนก็ได้ใกล้บ้าน ร้อยละ 71.31 รองลงมานโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ร้อยละ 69.11 และกรณีจำเป็นเข้ารับบริการที่หน่วยบริการปฐมภูมิอื่น ร้อยละ 63.31  ส่วนที่การรับรู้ที่ยังต่ำกว่าร้อยละ 50 มี 3 อันดับ คือ มีสิทธิรับบริการสาธารณสุขทางไกล ร้อยละ 25.54 มีช่องทางแจ้งเรื่องร้องทุกข์ ร้อยละ 26.75 และสามารถยื่นคำร้องรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีได้รับความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ร้อยละ 29.53

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า เมื่อสอบถามประเด็นการรับบริการสาธารณสุขในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา พบว่าประชาชน ร้อยละ 49.70 เคยรับบริการ โดยรับบริการที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) มากที่สุด ร้อยละ 33.05 โรงพยาบาลชุมชน ร้อยละ 25.84 และโรงพยาบาลทั่วไป ร้อยละ 23.81 โดยเป็นการรับบริการผู้ป่วยนอก ร้อยละ 76.12 บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ร้อยละ 14.56 และบริการผู้ป่วยใน ร้อยละ 5.27

อย่างไรก็ดีมีประชาชนที่รับบริการโดยไม่ใช้สิทธิ ร้อยละ 1.54 ให้เหตุผลว่าขั้นตอนการใช้สิทธิยุ่งยาก ร้อยละ 31.20 ไม่สะดวกเดินทางไปยังหน่วยบริการที่มีสิทธิ ร้อยละ 17.74 และพฤติกรรมบริการของบุคลากรทางการแพทย์ร้อยละ 17.09  ประเด็นค่าใช้จ่ายในการับบริการเมื่อใช้สิทธิพบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 75.80 ระบุว่าไม่มีค่าใช้จ่าย รองลงมาจ่าย 30 บาท ร้อยละ 16.54 จำไม่ได้ ร้อยละ 4.97 และมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ร้อยละ 2.69  ทั้งนี้กรณีถูกเรียกเก็บ อาทิ ค่าเข้ารับบริการ ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ อุปกรณ์ทางการแพทย์ ค่าตรวจทางห้องปฏิบัติการ และค่าใช้จ่ายอื่น เช่น ค่าบำรุงโรงพยาบาล ค่าห้องพิเศษ เป็นต้น 

“สปสช.ได้ดำเนินการเพื่อสำรวจความคิดเห็น มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำมาสู่การบริหารจัดการระบบ อย่างรอบด้านให้ดียิ่งขึ้น ในปีนี้ สปสช. ดำเนินการร่วมกับทีมวิจัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ในการสำรวจความคิดเห็น เมื่อรับทราบผลแล้ว จะมอบให้ส่วนงานที่เกี่ยวข้องนำไปวิเคราะห์เพิ่มเติม เพื่อนำไปดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป โดยเฉพาะในส่วนที่ยังไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายของนโยบาย ในการดูแลสิทธิและบริการในระบบบัตรทองให้กับคนไทย”นายสมศักดิ์ กล่าว