ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.- สธ. เป็นตัวแทนประเทศไทยเสนอผลงาน “30 บาทรักษาทุกที่” พร้อมแลกเปลี่ยนในเวทีประชุมนานาชาติที่ประเทศอินโดนีเซีย พบจุดเด่นการดูแลสุขภาพอินโดนีเซีย คือ การสมทบงบประมาณร่วมกัน 3 ส่วน ได้แก่ รัฐบาล ท้องถิ่น และภาคเอกชนในประเทศ

เมื่อวันที่ 6 ก.ย. ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 27 - 29 ส.ค. 2567 ที่ผ่านมา ภญ.สรัญญา สุนันต๊ะ ผู้จัดการกลุ่มภารกิจ สปสช.เขต 1 เชียงใหม่ และนางกนิษฐา ศรีวงษา ผู้เชี่ยวชาญ ฝ่ายสนับสนุนการเข้าถึงบริการปฐมภูมิและการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค ร่วมกับ ผู้แทนจากกระทรวงสาธารณสุข เข้าร่วมการประชุม Regional workshop on innovations for quality integrated PHC ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 160 คนจากนานาประเทศ

ทั้งนี้ การประชุมดังกล่าว เป็นการประชุมที่มุ่งเน้นเพื่อแลกเปลี่ยนและแบ่งปันความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินงานที่ดี เพื่อนำมาใช้เสริมสร้างการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐานแบบบูรณาการที่มีคุณภาพในภูมิภาค ซึ่งมีกิจกรรมการนำเสนอ e- poster การดำเนินการโครงการแบบนวัตกรรมร่วมกันเพื่อเสริมสร้างการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐานแบบบูรณาการที่มีคุณภาพ รวมถึงโครงการนำร่องระดับรองในภูมิภาค ตลอดจนสะท้อนถึงการเรียนรู้จากความพยายามก่อนหน้านี้ที่ไม่ประสบความสำเร็จ สร้างโอกาสสำหรับการทำงานร่วมกัน รวมถึงการขยายนวัตกรรมภายในและข้ามประเทศ 

ทพ.อรรถพร กล่าวต่อว่า ในส่วนของประเทศไทยได้นำเสนอการดำเนินการร่วมกันของกระทรวงสาธารณสุข และ สปสช. ใน 2 เรื่อง คือ 1. Lessons Learned from Thailand's Implementation of the "30-Baht Treatment Anywhere with a Single ID Card” initiative (บทเรียนจากโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ ของประเทศไทย) ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินการเรื่องนโยบายยกระดับ 30 บาท ของประเทศไทย และ 2. Evolution of Monitoring and Incentivizing Performance Quality & Outcomes, Thailand (วิวัฒนาการของการติดตามและจูงใจให้เกิดประสิทธิภาพ คุณภาพ และผลลัพธ์ ประเทศไทย) การดำเนินการโดยการใช้หลักการ P4P (Pay for Performance) เพื่อเพิ่มเงินงบประมาณกับหน่วยบริการที่ดำเนินการได้ดีและผ่านเกณฑ์ที่กำหนดในการดำเนินการตามตัวชี้วัดที่กำหนดเพื่อให้เกิดการเข้าถึงบริการอย่างมีคุณภาพ

นอกจากนี้ คณะตัวแทนของไทยยังได้เข้าร่วมเรียนรู้นวัตกรรมที่ดำเนินการในอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการบูรณาการการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐานระดับชาติ มีจุดเด่น คือกองทุนสุขภาพที่เป็นการสมทบงบประมาณร่วมกันระหว่าง 3 ส่วนหลักๆ คือ งบประมาณจากรัฐบาล, งบประมาณจากท้องถิ่น และงบประมาณสมทบจากภาคเอกชนในประเทศ โดยกำหนดรูปแบบการดำเนินการ Guideline ในการดูแลการดำเนินการเสริมสร้างการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐานแบบบูรณาการที่มีคุณภาพ

“การประชุมครั้งนี้ ได้เกิดประโยชน์อย่างมากในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันระหว่างประเทศและเกิดการต่อยอดการดำเนินการแบบบูรณาการด้านนวัตกรรม เพื่อให้เกิดการดำเนินการอย่างมีคุณภาพ ซึ่งสามารถกลับมาพัฒนานโยบายในประเทศต่อไป” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว